“ทิวา” ยกข้อกฎหมายอัด “ไชยา” ดื้อตาใสไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน ด้าน “วีระ” ตอกซ้ำถามหายางอาย ก่อนแนะ ปชช.ส่งจดหมายนับแสน-ล้านฉบับร้องนายกฯ บี้เชือด รมว.สธ. ขณะที่ “แพทย์ชนบท” ยันล่ารายชื่อถอดถอนครบแล้ว ยันอยากได้เจ้ากระทรวงที่เป็นคนดี-มีความรู้ความสามารถจริง
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดประเด็นซักถาม ดร.ทิวา เงินยวง คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายวีระ สมความคิด ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการแพทย์ชนบท ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ที่คู่สมรสของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ถือหุ้นในบริษัท ซับฮกเฮง จำกัด เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้แจ้งภายใน 30 วัน แต่ ป.ป.ช. เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 269 ไม่ได้มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ผู้ใด จงใจ หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติหรือไม่ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงไปถึง 4 บุคคล คือ 1.นายกฯ 2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร 3.ประธานวุฒิสภา และ 4.ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า รัฐมนตรีสมควรจะลาออกหรือไม่ และถ้าไม่ดำเนินการ จะมีผลตามกฎหมายอย่างไร
โดย ดร.ทิวา กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจชี้มูลได้เอง เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเพิ่มเติมว่า การถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องไม่ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนของบริษัทตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ แต่จากข้อเท็จจริงภรรยาถือหุ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท ซึ่งถือว่าเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วน และเมื่อไม่ดำเนินการไปตามกฎหมายมาตรา 182 (7) ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามาตรา 269 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ชัดเจน
“เมื่อความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่รัฐมนตรียังดื้อตาใส ซึ่งก็หนีไม่พ้นต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และต้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ถ้า 4 องค์กรที่ ป.ป.ช.ได้ยื่นเรื่องไปไม่ดำเนินการ ก็จะเข้าสู่กระบวนการถอดถอน ดังนั้นการตัดสินใจวันนี้อยู่ที่นายกฯ เพียงคนเดียว แต่ถ้านายกฯ ไม่ทำตามก็จะเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คงหนีไม่พ้นศาลวินิจฉัย เพราะฉะนั้น ผมจึงกล้าใช้คำว่า บางบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสามารถบังคับใช้ได้เลย ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ต่อมา ดังนั้น กฎหมายที่อ้างว่าเขียนไว้ไม่ชัด แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน” ดร.ทิวา กล่าว
ดร.ทิวา กล่าวอีกว่า หากเมื่อรัฐมนตรีรู้ว่าฝ่าฝืนแล้ว โดยประกาศลาออก ก็จะมีผลทันที และวันนี้ก็รู้แล้วว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดย ป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งไปยัง 4 องค์กร ซึ่งทุกคนรู้ นายไชยารู้ ดังนั้นผลตามรัฐธรรมนูญมันเกิดแล้ว เพราะเป็นบทบัญญัติที่สามารถใช้บังคับได้โดยเด็ดขาด ใครจะฝ่าฝืนไม่ได้ ซึ่งผิดกับเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งช่องทางที่สั้น และเป็นไปได้มากที่สุด คือ เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ฉะนั้นการที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือนายกฯ จะต้องบอกกับนายไชยา แต่ถ้าไม่ทำ ก็ต้องไปสู่กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปต้องมีประมวลจริยธรรม ซึ่งสภากำลังจะตั้งขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่การถอดถอนได้ โดย ส.ส.สามารถเข้าชื่อเพื่อถอดถอนได้
ด้าน นายวีระ กล่าวว่า ถ้าเอาตามหลักแล้ว หลังจากที่ ป.ป.ช.มีมติแล้ว ถ้านายไชยามียางอาย หรือมีคุณธรรมทางการเมือง นายไชยาก็ควรลาออกไป เพราะมันชัดเจนอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมองว่า ป.ป.ช.เอะอะอะไรก็ใช้อำนาจ เพราะ ป.ป.ช.ก็ส่งเรื่องไป 4 หน่วยงาน ซึ่งนายกฯ สามารถปรับ ครม.เพื่อปรับเปลี่ยนออกได้ ดังนั้นนายไชยา จึงไม่ควรดื้อ เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว เพราะความเป็นรัฐมนตรีมันสิ้นสุดลงแล้ว
“ถ้านายสมัครไม่ทำอะไร เชื่อว่า ส.ส.1 ใน 10 ทำอะไรแน่นอน เพราะถ้าไม่ทำ ประชาชนเขาถอดถอนแน่นอน ดังนั้น ทางที่ดีคุณเป็นตัวแทนของประชาชน ถ้าคุณสมัครไม่ทำ ส.ส.ก็ควรที่จะทำหน้าที่ของตัวเอง ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้วางยาอะไรเลยถ้าดูเจตนารมณ์ของเขาตั้งแต่ต้น ซึ่งนายไชยา ควรจะออกไปตั้งแต่เรื่องโดนต่อต้านการยกเลิกซีเอลยา เพราะในต่างประเทศหากมีรัฐมนตรีทำผิด ประชาชนของเขาจะไม่ยอม แต่ของประเทศไทยมีการถีบ ส.ส.ในสภาอันทรงเกียรติ กลับวางเฉย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอ่อนแอมากกับการมีส่วนร่วม เพราะเขาคิดว่าประชาชนซื้อได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องแสดงพลังว่าการจะไปไล่ถีบกันในสภานั้นทำไม่ได้ ซึ่งผมว่ายังไม่สายที่สังคมไทยจะลุกขึ้นมารวมพลัง ซึ่งลองเขียนจดหมายแสนฉบับ ล้านฉบับ ไปร้องเรียนนายกฯ ดูซิว่าเขาจะอยู่ได้หรือไม่” นายวีระ กล่าว
