xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างยึดข้อประชุมปี 44 ห้าม ส.ส.แทรกแซงภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
กมธ.ยกร่างข้อประชุม ส่อแววเพิ่ม กมธ.อ้างแก้ปัญหาประชาชน ยึดข้อบังคับการประชุมปี 44 เป็นหลัก เตรียมเรียกอดีต กมธ.ยกร่าง รธน.ถามเจตนารมณ์ ม.265-266 ห้าม ส.ส.แทรกแซงราชการ-รัฐวิสาหกิจ

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ครั้งที่ 1 แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติเลือก นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ นายไพจิต ศรีวรขาน เป็นเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมาธิการจะพิจารณายกร่างข้อบังคับให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 19 ก.พ.นี้ สำหรับกรอบในการหารือมี 2 เรื่อง คือ 1.พิจารณาส่วนที่มีปัญหาของข้อบังคับการประชุมปี 2544 และ 2.การปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับการประชุมปี2544 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ ส.ส.ไปแทรกแซง ก้าวก่าย การปฎิบัติหน้าที่ของภาครัฐ ราชการ รัฐวิสาหกิจ” ตรงนี้ไม่ทราบว่าจะมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เท่ากับว่า ส.ส.จะไปตั้งกระทู้ถามการทำงานที่ไม่ถูกต้องของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ เพราะอาจทำให้หลุดจากตำแหน่ง ส.ส.ได้ ดังนั้นในวันที่ 12 ก.พ.นี้ คณะกรรมาธิการจะเชิญผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คือ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และนายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาชี้แจงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร เพราะคงไม่อยากมีใครเป็น “หนูทดลองยา”

โฆษกคณะกรรมาธิการ กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนของคณะกรรมาธิสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ที่ปัจจุบันมี 31 คณะ ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะต้องปรับลดหรือเพิ่มคณะขึ้นหรือไม่ จะต้องมีการสอบถามจาก ส.ส.และความจำเป็นต่างๆ็ สำหรับปัญหาการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนของคณะกรรมาธิการ เนื่องจากที่ผ่านมามีการเรียกข้าราชการมาชี้แจงหลายคณะในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความลำบากต่อผู้มาชี้แจง และเสียเวลาในการทำงานของสภา นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ทั้งในส่วนของคณะกรรมาธิการสามัญ และคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งสามารถตั้งได้แต่ก็พบปัญหาว่ามีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาเยอะมาก กินเบี้ยประชุมครั้งละ 500 บาท/คน รวมถึงมีการตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมาธิการ ตรงนี้จะไปพิจารณาดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

ด้าน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ โฆษกคณะกรรมาธิการ กล่าวเสริมว่า สำหรับเกณฑ์การพิจารณาปรับลดหรือเพิ่ม คณะกรรมาธิการนั้นจะดูจากข้อเท็จจริงและปัญหาของประชาชนเป็นหลัก ว่า มีความสำคัญและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งมี ส.ส.หลายคน เสนอเพิ่มคณะกรรมาธิการ อาทิ คณะกรรมาธิการเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น คาดว่า สัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป นอกจากนี้ จะมีการถามอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คน เกี่ยวกับการที่รัฐธรรมนูญห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจรวมถึงเลขานุการรัฐฒนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เพราะยังไม่มีความชัดเจนเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น