กกต.เตรียมพิจารณายุบ “ชาติไทย-มัชฌิมาฯ” 2 เม.ย.นี้ แต่ส่อยืดเยื้อ “สุเมธ” เผย กกต.บางคนนำเรื่องไปศึกษาก่อนได้ และใช้มติเสียงข้างมากส่งเรื่องต่อศาล รธน.แต่ต้องผ่านด่านอัยการ หากติดขัดต้องตั้ง กก.ร่วมพิจารณาอีกรอบ ยันไม่ได้ชี้นำยุบ 2 พรรค แต่พูดไปตามหลักกฎหมาย
นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีที่คณะที่ปรึกษากฎหมายมีมติเสนอเรื่องกรณีกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ว่า คงได้รับผลสรุปความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายในสัปดาห์หน้า และคงนำเข้าที่ประชุมวันพุธที่ 2 เม.ย.นี้ โดยจะนำมาดูพร้อมกับผลสรุปที่คณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน และเอกสารที่ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าการประชุมวันที่ 2 เม.ย.นี้จะได้ข้อยุติ เพราะอาจมี กกต.บางคนขอนำเรื่องกลับไปศึกษาก่อน
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าว กกต.ไม่จำเป็นต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ แต่เป็นเสียงข้างมากก็สามารถส่งเรื่องได้แล้ว หากมีมติให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งให้อัยการเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาว่าจะส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมติของ กกต.หรือไม่ภายใน 30 วัน หากอัยการเห็นว่าไม่ควรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาอีก ถ้ายังเห็นว่าไม่ส่งอีก ท้ายสุดก็อยู่ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะเป็นผู้ตัดสินใจ
เมื่อถามว่า คณะกรรมการทั้ง 2 คณะมีความเห็นที่แตกต่างกันจะทำให้ กกต.ลำบากในการพิจารณาหรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่ลำบาก เพราะของคณะ นายบุญทัน เป็นการแสดงความคิดเห็นด้านข้อเท็จจริง ส่วนของคณะนายสุพล นั้นก็ให้แง่คิดในด้านของข้อกฎหมาย ซึ่งก็ไมมีปัญหาอะไรที่ขัดกัน โดย กกต.ก็ต้องดูทั้ง 2 ส่วน ซึ่งส่วนตัวก็จะยึดตามข้อกฎหมายเป็นหลัก
ส่วนที่พรรคการเมืองออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก กกต.นายสุเมธ กล่าวว่า พูดยาก และขออย่าให้พูด หากตนเป็นกรรมการบริหารของบริษัทหนึ่ง แต่มีกรรมการบางคนไปกระทำผิดแล้วตนจะต้องรับผิดไปด้วยหรือ ซึ่งมันก็น่าคิด แต่ กกต.ก็เหมือนคนกินอาหารเขาชงมาให้ก็ต้องกิน และ กกต.ก็เหมือนศาลต้องพิจารณา พอส่งไปก็อยู่ที่อัยการอีกว่าจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายสุเมธ ยังยืนยันว่า การออกมาพูดก่อนหน้านี้ของตนเองไม่ได้เป็นการชี้นำ แต่เมื่อกฎหมายมีอยู่ก็ต้องว่าไปตามนั้น ส่วนใครจะแก้กฎหมายก็แก้ไป กกต.มีหน้าที่ปฏิบัติ กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น หากทำไปแล้วมีการแก้ไขและมีคนบอกว่าทำไปก็ไม่ได้ประโยชน์ก็ต้องยอมรับ