xs
xsm
sm
md
lg

ปิดคดี “ทักษิณ”เอื้อประโยชน์ชงคตส.ลงมติส่งฟ้องพ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สถานที่ทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) วานนี้ (8 เม.ย.) นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการ คตส. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการ ไต่สวนคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินเอื้อประโยชน์ตนเองหรือพวกพ้อง แถลงว่า ที่ประชุมคตส.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติปิดสำนวน ไต่สวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทรัพย์สินมาโดยมิสมควร
โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติไม่เห็นควรสืบพยานหลักฐานกว่าร้อยรายการ รวมพยานบุคคล 300 กว่าคน และพยานเอกสารอีกหลายรายการ ตามที่พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้คตส.สอบพยานเพิ่มเติม เนื่องจากพยานดังกล่าวไม่เกี่ยวพันกับหลักฐาน และทุกปากล้วนไม่ใช่พยานที่จะหักล้างข้อกล่าวหาของ คตส.ได้ สอบไปอย่างไร ก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปคดี ดังนั้นการรับฟังพยานจึงไม่มีประโยชน์แม้แต่น้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท เป็นส.ส.และส.ว. โดย คตส.เห็นว่าสำนวนที่คณะอนุกรรมการฯดำเนินการมีหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
นอกจากนี้คตส.ยังมีมติตามอำนาจในกฎหมายสั่งการให้เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลังทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ส่งพยานหลักฐานในครอบครองทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของ บริษัท วินมาร์คของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวให้แก่อนุกรรมการฯภายในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยอนุกรรมการจะสามารถศึกษา สำนวน และสรุปผลรายงานไต่สวนเสนอต่อ คตส.ได้อย่างช้าภายในกลางเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งหาก กลต.ไม่ส่งเอกสารให้ก็ต้องมาคุยกันว่ามีเหตุผลติดอย่างไร
นายแก้วสรร กล่าวว่า หลักฐานที่ คตส. ต้องการจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อชี้ขาด และแก้ข้อกล่าวหาคือ การที่ คตส.กล่าวหาว่า เมื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงฝ่าฝืนกฎหมายถือไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยใช้ชื่อบุตร หรือพี่น้อง เป็นจำนวนรวม 48.08 % หุ้นทั้งหมดนี้ครอบครัวชินวัตรถือครองมาตั้งแต่ปี 2535 ถูกนำมารวมขายกองทุนเทมาเส็ก เมื่อเดือน ม.ค. 2549 โดยมีการถือ บริษัท ชินคอร์ปฯ ผ่านบริษัท และจัดการโดยสถาบันการเงินต่างประเทศ 2 ส่วนคือ หุ้นบริษัทชินฯใน บริษัท แอมเพิลริช กับหุ้นบริษัท ชินครอ์ป ใน บริษัท วินมาร์ค ที่ เกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยหลักฐานสำคัญที่ คตส.ต้องการคือ หุ้นชินทั้งสองก้อนนี้ ผู้มีอำนาจ ได้ว่าจ้างให้ธนาคารยูบีเอส เอจีสิงค์โปร์ รับเป็นผู้ดูแล ( Custodian )
นายแก้วสรร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ปี 2543-2548 คตส. ได้ตรวจพบหลักฐานสำคัญคือ พบเอกสารเปิดบัญชีที่ ยูบีเอสให้แก่ บริษัท แอมเพิลริช ที่แจ้งรับรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทในการจัดการหุ้นชิน-แอมเพิล ริช ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2542 จนต่อมาในวันที่ 29 มิ.ย. 2548 เอกสารเปิดบัญชีนี้จึงได้เปลี่ยนชื่อผู้มีอำนาจเป็น นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณชี้แจงว่า หลังจากตนโอนบริษัท แอมเพิล ริช ในเดือน ธ.ค. 2543 ให้ นายพานทองแท้แล้ว ก็มิได้ข้องเกี่ยวใดๆ อีก กรรมการบริษัท แอมเพิล ริชจะเห็นควรเปลี่ยนชื่อผู้มีอำนาจเมื่อใด ก็เป็นเรื่องของการจัดการเมื่อเห็นว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนเอกสารไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อนายพานทองแท้ตั้งแต่วันที่รับโอนบริษัทจากตนแต่อย่างใด
