xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนต่างประเทศ...ของหวานที่ควรรู้ก่อนกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนเคยไปต่างประเทศหลายหน ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกันออกไป มีบ้างท่านต้องการท่องเที่ยว และบางคนต้องการหาลู่ทางการลงทุน หรือใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งแต่ละชีวิตมักจะมีวิถีทางของตัวมันเองเสมอ

ส่วนการจะบรรลุเป้าหมายของความต้องการหรือไม่คงขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะมีความพร้อมในเรื่องนั้นๆ แค่ไหน ซึ่งหากเป็นการท่องเที่ยวแน่นอนว่าเราจะต้องเลือกสถานที่ และเตรียมข้อมูลการเดินทางให้พร้อมก่อนถึงจะทำให้ทริปนั้นๆ ตรงตามจุดประสงค์ของเรามากที่สุด

หากเปรียบการท่องเที่ยวกับการลงทุน นักลงทุนเองควรที่จะเตรียมความพร้อมก่อนจะออกไปลงทุนต่างประเทศเช่นเดียวกันกับการท่องเที่ยว และเหมือนกันเข้าไปอีกหากมองในแง่การซื้อทัวร์ และการลงทุนผ่านกองทุนร่วม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแล และให้คำปรึกษาแก่เรา
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
แต่อย่าได้ใจไป....เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวแทนที่เรามองไว้จะดีหรือว่าเหมาะสมกับความต้องการของเราหรือไม่ หากปราศจากพื้นฐานที่ควรรู้ไว้ประกอบการตัดสินใจเสียก่อนจะเลือก วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด ได้ให้ความเห็นผ่านหัวข้อ”รู้ไว้...ก่อนลงทุนในต่างประเทศ”ว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เปิดให้ผู้ลงทุนสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ลงทุนจะได้กระจายเงินลงทุนไปยังหลักทรัพย์ประเภทใหม่ๆ

แต่...การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ข้อมูลที่ควรทราบก่อนไปลงทุนในต่างประเทศมีอะไรบ้าง.. เดี๋ยวเราจะมาดูกัน

ก่อนอื่น ต้องทราบรูปแบบของการลงทุนก่อน ตอนนี้คุณสามารถลงทุนได้ 3 รูปแบบ คือ

1. ลงทุนโดยตรง คือเลือกซื้อหุ้น หรือกองทุนโดยตรง โดยผ่านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศ

2. ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล โดยมีผู้จัดการกองทุนดูแลให้ แต่หลักทรัพย์หรือตราสารจะยังเป็นชื่อของคุณอยู่ และ

3. ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เรียกกันย่อๆว่า เอฟไอเอฟ(FIF) โดยจะลงทุนร่วมกับผู้ลงทุนอื่นๆที่ต้องการลงทุนเหมือนๆกัน

เมื่อรู้ช่องทางของการลงทุนแล้ว สิ่งที่นักลงทุนควรคำนึงถัดจากนึ้คือ ความเสี่ยง และการไปลงทุนในต่างประเทศก็มีความเสี่ยงของการลงทุนคล้ายๆกับลงทุนในประเทศคือ ถ้าเป็นตราสารหนี้หรือพันธบัตรก็มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย หรือของราคา ความเสี่ยงจากการที่ผู้ออกตราสารมีโอกาสผิดนัด ความเสี่ยงจากความไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย เป็นต้น และถ้าเป็นหุ้นก็มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรมนั้นๆ ความเสี่ยงของธุรกิจ และความเสี่ยงของราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การลงทุนในต่างประเทศ โดยทั่วไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มอีก 2 ประเภท คือ ความเสี่ยงจากการเมือง และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ความเสี่ยงทางการเมือง เช่น หากรัฐบาลของประเทศที่เราไปลงทุนเกิดมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย เช่น เพิ่มอัตราภาษีสำหรับผู้ลงทุนต่างชาติ หรือในบางประเทศ เช่น โบลิเวีย ก็เคยเกิดขึ้น คือ รัฐยึดเอาธุรกิจของเอกชนมาเป็นของรัฐ (แต่ก็จ่ายเงินซื้อนะคะ)

ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เกิดจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลง หากค่าของสกุลเงินที่ไปลงทุนแข็งขึ้น เวลาคุณนำเงินลงทุนกลับคืนมา ก็จะแลกเงินบาทได้มากขึ้น หากค่าของสกุลเงินที่ไปลงทุนอ่อนลง เวลาแลกกลับมาเป็นเงินบาท ก็จะแลกได้น้อยลง กำไรที่ควรจะได้ก็อาจจะหดหายไปบ้าง เช่นที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

