xs
xsm
sm
md
lg

ยุบชาติไทย-มัชฌิมามติกกต.ส่งศาลรธน.เชือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พปช.หนาว กลางฤดูร้อน เมื่อกกต.มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ส่งอัยการสูงสุด เสนอยุบพรรคชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย อ้างรัฐธรรมนูญ ม.237 ประกอบม.103 ของพ.ร.บ.เลือกตั้ง มัดคอให้ต้องยื่นเรื่อง ไม่อาจมีดุลยพินิจเลือกเสนอไม่เสนอ แต่เปิดช่องให้ 2 พรรคไปสู้ในชั้นศาล ยอมรับจากการสอบสวน และพยานหลักฐาน ไม่อาจรับฟังได้ว่าพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดของ กก.บห.ที่ถูกกกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ด้าน"สมชัย" เสียงข้างน้อย ยกพระบรมราโชวาท กม.ไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นเพียงเครื่องมือ การใช้ กม. ต้องมุ่งหมายเพื่อรักษาความยุติธรรม ชี้เมื่อพยานหลักฐานบ่งชี้ไม่ได้กระทำผิด ก็ไม่ควรต้องรับโทษ

เมื่อวานนี้ ( 11 เม.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) ได้ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในการพิจารณาความคิดเห็นของ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่เสนอความเห็นกรณีกรรมการบริหารพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ว่า สมควรที่จะเสนอให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย หรือไม่
โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขา กกต.แถลงว่า มติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 เสียง เห็นควรตามที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอให้มีการยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีของการเสนอยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ระบุว่า ขณะกระทำผิด นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ยังคงดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการพรรคชาติไทย จนถึงวันที่ กกต.มีมติสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และเป็นเหตุให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย รวมทั้งจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค
ส่วนนายสุนทร วิลาวัลย์ แม้ว่าจะโต้แย้งว่าได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 50 ทำให้พ้นจาหตำแหน่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และ ข้อบังคับพรรคที่ 30 ( 8) กำหนดว่า เมื่อหัวหน้าพรรคลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งให้ถือว่า ความเป็นคณะกรรมการบิรหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะ จึงถือว่าในขณะกระทำผิด นายสุนทร มิได้เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยแล้ว
แต่จากการตรวจสอบข้อบังคับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ข้อ 30 วรรค 5 ยังมีข้อความที่ระบุว่า "กรณีที่มีเหตุให้คณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่"
รวมทั้งข้อบังคับพรรค ที่ 30 (8) ก็มีข้อความว่า และในระหว่างที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น กรรมการบริหารพรรคยังคงมีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และข้อบังคับพรรค เช่นเดิมทุกประการ
ทำนองเดียวกับ มาตรา232 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ก็ได้บัญญัติว่า กกต.ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กกต.ซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ดังนั้นจึงถือว่าขณะกระทำผิดนายสุนทร ยังดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย จนถึงวันที่ถูกกกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ผลการสอบสวนของ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน หรือหลักฐานอื่น รวมทั้งการชี้แจงของหัวหน้าพรรค และผู้แทนพรรคต่อกกต. อาจจะทำให้ฟังได้ว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคผู้อื่น ซึ่งมิใช่ นายมณเฑียร และนายสุนทร ไม่มีส่วนรู้เห็น ถึงการกระทำนั้นก็ตาม
แต่เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติ มาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่บัญญัติตรงกันว่า "ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น" ย่อมต้องถือว่า นายมณเฑียร และนายสุนทร เป็นกรรมการบริหารพรรค ผู้ใดมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดตามนัย มาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 103 วรรค 2 และตามความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ก็ให้ความเห็นในทางนี้อยู่
"จึงเห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 95 แห่งพ.ร.บ.พรรคการเมือง เท่านั้น ไม่อาจใช้ดุลพินิจในการเลือกที่จะแจ้ง หรือไม่แจ้งต่ออัยการสูงสุด ซึ่งต่างจากศาลรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติตาม มาตรา 94 ให้อำนาจที่จะมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ก็ได้ จึงเห็นชอบให้แจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐานเพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 95 ในกรณีของพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยต่อไป"
นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า จากนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะได้รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดโดยเร็ว ซึ่งตาม มาตรา 95 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดว่า เมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว มีเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ไดรับแจ้ง หากไม่ดำเนินการ ก็ให้นายทะเบียนฯ ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างนายทะเบียนฯ กับอัยการสูงสุดขึ้นมาพิจารณา โดยให้เวลาอีก 30 วัน แต่ถ้าไม่ได้ข้อยุติ ก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง
เมื่อถามว่า กรณีนี้ใช้เทียบเคียงในการดำเนินการกับพรรคพลังประชาชนได้ใช่หรือไม่ หากนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายสุทธิพล กล่าวว่าไม่ขอพูดเรื่องนี้ เพราะเรื่องอยู่ในชั้นศาลฎีกา แต่ถ้าศาลฎีกายืนตามมติกกต. ก็จะใช้กระบวนการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวน เช่นเดียวกับกรณีของพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม เสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นควรเสนอให้ยุติเรื่องก็คือ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. ด้านสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัย ซึ่งในคำวินิจฉัยส่วนตน ได้ระบุถึงเหตุผลโดย มีการอัญเชิญพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแก่นักศึกษาในพระราชพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้น เนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2523 ว่า
...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษา และอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย...
และรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 บัญญัติว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ครม. ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ที่สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทดังกล่าว ดังนั้น กกต. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพระบรมราโชวาท และหลักนิติธรรมดังกล่าวเพื่อรักษาความยุติธรรม ยิ่งกว่ารักษาตัวบทของกฎหมายเอง
กรณีนี้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติทั้ง 2 วรรค ของมาตรา 103 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. เป็นบทตัดสิทธิบุคคลจำต้องตีความโดยเคร่งครัด และคำนึงถึงหลักนิติธรรมที่ว่า เมื่อไม่ได้กระทำผิดก็ไม่ควรต้องรับโทษ ซึ่งการที่นายสุนทร และนายมณเฑียร เป็นกรรมการบริหาร และถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต่างเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสอบสวนแล้ว มีพฤติการณที่เชื่อได้ แต่มิได้มีหลักฐานอันควรเชื่อได้มาพิสูจน์ว่า บุคคลทั้ง 2 เป็นผู้ให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือ รู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำ อันเป็นระดับในการรับฟังข้อเท็จจริงจากหลักการรับฟังพยานหลักฐานที่กฎหมายกำหนดไว้แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแยกแยะได้ว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้สมัคร หรือเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ส่วนการที่จะรับฟังให้เกี่ยวโยงไปถึงพรรคการเมืองได้หรือไม่ ต้องแล้วแต่พยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป
สำหรับกรณีของทั้ง 2 พรรค คณะกรรมการสืบสวนได้ตรวจสอบไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรค กรรมบริหารพรรค หรือ พรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
"จึงเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนว่า กรณีของพรรคการเมืองทั้ง 2 รายดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. มาตรา 103 วรรค 2 ที่จะให้ถือว่า พรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคการเมืองนั้น เห็นควรให้ยุติเรื่อง"
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทุกอย่างต้องว่ากันไปตากฎหมาย และข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ขอแสดงความรู้สึกใดๆไปยัง นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ตนรู้สึกเฉยๆ ไม่ขอยินดียินร้ายอะไร
เมื่อถามถึงข่าวที่ว่า มีส.ส.พรรคชาติไทยประมาณ 15 คน จะย้ายเข้ามาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกัน ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคเสร็จสิ้นก่อน ส่วนความเป็นไปได้ที่จะทาบทาม ส.ส.ของพรรคที่ถูกตัดสินยุบนั้น ยังบอกไม่ได้ในขณะนี้
นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจ และเห็นใจไปยังหัวหน้าพรรคที่ถูกยุบ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่เคยเป็นพวกกันมาก่อน ส่วนมติของ กกต.ที่ออกมา 4 ต่อ 1 นั้น เชื่อว่าคงไม่มีปัญหาอะไร แม้จะออกมาล่าช้าไปบ้าง
อย่างไรก็ตาม การที่กกต. ต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน เพราะหลักฐานของ กกต.มีน้ำหนักมากพออยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น