“หลักฐานชี้ขาดปัญหานี้อยู่ตรงที่ว่า ในระหว่างปี 2542-2548 นั้นมีธุรกรรม หุ้นชิน-แอมเพิลริช ถึง 5 ครั้ง อย่างแน่นอน เอกสารธุรกรรมเหล่านี้อยู่ในครอบครอง ของธนาคารยูบีเอส หากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายพานทองแท้ ผู้เป็นลูกค้าของ ยูบีเอส ใช้สิทธิขอหลักฐานมาแสดงได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงทางอ้อม คดีในส่วนนี้ก็จะยุติเป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในชั้น คตส.ในทันที ซึ่งคำกล่าวหาของคตส. ก็ได้ระบุประเด็นนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ชี้แจงตัดบทไว้ห้วนๆ ว่าไม่รู้เห็น โดยไม่ยอมขวนขวายหาหลักฐานชี้ขาดที่ว่านี้มาเลย ส่วน คตส.เองนั้นก็ไม่มีช่องทางได้หลักฐานเหล่านี้ได้ เนื่องจากเป็นความลับลูกค้า ที่อยู่ในครอบครองของธนาคารต่างประเทศ”
นายแก้วสรร กล่าวว่า หลักฐานสำคัญที่ คตส.ต้องการ คือรายงานของ ธนาคาร ยูบีเอส ในวันที่ 24 ส.ค.2544 ที่แจ้งว่า ได้มีการโอนหุ้นชินจำนวนหนึ่งมารวมอยู่ใน บัญชี เดียวกันกับหุ้นชินฯอีกจำนวนหนึ่งและหุ้นทั้งสองเป็นของคนคนเดียวกัน โดยเมื่อนับรวมกันแล้วมียอดเพิ่มขึ้นเกิน 5 % ธนาคารฯจึงแจ้งให้ กลต.ทราบตามระเบียบหุ้นชินฯทั้งสองก้อนตามรายงานนี้ ตรวจสอบแล้ว เป็นของบริษัทแอมเพิล ริชและบริษัท วินมาร์ค รายงานดังกล่าวจึงแสดงว่า ธนาคารยูบีเอส มีข้อมูลลูกค้าที่แสดงว่า ทั้งสองบริษัทมีเจ้าของคนเดียวกัน นั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณฯนั่นเอง
“หลักฐานชี้ขาดปัญหานี้จึงอยู่ที่คำชี้แจงของธนาคารยูบีเอสฯ ที่หากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถขอคำอธิบายจากธนาคารมายืนยันได้ ว่า คตส.เข้าใจรายงาน ของ ยูบีเอสผิด คดีก็จะยุติได้อีกเช่นกัน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณฯก็มิได้ขวนขวายนำมาแสดง ทั้งๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารนั้น”
นายแก้วสรรกล่าวว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ คตส.ต้องการคือหลักฐานจากสถาบันการเงินในสิงค์โปร์และฮ่องกง ที่แสดงได้ว่า เงินค่าหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่อ้างว่า ขายให้บริษัท วินมาร์ค 1,500 ล้านบาท เมื่อ 2543 นั้น บริษัท วินมาร์คเอามาจาก แหล่งใดบ้าง จากบัญชีธนาคารของผู้ใดในสิงค์โปร์ ซึ่งถ้าได้ข้อมูลนี้เมื่อใดก็จะช่วยชี้ขาดปริศนาตัวตนของวินมาร์ค ในชั้นไต่สวนของ คตส.ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังต้องการหลักฐานความเป็นมาของหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่าง นายพานทองแท้ และคุณหญิงพจนมาน ชินวัตราที่มีการซื้อขายหุ้นระหว่างกัน โดยพบว่านายพานทองแท้ไม่ได้เป็นเจ้าของที่แท้จริงเพราะมีการส่งเงินปันผลโอนเข้าบัญชีของคุณหญิงพจมาน จึงเชื่อได้ว่า นายพานทองแท้ถูกใช้ชื่อแทนบิดามารดาเท่านั้น
