xs
xsm
sm
md
lg

มติ 4-1 กกต.เสนอยุบ “ชาติไทย-มัชฌิมาฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย จึงประเสริฐ กกต.เพียงหนึ่งเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอยุบพรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย
ที่ประชุม กกต.มีมติ 4 ต่อ 1 ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กรณีกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เผย 1เสียงข้างน้อยคือ “สมชัย จึงประเสริฐ”

วันนี้ ( 11 เม.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ได้ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงในการพิจารณาความคิดเห็นของนาย อภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่เสนอความเห็นกรณีกรรมการบริหารพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) ว่า สมควรที่จะเสนอให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย หรือไม่ โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า มติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 เสียง เห็นควรตามที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอให้มีการยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับมติเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ฝ่ายกิจการสอบสวนสอบสวน

นายสุทธิพล กล่าวอีกว่าจากนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะได้รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดโดยเร็ว ซึ่งตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดว่าเมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่องดังกล่าวแล้วมีเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ไดรับแจ้ง หากไม่ดำเนินการ ก็ให้นายทะเบียนฯ ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างนายทะเบียนฯ กับอัยการสูงสุดขึ้นมาพิจารณาโดยให้เวลาอีก 30 วัน แต่ถ้าไม่ได้ข้อยุติ ก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของกกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง

เมื่อถามว่ากรณีนี้ใช้เทียบเคียงในการดำเนินการกับพรรคพลังประชาชนได้ใช่หรือไม่ หากนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิ นายสุทธิพล กล่าวว่า ไม่ขอพูดเรื่องนี้ เพราะเรื่องอยู่ในชั้นศาลฎีกา

สำหรับพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถูกพิจารณายุบพรรคเนื่องจากกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการทุจริตซื้อเสียง นั่นคือ นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เขต 1 และรองเลขาธิการพรรคชาติไทย ที่ถูก กกต.มีมติให้ใบแดงเมื่อ 7 ม.ค.51 หลังพบหัวคะแนนของนายมณเฑียรเก็บบัตรประชาชนชาวบ้าน และเตรียมจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หน้าหน่วยเลือกตั้งกลางในการเลือกตั้งล่วงหน้า ขณะที่ นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 และรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ถูก กกต.มีมติให้ใบแดง เมื่อ 8 ม.ค.51 เนื่องจากมีพฤติการณ์แจกทรัพย์สิน

ทั้ง นายมณเฑียร และนายสุนทร ต่างมีตำแหน่งเป็นถึงกรรมการบริหารพรรค ในชั้นแรก กกต.จึงได้ให้คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ที่มี นายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน พิจารณาว่าหากกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือโดนใบแดงแล้ว กกต.ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการชุดนายบุญทันมีความเห็นว่าไม่ควรเสนอให้ยุบพรรค เพราะการกระทำผิดของนายมณเฑียร และนายสุนทรเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.มีความเห็นแย้งว่า การที่กรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง ถือว่าเข้าข่ายมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. และมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ดังนั้น กกต.ควรเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค และให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทำความเห็นเสนอต่อที่ประชุม กกต.เพื่อลงมติในวันนี้

รายละเอียด
"ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ต่อการดำเนินการตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 กรณีพรรคชาติไทย เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง"


จากการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่21/2551 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551 ซึ่งได้พิจารณา เรื่อง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรณีนายสุนทร วิดาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย และเป็นรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคชาติไทย และเป็นรองเลขาธิการพรรคชาติไทย และคระกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามนัยมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยมีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง และในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 41/2551 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง สรุปความว่า

จากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชื่อว่า แม้ว่าทั้งนายสุนทร วิลาวัลย์ และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา จะเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่การกระทำผิดเป็นการกระทำส่วนในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคอื่นมิได้มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำนั้น และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้ส่งความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน และสำนวนการสืบสวนสอบสวนฯ ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาตาม มาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ต่อกรณีข้างต้น

การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ซึ่งบัญญัติว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ดังนั้นตามนัยมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงถือว่าความได้ปรากฏต่อนายทะเบียน จากการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการแจ้งต่อนายทะเบียนตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯแล้ว ตามผลที่ปรากฏ ซึ่งนายทะเบียนได้พิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นดังนี้

1.เห็นว่านายมณเฑียร สงฆ์ประชา ในขณะกระทำผิดยังคงดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ พรรคชาติไทย จนถึงวันที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามคำวินิจฉัยสั่งการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 78/2551 ลงวันที่ 18 มกราคม 2550 ทำให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย และพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคชาติไทย

2.เมื่อฟังได้ว่าในขณะกระทำผิดนายมณเฑียรฯ เป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทยอยู่เช่นนี้ ถึงแม้ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ หรือหลักฐานอื่นรวมทั้งการชี้แจงของหัวหน้าพรรคและผู้แทนพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาจจะทำฟังได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคผู้อื่น (ซึ่งมิใช่นายมณเฑียร) ไม่มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำนั้นก็ตาม แต่พิเคราะห์บทบัญญัติตามมาตรา 237 วรรคสอง ของรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ซึ่งได้บัญญัติตรงกันว่า “ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น” ย่อมต้องถือว่า นายมณเฑียรเป็นกรรมการบริหารพรรค ผู้ใดมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิด ตามนัยมาตรา 237 วรรคสอง และมาตรา 103 วรรคสอง และตามความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ให้ความเห็นไปในทางนี้อยู่

จึงเห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 เท่านั้น ไม่อาจใช้ดุลพินิจในการเลือกที่จะแจ้งหรือไม่แจ้งต่ออัยการสูงสุด ซึ่งต่างจากศาลรัฐธรรมนูญทีมีบทบัญญัติตามมาตรา 94 ให้อำนาจที่จะมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบให้แจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมหลักฐานเพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 95 ดังกล่าว ในกรณีของพรรคชาติไทยนี้ต่อไป

-------

รายละเอียด
ความเห็นชอบของนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อการดำเนินการตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 กรณี พรรคมัชฌิมาธิปไตย เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง


จากการประชุมการเลือกตั้ง ครั้งที่ 21 / 2551เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551 ซึ่งได้พิจารณา เรื่อง การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรณี นายสุนทร ลีลาวัลย์ (สมัครรับเลือกตั้งสกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย และรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคชาติไทย และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามนัยมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 โดยมีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 41/2551 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 คณะกรรมการสืบสวนฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง สรุกความว่า ผลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชื่อว่า แม้ว่านายสุมทร วิลาวัลย์ และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา จะเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่การกระทำผิดเป็นการกระทำส่วนตัวในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นมิได้มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้ส่งความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน และสำเนาการสืบสวนสอบสวนฯ ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาตาม มาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ต่อกรณีข้างต้น

การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการดำเนินตามมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ดังนั้น ตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2550 จึงถือว่าความได้ปรากฎต่อหน้านานทะเบียนจากการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการแจ้งต่อนายทะเบียนตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ แล้ว ตามผลที่ปรากฏ ซึ่งนายทะเบียนได้พิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นดังนี้

1. เห็นว่า นายสุนทร วิลาวัลย์ ในขณะที่กระทำผิดอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งแม้จะมีข้อโต้แย้งว่า ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเนื่องจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และข้อบังคับพรรคมัชฌิมาธิปไตย พ.ศ. 2550 ข้อ 30 (4) กำหมดว่า เมื่อหัวหน้าพรรคลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งให้ถือความเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะจึงถือว่าในขณะกระทำผิด นายสุนทร วิลาวัลย์ มิได้เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่จากการตรวจสอบข้อบังคับพรรคมัชฌิมาธิปไตย พ.ศ. 2550 ข้อ 30 วรรคห้า ยังมีข้อความที่ระบุต่อไปว่า “กรณีที่มีเหตุให้คณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่” ซึ่งโดยเหตุผลของข้อบังคับที่บัญญัติไว้เช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พรรคการเมืองซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลยังคงดำเนินกิจการต่อไปตามกฏหมายได้ เพราะหากให้กรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะ พร้อมกับการพ้นจากตำแหน่งของหัวหน้าพรรคทันที จะทำให้ไม่มีผู้แทนของพรรคที่จะดำเนินกิจการของพรรคการเมืองนั้นต่อไป

แต่การให้อยู่ในตำแหน่งตามข้อ 30 วรรคห้า เป็นเพียงการอยู่ในตำแหน่งชั่วคราว จนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่พร้อมแล้ว คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมจะสิ้นสุดลงทั้งคณะ ตามข้อบังคับพรรค ข้อ 30 (8) และในระหว่างที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไปนั้นกรรมการบริหารพรรคยังมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และข้อบังคับพรรคเช่นเดิมทุกประการ ทำนองเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 232 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้บัญญัติว่า “กรรมการการเลือกตั้งซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ามารับหน้าที่” ดังนั้น จึงถือได้ว่าขณะกระทำผิด นายสุนทร วิลาวัลย์ ยังคงอยู่ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย จนถึงวันที่ถูกเพิกถอยสิทธิเลือกตั้งตามคำวินิฉัยสั่งการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 65/2551 ลงวันที่ 16 มกราคม 2551 จึงพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตามมาตรา 20 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มีผลทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตรมมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ด้วย

