“แก้วสรร” เผยเหตุลงมติปิดสำนวนคดี “ทักษิณ” เอื้อประโยชน์-ร่ำรวยผิดปกติทั้งหมด สั่งตัดพยานเหี้ยนกว่า 300 ปาก ขีดเส้นตาย 10 เม.ย.นี้ เตรียมชงที่ประชุมใหญ่ส่ง อสส.ฟ้องศาล พ.ค.นี้ แฉเล่ห์ “แม้ว” สั่ง รปภ.ห้ามรับเอกสาร คตส.เด็ดขาด
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง แก้วสรร อติโพธิ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการไต่สวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินโดยเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้อง แถลงที่ประชุม คตส.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติปิดสำนวนไต่สวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทรัพย์สินมาโดยมิสมควร โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติไม่เห็นควรสืบพยานหลักฐานกว่าร้อยรายการ รวมพยานบุคคล 300 กว่าคน และพยานเอกสารอีกหลายรายการ ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้ คตส.สอบพยานเพิ่มเติม เนื่องจากพยานดังกล่าวไม่เกี่ยวพันกับหลักฐาน และทุกปากล้วนไม่ใช่พยานที่จะหักล้างข้อกล่าวหาของ คตส.ได้ สอบไปอย่างไรก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปคดี ดังนั้น การรับฟังพยานจึงไม่มีประโยชน์แม้แต่น้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท และเป็น ส.ส.และส.ว. ขณะนี้สำนวนของ คตส.จึงถือว่ามีหลักฐานสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว
นายแก้วสรร กล่าวว่า นอกจากนี้ คตส.ยังมีมติตามอำนาจในกฎหมายสั่งการให้เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งพยานหลักฐานในครอบครองทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของบริษัท วินมาร์ค ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวให้แก่อนุกรรมการฯ ภายในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยอนุกรรมการจะสามารถศึกษาสำนวนและสรุปผลรายงานไต่สวนเสนอต่อ คตส.ได้อย่างช้าภายในกลางเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งหาก ก.ล.ต.ไม่ส่งเอกสารให้ก็ต้องมาคุยกันว่ามีเหตุผลติดอย่างไร
นายแก้วสรร กล่าวว่า หลักฐานที่ คตส.ต้องการจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อชี้ขาดและแก้ข้อกล่าวหา คือ การกล่าวหาว่าเมื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงฝ่าฝืนกฎหมายถือไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปทั้งทางตรงทางอ้อม โดยใช้ชื่อบุตรหรือพี่น้อง เป็นจำนวนรวม 48.08% หุ้น ทั้งหมดนี้ครอบครัวชินวัตรถือครองมาตั้งแต่ปี 2535 ถูกนำมารวมขายกองทุนเทมาเส็ก เมื่อเดือนมกราคม 2549 โดยมีการถือบริษัท ชินคอร์ป ผ่านบริษัท และจัดการโดยสถาบันการเงินต่างประเทศ 2 ส่วน คือ หุ้นบริษัทชินฯ ในบริษัท แอมเพิลริช กับหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ในบริษัท วินมาร์ค ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยหลักฐานสำคัญที่ คตส.ต้องการ คือ หุ้นชินทั้งสองก้อนนี้ ผู้มีอำนาจได้ว่าจ้างให้ธนาคารยูบีเอส เอจีสิงคโปร์ รับเป็นผู้ดูแล (Custodian)
นายแก้วสรร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ปี 2543-2548 คตส.ได้ตรวจพบหลักฐานสำคัญ คือ พบเอกสารเปิดบัญชีที่ยูบีเอสให้แก่แอมเพิลริช ที่แจ้งรับรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทในการจัดการหุ้นชิน-แอมเพิลริช ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จนต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน 2548 เอกสารเปิดบัญชีนี้จึงได้เปลี่ยนชื่อผู้มีอำนาจเป็น นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณชี้แจงว่า หลังจากตนโอนบริษัท แอมเพิลริช ในธันวาคม 2543 ให้นายพานทองแท้แล้ว ตนก็มิได้ข้องเกี่ยวใดๆ อีก กรรมการบริษัท แอมเพิลริช จะเห็นควรเปลี่ยนชื่อผู้มีอำนาจเมื่อใดก็เป็นเรื่องของการจัดการเมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนเอกสาร ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อนายพานทองแท้ตั้งแต่วันที่รับโอนบริษัทจากตนแต่อย่างใด
“หลักฐานชี้ขาดปัญหานี้อยู่ตรงที่ว่า ในระหว่างปี 2542 ถึง 2548 นั้น มีธุรกรรมหุ้นชิน-แอมเพิลริช ถึง 5 ครั้งอย่างแน่นอน เอกสารธุรกรรมเหล่านี้อยู่ในครอบครองของธนาคารยูบีเอส หากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายพานทองแท้ ผู้เป็นลูกค้าของยูบีเอส ใช้สิทธิขอหลักฐานมาแสดงได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงทางอ้อม คดีในส่วนนี้ก็จะยุติเป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในชั้น คตส.ในทันที ซึ่งคำกล่าวหาของ คตส.ก็ได้ระบุประเด็นนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ชี้แจงตัดบทไว้ห้วนๆ ว่าไม่รู้เห็น โดยไม่ยอมขวนขวายหาหลักฐานชี้ขาดที่ว่านี้มาเลย ส่วน คตส.เองนั้นก็ไม่มีช่องทางได้หลักฐานเหล่านี้ได้ เนื่องจากเป็นความลับลูกค้าที่อยู่ในครอบครองของธนาคารต่างประเทศ” นายแก้วสรร กล่าว