เมื่อมีความเสี่ยง เราก็ต้องจัดการกับความเสี่ยงค่ะ ผู้ลงทุนมีวิธีเลือก 3 อย่าง คือ ยอมรับความเสี่ยงนั้น ถ่ายโอนความเสี่ยง หรือลดความเสี่ยง

การถ่ายโอนความเสี่ยง อาจจะเป็นการเข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นว่า หากเกิดความเสี่ยงขึ้น เขาจะรับไปแทน โดยเราจ่ายเงินให้เขาเป็นการตอบแทนที่เขายอมรับความเสี่ยงแทนเรา
การลดความเสี่ยง อาจทำได้โดยการกระจายการลงทุนไม่ให้กระจุกอยู่ในหลักทรัพย์หรือตราสารตัวใดตัวหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง และในบางกรณีอาจสามารถทำประกันความเสี่ยงได้ด้วย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็จะได้รับการชดเชยมาบางส่วนหรือทั้งหมด

มีผู้ลงทุนสอบถามมามากมายว่าเราควรจะต้องป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่?

ต้องบอกก่อนว่า ดิฉันมักจะตอบกว้างๆว่า หากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับไม่สูง เช่นในกรณีที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตร และค่าป้องกันหรือถ่ายโอนความเสี่ยงไม่แพง แนะนำให้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ แต่หากเป็นการลงทุนที่มีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังสูง เช่นการลงทุนในหุ้นทุน หรือในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงสูงจนแทบจะทำให้ผลตอบแทนหายไปหมด ผู้ลงทุนอาจจะอยาก“ลุ้น” เพราะความเสี่ยงหมายถึงความผันผวน อาจจะผันผวนในทางบวกซึ่งทำให้เราได้ผลตอบแทนมากขึ้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องป้องกัน
เวลาพิจารณาเรื่องนี้อยากให้ชั่งน้ำหนักระหว่าง “ต้นทุน” และ “ประโยชน์” ค่ะ

ลงทุนต่างประเทศดีหรือไม่? ควรจะลงทุนเป็นสัดส่วนเท่าใด?

ดิฉันมองการลงทุนในประเทศเป็นอาหารคาว และการลงทุนในต่างประเทศเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย หรือเป็นของหวาน เราอยู่ในประเทศไหนก็ควรจะลงทุนในประเทศนั้นเป็นหลักค่ะ เพราะฉะนั้น ไม่แนะนำให้ลงทุนในต่างประเทศเกินกว่า 25% ของเงินลงทุนที่มี เว้นแต่ว่าคุณเตรียมตัวจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ
หากจะเริ่มลงทุนในต่างประเทศ อาจจะเริ่มค้นประมาณ 5-10% ของพอร์ตการลงทุน และเมื่อมีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว อาจเพิ่มสัดส่วนได้ตามความต้องการ

การลงทุนในต่างประเทศเสี่ยงกว่าการลงทุนในประเทศหรือไม่?

คำตอบคือไม่ค่ะ แม้ว่าประเภทของความเสี่ยงจะมากกว่าถึง 2 ประเภท แต่จากการศีกษาพบว่า การกระจายพอร์ตการลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศด้วย จะช่วยให้ความเสี่ยงลดลง คือ ณ ผลตอบแทนที่เท่ากัน พอร์ตมีการลงทุนในต่างประเทศด้วยจะมีความผันผวนโดยรวมน้อยกว่าพอร์ตที่มีเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง และหากมีความผันผวนเท่ากัน พบว่าพอร์ตที่มีการลงทุนในต่างประเทศด้วยให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว

สำหรับในระยะสั้น หากดูแนวโน้มว่าการลงทุนที่ไหนดี ก็ต้องให้น้ำหนักการลงทุนในจุดนั้นมากขึ้นค่ะ เช่นในปีที่แล้ว การลงทุนในหุ้นไทยมีแนวโน้มดีกว่าหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะดีกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจึงโยกเงินมาลงทุนในหุ้นไทย เป็นต้น

สรุปแล้วสิ่งที่มักย้ำกันเสมอคือ เรื่องของการลงทุนกับความเสี่ยง และการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง ซึ่งข้อมูลพื้นฐานข้างต้นน่าจะใช้ประกอบการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี และต้องขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ ที่คุณวิวรรณ มอบให้ และหวังว่าคงจะได้เจอกันอีกเมื่อมีโอกาสในครั้งต่อๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น