2. เมื่อได้ฟังว่าขณะกระทำผิดนายสุนทรฯ ยังเป็นคณะกรรมาการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยอยู่เช่นนี้ถึงแม้ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ หรือหลักฐานอื่นรวมทั้งการชี้แจงของหัวหน้าพรรคและผ้แทนพรรคต่อคณะกรรมาการการเลือกตั้ง อาจจะทำให้ฟังว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคผู้อื่น (ซึ่งมิใช่นายสุนทรฯ) ไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำของนายสุนทรฯ ก็ตาม แต่พิเคราะห์บทบัญญัติ มาตรา 237 วรรคสอง ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 103 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ซึ่งได้บัญญัติตรงกันว่า “ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ย่อมต้องถือว่านายสุนทรฯ เป็นกรรมการบริหารพรรคที่ ผู้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำ ตามมาตรา 237 วรรคสอง และมาตรา 103 วรรคสอง และตามความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฏหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ให้ความเห็นไปในทางนี้อยู่ จึงเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 เท่านั้น ไม่อาจใช้ดุลพินิจในการจะมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่ก็ได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบให้แจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐานเพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 98 ดังกล่าวในกรณีของพรรคมัชฌิมาธิปไตย

-------
รายละเอียด
"มติของนายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง"

ในปัญหาการยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตามมาตรา103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550

กรณีสืบเนืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยที่ 65/2551 และที่ 78/2551 ว่ามีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า นายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผัแทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ผู้ถูกกล่าวหาได้ก่อ สนับสนุน หรือ รู้เห็นเป็นใจให้นายอำนวย จันทร์แบกหล้า ตัวแทนหรือหัวคะแนนของผู้ถูกกล่าวหาให้เงินแก่นางชวนพิศ นันมา เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหา และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผัแทนราษฎรจังหวัดชัยนาท เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งเป็นรองเลขาธิการพรรคชาติไทย ผู้ถูกกล่าวหาได้ก่อให้ผู้อื่น กระทำ สนันสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้กลุ่มบุคคล ประกอบด้วย นางศรีประไพ หรืออุ๋ย โตเพ็ง นางศิริรัตน์ หรือแจ๋ว เปี่ยมเพ็ชร และนางธิดารัตน์ หรือโอ้ต เหล็กทะเล ตัวแทนหรือหัวคะแนนของผู้ถูกกล่าวหาจัดเตรียมเงินเพื่อจะให้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตา 53(1) และมาตรา 58 ส่งผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายเป็นเวลาหนึ่งปี ตามาตร 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มีปัญหาต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า มีเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 เพื่อให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรคชาติไทยหรือไม่

เห็นว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงใคร่เชิญพระบรมราโชวาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแก่นักศึกษาในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต สมัครที่33 ปีการศึกษา 2523 ว่า... กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรมเป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย...

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพระบรมราโชวาทและหลักนิติธรรมดังกล่าวเพื่อรักษาความยุติธรรมยิ่งกว่ารักษาตัวบทของกฎหมายเอง เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 103 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนแล้ว เห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าการกระทำนั้นน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้มีผลนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง

และวรรคสองที่บัญญัติว่า ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือกงและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองแล้ว เห็นว่า

บทบัญญัติทั้งสองวรรคดังกล่าวเป็นบทตัดสิทธิบุคคลจำต้องตีความโดยเคร่งครัดและโดยคำนึงถึงหลักนิติธรรมที่ว่า เมื่อไม่ได้กระผิดก็ไม่ควรต้องรับโทษ ข้อความในวรรคหนึ่งกล่าวถึงกรณีที่ผู้สมัครเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำผิดกฎหมายเหลือตั้งฯ นั้น กฎหมาย ต้องการเพียงพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ผู้สมัครเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำผิดกฎหมายน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้น มิได้ต้องการพยานหลักฐานถึงขั้นต้องมีหรือปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามาพิสูจน์แต่ประการใด

ส่วนบทบัญญัติในวรรคสองกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้มาพิสูจน์ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิใช่ต้องการแต่เพียงมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้เท่านั้น

ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองเป็นเรื่องของมหาชน การที่จะยุบพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดย่อมส่งผลกระทบไปถึงบรรดาสมาชิกทั้งหลาย ซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้นด้วย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่กฎหมายต้องการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน แต่จากการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแต่ประการใด คงได้ความว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองทั้งสองรายที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต่างก็เป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองทั้งสองเท่านั้น ซึ่งการที่ผู้สมัครทั้งสองรายถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น ต่างเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนแล้ว มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ แต่มิได้มีหลักฐานอันควรเชื่อได้มาพิสูจน์ว่าผู้สมัครทั้งสองรายเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำ อันเป็นระดับในการรับฟังข้อเท็จจริงจากหลักการรับฟังพยานหลักฐานที่กฎหมายกำหนดไว้แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแยกแยะได้ว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้สมัครหรือเป็นเรื่องของพรรคการเมือง

ส่วนการที่จะรับฟังให้เกี่ยวโยงไปถึงพรรคการเมืองได้หรือไม่ ต้องแล้วแต่พยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป สำหรับกรณีของสองพรรคการเมืองดังกล่าว คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้เลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

จึงเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ว่ากรณีของพรรคการเมืองทั้งสองรายดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 103 วรรคสอง ที่จะให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น เห็นควรให้ยุติเรื่อง

(ลงนามเป็นลายมือชื่อ) นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง 11 เม.ย.2551
รายละเอียด มติของนายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น