นายแก้วสรร กล่าวว่า หลักฐานที่สำคัญที่ คตส.ต้องการ คือ รายงานของธนาคารยูบีเอส ในวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ที่แจ้งว่าได้มีการโอนหุ้นชินจำนวนหนึ่งมารวมอยู่ในบัญชี เดียวกันกับหุ้นชินฯ อีกจำนวนหนึ่ง และหุ้นทั้งสองเป็นของคนคนเดียวกัน โดยเมื่อนับรวมกันแล้วมียอดเพิ่มขึ้นเกิน 5% ธนาคารฯ จึงแจ้งให้ ก.ล.ต.ทราบตามระเบียบหุ้นชินฯ ทั้งสองก้อนตามรายงานนี้ ตรวจสอบแล้วเป็นของบริษัท แอมเพิลริช และบริษัท วินมาร์ค รายงานดังกล่าวจึงแสดงว่า ธนาคารยูบีเอสมีข้อมูลลูกค้าที่แสดงว่าทั้งสองบริษัทมีเจ้าของคนเดียวกัน นั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเอง
“หลักฐานชี้ขาดปัญหานี้จึงอยู่ที่คำชี้แจงของธนาคารยูบีเอส ที่หากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถขอคำอธิบายจากธนาคารมายืนยันได้ว่า คตส.เข้าใจรายงานของยูบีเอสผิด คดีก็จะยุติได้อีกเช่นกัน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็มิได้ขวนขวายนำมาแสดงเลย ทั้งๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารนั้น” นายแก้วสรร กล่าว
นายแก้วสรร กล่าวว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ คตส.ต้องการคือหลักฐานจากสถาบันการเงินในสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่แสดงได้ว่าเงินค่าหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อ้างว่าขายให้บริษัท วินมาร์ค 1,500 ล้านบาท เมื่อ 2543 นั้น บริษัท วินมาร์ค เอามาจากแหล่งใดบ้าง จากบัญชีธนาคารของผู้ใดในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถ้าได้ข้อมูลนี้เมื่อใดก็จะช่วยชี้ขาดปริศนาตัวตนของวินมาร์คในชั้นไต่สวนของ คตส.ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังต้องการหลักฐานความเป็นมาของหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่าง นายพานทองแท้ และคุณหญิงพจมาน ที่มีการซื้อขายหุ้นระหว่างกัน โดยพบว่านายพานทองแท้ไม่ได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง เพราะมีการส่งเงินปันผลโอนเข้าบัญชีของคุณหญิงพจมาน จึงเชื่อได้ว่านายพานทองแท้ถูกใช้ชื่อแทนบิดามารดาเท่านั้น
“สิ่งที่ คตส.ต้องการ คือ หลักฐานบัญชีเงินฝากที่ใช้สะสมเงินของขวัญของ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร เพราะในการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ได้อ้างว่า น.ส.พิณทองทา นำเงินที่ได้จากการเก็บหอมรอมริบ จากเงินของขวัญที่ผู้ใหญ่ให้ตามโอกาสต่างๆ เอาไปซื้อหุ้น ซึ่ง คตส.ตรวจพบจากบัญชีธนาคารว่า เงิน 367 ล้านบาทที่ใช้ซื้อหุ้นชินคอร์ป เป็นเงินที่โอนมาจากบัญชีคุณหญิงพจมาน จึงเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการแบ่งหุ้นให้ตัวเชิด คนใหม่ถือแทนเท่านั้น” นายแก้วสรร กล่าว
นายแก้วสรร กล่าวว่า สำหรับหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ คตส.ต้องการ คือ หลักฐานจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเช็คเงินปันผล 77 ล้านบาท ซึ่ง คตส.ต้องการทราบว่าไปชำระให้ผู้ไดในมูลหนี้ใด และเหตุใดจึงต้องซอยแบ่งเป็นเช็คใบละไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งในเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า เมื่อขายหุ้นใน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วก็ไม่เกี่ยวข้องทราบเรื่องอีกเลย แต่จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อไปจะส่งเงินปันผลให้พี่ชาย และพี่สะใภ้ตลอด ทำให้เชื่อได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำตัวเป็นผู้ถือหุ้นแทนเท่านั้น
“หลักฐานทั้งหมด ทางฝ่ายครอบครัวชินวัตรได้เพิกเชยไม่นำพยานหลักฐานมาเสนอต่อ คตส.เลย การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธลอยๆ ทุกประเด็น และให้ คตส.สอบพยานหลักฐานเพิ่ม 100 กว่าปาก ซึ่งทุกปากไม่มีผลต่อการเปลี่ยนรูปคดี ประกอบกับพฤติกรรมการเบิกความของนายไปรษณีย์ที่นำจดหมายจาก คตส.ไปส่งที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แต่ไม่มีผู้รับถูกตีกลับทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาในขั้นตอนนี้เป็นเดือนในทุกคดี แต่เมื่อมีการส่งจดหมายของ คตส.แต่ไม่ได้ลงนามว่ามาจาก คตส. รปภ.กลับรับเอกสาร โดยระบุว่าอะไรที่มีชื่อ คตส. นายสั่งไม่ให้รับทุกคดี เมื่อประวัติศาสตร์และพฤติกรรมเป็นอย่างนี้ เราจึงเซ็นตัดพยานโดยที่มือไม่สั่นแม้แต่น้อย” นายแก้วสรร ระบุ