xs
xsm
sm
md
lg

“เพ็ญทีวี” ทำใจกว้าง เชิญ “แกนนำพันธมิตร” ออกรายการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


NBT เปิดมากว่าครึ่งเดือน เพิ่งเชิญฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไปออกจอ "ไชยยันต์ ไชยพร" และ "พิภพ ธงไชย" แจงเหตุผลคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน"ถามจริงตอบตรง" ย้ำชัด พปช.มุ่งแก้ กม.เพื่อตัวเอง ยัน รธน.50 ไม่ได้ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ย้ำหากแก้ ต้องผ่านกระบวนการ ส.ส.ร.เท่านั้น

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการถามจริง-ตอบตรง


ต่อกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาล กำลังเดินหน้าแก้ไขทั้งฉบับโดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาการแก้ อย่างที่หลายฝ่ายเสนอ

วันนี้(16 เม.ย.) รศ.ดร. ไชยยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ ถามจริง ตอบตรง ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข รธน. ในตอนนี้ โดยเฉพาะการแก้ในมาตรา 237 เนื่องจาก ตนมองว่ามาตรานี้ เขียนขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเอาความผิดกับคนที่กระทำผิดเลือกตั้ง เป็นด่านแรกที่จะคัดสรรคนดีเข้าไปทำงานด้านประชาธิปไตย และการที่นักการเมืองบอกว่า การกระทำผิดเป็นการทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริหารจึงต้องมีการแก้ นั้น ตนมองว่าหากแน่ใจว่ากรรมการบริหารพรรคไม่เกี่ยวจริง ๆ ก็ไม่เห็นต้องแก้ ก็ปล่อยให้เป็นกระบวนการทางศาลพิสูจน์ว่าไม่เกี่ยวจริง ๆ

และหากมีการแก้ไขในตอนนี้จะเกิดปัญหาที่ว่า สังคมทุกภาคส่วนก็จะคิดว่าหากมีปัญหาเราก็ทำแบบนี้ดีกว่า แก้ไขกฎกันอย่างนี้ ต่างชาติก็จะกลัวรัฐบาลแบบนี้ ว่าหากทำสัญญาอะไรไปและอยู่ ๆ คนที่มีอำนาจอธิปไตยก็มาเปลี่ยนกฎ บ้านเราก็จะขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างแน่นอน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในตอนนี้ก็คือ สร้างพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทุกส่วนมีส่วนรับรู้ ในประเด็นมาตรา 327 ช่วยกันตัดสินว่าประเด็นในการรับผิดชอบ ต่อกรรมการบริหารพรรคที่มีความผิดควรจะมีแค่ไหน

ด้านนายพิภพ ธงไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่าที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.ในตอนนี้ก็เพราะคิดว่าเป็นการทำเพื่อพวกพ้อง เพื่อประโยชน์ตัวเอง เพราะ รธน.ปี50 ถึงจะร่างมาจาก ส.ส.ร. ที่ได้รับการแต่งตั้งมา แต่ก็ได้มีการลงประชามติแล้ว และต่อคำถามที่ว่า การลงประชามตินั้นถูกมองว่าเป็นการบังคับ นายพิภพ กล่าวว่า หากบังคับจริง ๆ น่าจะได้มากกว่านี้ ดังนั้นกระบวนการแก้ต้องถามคนทั้ง 14 ล้านคนที่ออกเสียงประชามติรับร่าง รธน.ด้วย

อีกอย่างคือเรารู้ว่ามีเล่ห์กลในการแก้ เพราะเริ่มต้นก็คือการแก้ไขปัญหากรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะแก้มาตรา 237 จะแก้มาตรา 309 เพื่อยกเลิกอำนาจของ คตส. เพื่อช่วยอดีตนายกฯ ทักษิณ พอเป็นอย่างนี้คนก็รู้แล้ว ว่าทำไมถึงไม่ให้เรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อเล่ห์กลตรงนี้ ถูกคัดค้าน จึงได้มาเสนอการแก้ทั้งฉบับ