“สิ่งที่ คตส.ต้องการคือ หลักฐานบัญชีเงินฝากที่ใช้สะสมเงินของขวัญของ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร เพราะในการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ได้อ้างว่า น.ส.พิณทองทา นำเงินที่ได้จากการเก็บหอมรอมริบ จากเงินของขวัญที่ผู้ใหญ่ให้ตามโอกาสต่างๆ เอาไปซื้อหุ้นซึ่ง คตส.ตรวจพบจากบัญชีธนาคารว่า เงิน 367 ล้านบาท ที่ใช้ซื้อหุ้น ชินคร์อป เป็นเงินที่โอนมาจากบัญชีคุณหญิงพจมาน จึงเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการแบ่งหุ้น ให้ตัวเชิด คนใหม่ถือแทนเท่านั้น”
นายแก้วสรร กล่าวว่า สำหรับหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ คตส.ต้องการคือ หลักฐานจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเช็คเงินปันผล 77 ล้านบาท ซึ่ง คตส.ต้องการทราบว่าไปชำระให้ผู้ไดในมูลหนี้ใด และเหตุใดจึงต้อง ซอยแบ่งเป็นเช็คใบละไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งในเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงแก้ข้อ
กล่าวหาว่า เมื่อขายหุ้นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วก็ไม่เกี่ยวข้องทราบเรื่องอีกเลย แต่จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อไป จะส่งเงินปันผลให้พี่ชายและพี่สะใภ้ตลอด ทำให้เชื่อได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำตัวเป็นผู้ถือหุ้นแทน เท่านั้น
“หลักฐานทั้งหมด ทางฝ่าย ครอบครัวชินวัตร ได้เพิกเชยไม่นำพยานหลักฐาน มาเสนอต่อ คตส.เลย การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธลอยๆ ทุกประเด็นและให้ คตส. สอบพยานหลักฐานเพิ่ม 100 กว่าปาก ซึ่งทุกปากไม่มีผลต่อการเปลี่ยนรูปคดี ประกอบกับพฤติกรรมการเบิกความของนายไปรษณีย์ที่นำ จดหมายจาก คตส.ไปส่ง ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แต่ไม่มีผู้รับถูกตีกลับทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาในขั้นตอนนี้ เป็นเดือนในทุกคดี แต่เมื่อมีการส่งจดหมายของ คตส.แต่ไม่ได้ลงนามว่ามาจาก คตส. รปภ.กลับรับเอกสาร โดยระบุว่า อะไรที่มี ชื่อ คตส.นายสั่งไม่ให้รับทุกคดี เมื่อประวัติศาสตร์และพฤติกรรมเป็นอย่างนี้เราจึงเซ็นตัดพยานโดยที่มือไม่สั่นแม้แต่น้อย”
วันเดียวกัน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่า กทม. พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของ กทม. ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน คตส. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯแล้ว โดยนายอภิรักษ์ ปฏิเสธที่จะใช้สิทธิ์ในการ ชี้แจงข้อกล่าวหาในวันนี้ เนื่องจากต้องการฟังรายละเอียดของข้อกล่าวหาทั้งหมดและปรึกษากับทีมทนายก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเข้ารับฟังข้อกล่าวหาซึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที นายอภิรักษ์ เปิดเผยว่า ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดข้อกล่าวหาได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการไต่สวน ซึ่งตนจะเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในประเด็นต่างๆ ภายในวันที่ 22 เม.ย. แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมาชี้แจงด้วยตนเองหรือไม่ และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลากิจเพิ่มหรือไม่
ทั้งนี้ไม่หนักใจในข้อกล่าวหา และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น เพราะทุกอย่างทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ส่วนเรื่องการเปิดแอล/ซี และการเปลี่ยนแปลง สถานที่การส่งของก็ถือเป็นรายละเอียดที่เคยชี้แจงไปแล้ว แต่ยังมีบางส่วนต้องชี้แจง เพิ่มเติมตามที่คณะอนุกรรมการสงสัย
กำลังโหลดความคิดเห็น