xs
xsm
sm
md
lg

“นรนิติ” มึน พปช.หั่นอายุองค์กรอิสระ-แนะ ปชช.เข้าชื่อ 5 หมื่นเสนอร่างประกบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานส.ส.ร.
อดีตประธาน ส.ส.ร.มึน “พลังแม้ว” หั่นอายุองค์กรอิสระ โยนถาม “สมคิด” ชี้แก้รัฐธรรมนูญควรถามประชาชน แนะประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นเสนอร่างประกบ ขณะที่ “บวรศักดิ์” ลั่นฉบับปี 50 ไม่ได้เลวทั้งหมด

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธาน ส.ส.ร.ได้เป็นประธานการประชุมสภาพัฒนาการเมืองครั้งที่ 5/2551 ที่ห้องหลานหลวง โรงแรมรอยัลปริ๊นเซสหลาน เพื่อผลักดันสภาพัฒนาการเมืองให้เป็นการเมืองภาคพลเมืองที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงให้เป็นรูปธรรมตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 และพ.ร.บ.องค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ทั้งนี้ทั้ง 2 พ.ร.บ.เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่กำลังจะมีการแก้ไข

นายนรนิติ กล่าวว่า ตอนนี้ตนไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะต้องตอบจึงขอโทษด้วย ทั้งนี้ เรื่องรัฐธรรมนูญตนตั้งแต่วันที่จูงใจให้ประชาชนพิจารณาจนถึงวันลงประชามติแล้วว่ารัฐธรรมนูญร่างในระยะเวลาที่คับขัน จำกัด และร่างเพื่อให้การเมืองเดินไปสู่ภาวะปกติ เพราะฉะนั้น มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ดังนั้นการแก้ก็ควรเป็นไปตามกติกาตามรัฐธรรมนูญว่าแก้ด้วยเหตุผลใด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ผู้แก้ต้องชี้แจงต่อประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นของตน แต่เป็นของประชาชนเนื่องจากการลงประชามติ

ส่วนกรณีที่จะเป็นการแก้เพื่อหนีคดียุบพรรคนั้น นายนรนิติ กล่าวว่า ประเด็นนี้เลยผ่านมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้อยู่ ส่วนเรื่องเงื่อนระยะเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีข้อกำหนดระยะเวลา แต่ต้องมีการพิจารณาดำเนินการแต่ต้องตอบให้ได้ว่าแก้เพราะอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ฝ่ายการเมืองชอบอ้างมีความชอบธรรมพอหรือไม่ นายนรนิติ กล่าวว่า “ชอบทำ เขียนด้วยสระอำใช่ไหม” เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองมักจะอ้างว่าเขามาจากการเลือกตั้งแล้วสามารถแก้ได้ แล้วอย่างนี้จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร นายนรนิติ กล่าวว่า ประชาชน 5 หมื่นคนเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขได้

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายก็ห่วงว่าจะเกิดวิกฤต นายนรนิติ กล่าวว่า จริงๆ ก็น่าห่วง ดังนั้น นักการเมืองควรหาทางออกที่ดีให้กับประเทศ แต่ว่าเราอะไรไม่ได้เพราะเมื่อก่อนไม่มีนักการเมือง แต่ตอนนี้มีนักการเมืองเขาก็ต้องหาทางออก อีกทั้งเขาอาสามาว่าจะดูแลบ้านเมืองให้ดี เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการผ่านมาประชามติแต่คนในอำนาจเขาพยายามจะแก้กันเอง นายนรนิติ กล่าวว่า แล้วจะทำยังไง แต่ตนคิดว่าต้องฟังประชาชนต้องให้เขารู้บ้าง

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายร่างเตรียมจะหั่นอายุขององค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิวัติให้สั้นลงกว่าเดิมหลังจากที่แก้เรียบร้อยแล้ว นายนรนิติ กล่าวว่า ไม่มั่นใจ คิดว่าต้องไปถามนักกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เขาอยู่ครบเทอมไปแล้ว แล้วสามารถลดเทอมได้หรือไม่ตนไม่มั่นใจ จึงแนะนำให้ไปถามนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550

“การกำหนดเทอมของคนเหล่านั้นมันกำหนดไว้แล้ว ผมไม่แน่ใจนะ ต้องถามอาจารย์สมคิดดีกว่า” นายนรนิติ กล่าว

ทางด้าน นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง และอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า ที่ประชาชนหวังพึ่งการเมืองในระบอบซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจวันนี้บ้านเมืองถึงดูหดหู่พิกล เพราะไม่รู้ว่าจะไปทางไหน แต่ถ้าเราพึ่งการเมืองของพวกเรากันเองของพลเมืองให้เข้มแข็งกันเองตนคิดว่าบ้านเมืองจะมีทางเลือกอีกเยอะ ซึ่งจะไม่ใช่สภาที่จะมานั่งเถียงเรื่องการเมืองระดับชาติว่าจะแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญ

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ใครๆ ก็โจมตีรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ถ้าเราไปอ่านในส่วนของการเมืองภาคพลเมืองและสภาพัฒนาการเมืองแล้วจะพบว่าเป็นจุดแข็ง ที่ให้ความสำคัญกับภาคพลเมืองมาก

“ผมจึงไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เลวทั้งหมดอย่างที่หลายคนคิดหลายคนพูด มันมีจุดที่เป็นปัญหาก็ต้องแก้กันไปเท่านั้นเอง” นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ความจริงตนก็ไม่อยากพูดเรื่องรัฐธรรมนูญเท่าไหร่เวลานี้ เพราะตัวเองสอนรัฐธรรมนูญอยู่หลายแห่งแต่ว่ามีผู้รู้เยอะมากในประเทศไทย เพราะฉะนั้นตัวเองจึงคิดว่าน่าจะต้องเป็นผู้ที่ไม่รู้เสียบ้าง แล้วโดยส่วนตัวก็ไม่อยากยุ่งกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจึงไม่อยากแสดงความเห็น แต่ถ้าถามว่ามีไหมความเห็น แต่ไม่พูดดีกว่า

ขณะที่ นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 เขียนเป็นเจตนาว่าอยากเห็นการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไปยกเลิกมาตราที่ว่าด้วยเรื่องสภาพัฒนาการเมืองหรือกองทุนพัฒนาการเมือง ตนคิดว่ามีผลต่อการตั้งสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนคงต้องคอยเฝ้าดูการแก้ไขครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถ้านำมาพูดในเวทีสาธารณะให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการคิดตนคิดว่าจะตัดข้อกังวลว่าจะตัด แก้ หรือยกเลิกบางส่วนทิ้งนั้นจะเกิดขึ้นได้น้อยลง ดีกว่าจะให้คน 300-400 คนแก้
กำลังโหลดความคิดเห็น