ชาวลาวในสหรัฐอเมริกาออกทีวีกล่าวหารัฐบาล “ทักษิณ” ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่งตัวผู้ต้องหาคดีก่อความไม่สงบด่านวังเต่า ให้ทางการลาวทั้งที่ศาลไทยมีคำสั่งไม่ให้ส่งตัวกลับไปดำเนินคดีกลับตามคำขอของรัฐบาลลาว เนื่องจากเป็นนักโทษการเมือง
คลิก! ชมวิดีโอคลิป “แสง จิดดาลัย” ให้สัมภาษณ์ (56K) |(256K)
เมื่อเร็วๆ นี้ นายแสง จิดดาลัย ผู้อำนวยการสถานีลาวทีวี ในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ลาวเทเลวิชั่น ในสหรัฐอเมริกา กล่าวหา รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ละเมิดอำนาจศาลกรณีส่งตัวผู้ต้องหาก่อความไม่สงบที่ด่านวังเต่า เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหลบหนีเข้ามาเขตไทย และถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีตั้งแต่กรกฎาคม 2543 กลับให้ทางการลาว ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ทางการลาวได้ขอตัวผู้ต้องหา แต่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้ส่งตัวกลับ และ 2 ปี ต่อมาศาลได้ตัดสินว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีการเมือง ไม่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่อยู่ๆรัฐบาลทักษิณก็จับมือกับรัฐบาลลาวแล้วส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 16 คน คืนให้กับรัฐบาลลาว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย
"ถ้าเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศที่เจริญ ถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำไม่ถูกต้อง อยู่เหนือกฎหมายสามารถเอาผิดกับพ.ต.ท.ทักษิณได้"นายแสง กล่าวและว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่ชอบธรรม สำหรับประเทศทีปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีอธิปไตยเป็นของตัวเอง ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง
กรณีดังกล่าวรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีมติครม. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลของส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอของรัฐบาลลาว โดยในที่ประชุมครม. กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ได้แจ้งให้สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการ ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ออกหมายจับบุคคลสัญชาติลาว รวม 16 คน (ยกเว้น นายสวง แสงสุระ ซึ่งเป็นเพียงผู้เดียวที่ยังต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานีอยู่ และจะพ้นโทษในเดือนพฤษภาคม 2546) โดยได้มีการรับตัวบุคคลสัญชาติลาวทั้ง 16 คน จากเรือนจำกลางอุบลราชธานีมาควบคุมตัวไว้ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ และต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลสัญชาติลาวจำนวน 17 คน พร้อมเอกสารประกอบอันจำเป็นต่อศาลอาญา
ต่อมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่มีอัยการเป็นโจทก์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 ว่า การกระทำของจำเลย ไม่ใช่การกระทำผิดอาญาธรรมดา หากแต่เป็นความผิดในลักษณะในทางการเมืองตามที่จำเลยต่อสู้ กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช 2472 มาตรา 13(3) ประกอบกับมาตรา 14 ฉะนั้น การที่จะอนุญาตให้ขังจำเลยไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดนไปตามคำขอของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจึงมิอาจกระทำได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของโจทก์ปล่อยจำเลยไปนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ทั้งนี้ เหตุการณ์การก่อความไม่สงบในฝั่งประเทศลาวครั้งนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2543 บริเวณด่านวังเต่า เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหลบหนีเข้ามาเขตไทยและถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีตั้งแต่กรกฎาคม 2543 ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 11 คน ลาว 17 คน ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานีไปแล้วในข้อหาลักลอบเข้าเมือง และมีอาวุธสงครามในครอบครอง หลังจากพ้นโทษผู้ต้องหาที่เป็นชาวลาว 16 คน (เสียชีวิต 1 คน ระหว่างถูกคุมขัง) ทางการลาวได้ขอตัวกลับไปดำเนินคดีในสถานะผู้ร้ายข้ามแดนที่ทั้งสองประเทศลงนามให้สัตยาบันร่วมกัน ในการนี้ฝ่ายจำเลยที่เป็นชาวลาวได้คัดค้านคำร้องขอของทางการลาว ซึ่งศาลไทยพิจารณาเห็นว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจึงให้ยกฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าว และไม่ให้ส่งผู้ตัวข้ามแดนตามที่รัฐบาลลาวร้องขอ
ในเวลาต่อมา ชาวลาวทั้ง 16 คนได้พยายามติดต่อขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศที่สามต่อองค์การสหประชาชาติ (UNHCR) มาตั้งแต่ปี 2545 แต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติไม่สามารถให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่จำเลยได้ทันทีหลังจากถูกปล่อยตัวเมื่อธันวาคม 2546 ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อ้างเหตุผลว่าเป็นเพราะกระทรวงต่างประเทศไทยมิได้ให้ความร่วมมือเพียงพอในการดำเนินเพื่อให้ UNHCR คุ้มครองบุคคลเหล่านี้ได้ทันเวลา
จนกระทั่งสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย กลับนำชาวลาวทั้ง 16 คน ส่งตัวให้กับทางการลาวผ่านด่านช่องเม็ก เมื่อ 4 กรกฎาคม 2547
และต่อมาศาลประชาชนแขวงจำปาสัก ประเทศลาว มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ตัดสินให้พิพากษาจำคุกท้าวสวง แสงสุระ หัวหน้าชุดกำลังบุกยึด และพวกรวม 8 คน คนละ 12 ปี จำคุกท้าวคำ ไชยวงศ์ กับพวกรวม 6 คน คนละ 7 ปี และจำคุกท้าวแสง จำปา และท้าวสม ไชยวงศ์คนละ 2 ปี 6 เดือน