ต่อมา นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางโทรศัพท์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ก่อนที่ ป.ป.ช.จะมีมติออกมาได้พิจารณากฎหมายมาตรา 269 เป็นหลัก เพราะเป็นตัวกำหนดเรื่องถือครองหุ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 มีความแตกต่าง คือ เพิ่มเติมเรื่องภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องแจ้งเรื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) เราจึงทิ้งเอาไว้ไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากถ้ารัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ก็อาจจะวุ่นวายกันเข้าไปใหญ่ ว่า คำสั่งของรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ฉะนั้นจึงเร่งวินิจฉัย เพื่อแจ้งให้นายกฯ ทราบ เพราะการที่จะให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง จะต้องให้หัวหน้ารัฐบาลกราบบังคมทูล
“นายกฯ เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพิจารณา ซึ่ง ป.ป.ช.จะมีหนังสือเพื่อให้แจ้งท่านทราบ เพราะหลักการในเรื่องของการพ้นจากตำแหน่งเรื่องถือครองหุ้นเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องของจริยธรรม และถ้านายกฯ ไม่ทำ ก็จะมี ส.ส. ส.ว. และประธาน กกต. สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ และถ้าหน่วยงานไม่ปฏิบัติงานตาม ก็สามารถถอดถอนได้” นายวิชา กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า เมื่อดูตามข้อมูลแล้ว นายไชยา ระบุว่า ไม่รู้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าที่ไม่ยื่น เพราะใช้กฎหมายเด่าอยู่โดยมีทีมงานระบุว่าไม่ต้องยื่น ซึ่งตรงนี้เปรียบเสมือนว่านายไชยยา ต้องการรักษาเก้าอี้ไว้ ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ การที่นายไชยาฟังคนอื่น ทำให้ตัวเองเสียชื่อเสียง โดยไม่ได้ดูว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งเพื่ออะไร และเป็นความไม่เหมาะสมที่ระบุว่าให้นายไชยา ลาออก แล้วไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคนที่จะมาเป็นหัวหน้าคนแล้วทำตัวไม่น่าเชื่อถือ แล้วลูกน้องจะเชื่อถือได้อย่างไร เพราะถ้านายไชยา สั่งการลงมา พวกตนจะปฏิบัติตามดีหรือไม่
“จริงๆ แล้ว นายไชยาไม่ถนัด และระบุเองว่าไม่ได้อยากมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นทิฐิมานะว่า การที่อยู่ตรงนี้มีชื่อเสียง จึงอยากให้นายไชยา มองย้อนกลับไปว่าหากยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป แล้วประเทศชาติได้อย่างไร ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทไม่ได้มีอารมณ์คั่งค้างมาจากเรื่องซีแอลยา แต่เรามีหลักการ เพราะอยากให้กระทรวงของเราดี ซึ่งถ้าใครมาดี เราก็สนับสนุนเต็มที่ แต่นายไชยา มีนโยบายที่จะทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยมากขึ้น ซึ่งเราเตือนไปว่า เดินผิดทางหรือไม่ แต่กลับโดนตอกกลับมาว่า เป็นเด็กไม่ควรพูด จริงๆ แล้วเราไม่ได้ออกมาไล่ แต่เราบอกเพียงว่าการตัดสินใจเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ควรทำอย่างไร” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เรามีมาตรการ “ไม่ทักทาย ไม่ไหว้ ไม่นับถือ” เพราะเราไม่ได้นับถือคนที่อำนาจเงิน หรือเขามีอำนาจให้คุณให้โทษ แต่เราจะนับถือเขาในฐานที่เป็นคนดี จึงเป็นมาตรการที่เราต้องช่วยกัน และถ้านายไชยา ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ ก็จะเป็นเรื่องเสียหาย เพราะในอนาคตหากมีรัฐมนตรีทำผิด ก็จะเอามาเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งนักกฎหมายจะลำบาก เพราะกฎหมายสูงสุดไม่สามารถแสดงความศักดิ์สิทธิ์ทางบ้านเมืองได้ ดังนั้นพวกเราทุกคนควรช่วยกันรักษาประเทศชาติเอาไว้
“ตอนนี้เราได้รายชื่อของประชาชนที่เข้าชื่อถอดถอนนายไชยา ครบแล้ว เพียงแต่อยู่ในช่วงของการตรวจสอบ เพราะเราต้องคีย์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบเอกสารอีกครั้ง ส่วนการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีแล้วยังเป็นเช่นนี้ ก็น่าหนักใจ เพราะเป็นระบบโควตา โดยนายสมัคร ไม่ได้มีอำนาจจริง จึงลำบากที่เราจะไปคาดหวังว่าเราจะได้รัฐมนตรีที่เป็นคนดี และถ้าสังเกตให้ดีวิธีการคิดของอดีตรัฐมนตรี ก็คือการสั่งย้ายคนที่ทำงานไม่ได้ให้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงขึ้น เพื่อสร้างอาณาจักร เพราะจะสามารถทำอะไรก็ได้ หรือแม้แต่การคอร์รัปชั่น และถ้าเรามัวแต่มาออกข่าวไปวันๆ ว่าอย่างนี้ไม่เป็นธรรม แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะเดินต่อไปอย่างไร ดังนั้นเราจึงคาดหวังว่าคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี จะต้องเป็นคนดี มีความรู้ และสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่เอาเรื่องเศรษฐกิจ หรือการคลังเข้ามาเกี่ยวข้อง” นพ.พงศ์เทพ ระบุ