ต่อคำถามที่ว่าจะทำอย่างไร หรือแก้ รธน. แบบไหนจึงจะเกิดปัญหาน้อยที่สุดนั้น นายพิภพยืนยันว่ายังไม่สมควรแก้ในตอนนี้แต่ หากจะแก้กันจริง ๆ โดยไม่เกรงใจคน 14 ล้านเสียงที่ลงประชามติ ก็ควรกลับไปใช้วิธีการเขียน รธน.ปี 40 คือ สภาฯ ก็ไม่ควรจะแก้เอง ควรมีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และคนจะได้ไม่ตั้งข้อสงสัยพรรคพลังประชาชนว่ารีบร้อนแก้

ต่อคำถามที่ว่าหากมีการแก้ไข รธน.โดยมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาจะยาวนานมาก ปัญหาของประเทศที่รัฐบาลจะต้องแก้มันเกี่ยวพันกับปากท้องของประชาชนนั้น นายพิภพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่ได้เป็นปัญหากับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และในนโยบายที่แถลงไว้ในสภาฯ ไม่เคยมีการบอกไว้ว่าจะแก้ไข รธน. ในปีนี้ และหากพรรคถูกยุบไปจริง ๆ ก็มีผลแค่กรรมการบริหารพรรคเท่านั้นที่ไม่มีสิทธิ์ ดังนั้นพรรคพลังประชาชนก็ต้องระมัดระวัง และในกรณีนี้พรรคไม่ระวังเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา เป็นคนที่ปัญหาในข้อกฎหมาย และเมื่อปัญหาข้อกฎหมายเป็นจริงขึ้นมาก็เกิดอาการขึ้นมา

เมื่อถามว่าหากรัฐบาลยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการมี ส.ส.ร. โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางพันธมิตรฯ จะยังคงเคลื่อนไหวอยู่หรือไม่นั้น นายพิภพ กล่าวว่าหากมีการเปิดเวทีสาธารณะให้มากขึ้น เปิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี และหากใช้กระบวนการทางสภาฯ โดยการเสนอชื่อ 50,000 ชื่อในการแก้ไขนั้น ตนเชื่อว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งแน่นอนที่เสนอแบบแก้ไขโดยมี ส.ส.ร. คือการแก้ไข รธน. เราไปไกลแล้ว เพราะตอนนี้ก็บอกแล้วว่าจะแก้ทั้งฉบับ ซึ่งการแก้ทั้งฉบับควรจะใช้วิธีให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ใช่ให้เพียงคนที่เป็น ส.ส.เขียนกันเอง

หากรัฐบาลยังยืนยันแก้ไขปัญหาตามแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาล สังคมจะแตกแยก เหมือนอย่างผลสำรวจของ เอแบคโพลล์ที่ออกมาเมื่อวานนี้ (15 เม.ย.) ที่ออกมาว่าคนที่ตอบแบบสำรวจมีความหวัง และอยากให้การแก้ไขปัญหาทางการเมือง ควรใช้กระบวนการยุติธรรมตัดสิน ซึ่งตนคิดว่าหากนักการเมืองยังดึงดันที่จะแก้ไขตามแนวทางของตัวเองอย่างนี้ แสดงว่านักการเมืองสร้างวิกฤติรัฐธรรมนูญ และวิกฤติทางเมืองขึ้นมา

“ผมคิดว่าเรายุติปัญหาวิกฤติทางรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐธรรมนูญใช้ต่อไป ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเสียหายอะไร ไม่ได้หมายความว่า คุณยงยุทธ เข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะตัดสินยุบพรรค หรือ คุณทักษิณเข้าสู่ศาลไปตามข้อมูลที่ คตส.ส่งไปแล้วศาลจะตัดสินว่าคุณทักษิณผิด

"ผมว่าปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินไป และกระบวนการยุติธรรมควรจะให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งผมคิดว่าหากหยุดชะงักแล้วการเมืองจะถอยหลังกลับ และเกิดวิกฤติ และรัฐบาลไม่เคยบอกเลยว่ามาตราไหนเป็นข้อจำกัดในการทำงาน ข้อจำกัดเหล่านั้นมาจากรัฐบาลเองที่เลือกรัฐมนตรี ที่แม้แต่นายกเองก็บอกว่าขี้เหร่ เลือกคนซึ่งมีปัญหาในทางกฎหมายหลายคน และไม่มีความสามารถ เพราะฉะนั้นปัญหาการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากรัฐบาลเองต่างหาก อย่างนั้นก็ปรับ ครม.เสียปัญหาจะได้เดินแก้ไปได้ หรือไม่มีฝีมือ” นายพิภพ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น