xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” เตือนรัฐแก้ไข รธน. ขืนใจ ปชช.จุดชนวนเผชิญหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.
อดีต กมธ.ยกร่าง รธน.เตือนรัฐบาลอย่าสวนกระแส 14 ล้านเสียงแก้ไข รธน.เพื่อพวกพ้อง โดยอ้างเสียงข้างมากในสภา เชื่ออาจเกิดการเผชิญหน้า แนะให้ตั้งกมธ.ทุกภาคส่วนศึกษาก่อนแก้ไข

วันนี้ (13 เม.ย.) นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องไว้แล้ว แต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้มาไม่นาน จึงยังไม่มีการประเมินผลว่า การใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งหากจะร่วมกันแก้ไข ก็ควรตั้งกรรมาธิการศึกษาปัญหาก่อน พร้อมทั้งสอบถามความต้องการของประชาชนด้วย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับความเห็นชอบจากการลงประชามติของที่มีผู้รับร่างถึง 14 ล้านเสียง ดังนั้น หากรัฐบาลจะแก้ไขควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เช่นเดียวกับการดำเนินการในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

“ไม่จำเป็นต้องตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขก็ได้ แต่ขอให้ดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม เนื่องจากหาก ส.ส. แก้ไขกันเองด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ เพียงอย่างเดียว อาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และจะทำให้รัฐธรรมนูญไม่เกิดความชอบธรรม และเป็นเหตุให้เกิดการออกมาคัดค้าน หากรัฐสภาตั้งคนกลางที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นสามารถผ่านสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า สภาองค์กรชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นต้น” นายวิชา กล่าว

นายวิชา ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจทำให้เกิดความรุนแรงและเกิดการเผชิญหน้าได้ ส่วนจะแก้ไขทั้งฉบับหรือบางมาตรานั้น ให้ดูจุดบกพร่องในทุกส่วน แต่ไม่จำเป็นต้องตั้งธงจะแก้ทั้งฉบับ และหากแก้ไขควรทำให้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เปิดกว้างให้ประชาชนใช้สิทธิอย่างเต็มที่

“ต้นเหตุที่รัฐบาลจะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีเคยระบุว่าจะทำการแก้ไขในช่วง 3 เดือนก่อนหมดวาระนั้น เป็นผลมาจากการต้องการหนีกรณีการยุบพรรคการเมือง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง” นายวิชา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น