xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกเตรียมตั้งเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้คุณภาพป้อนตลาดส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา – สถานการณ์การผลิตและส่งออกผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกยังมีลู่ทางสดใส หลังความต้องการผลผลิตคุณภาพในต่างประเทศยังมีสูง แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกของไทยไม่สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพป้อนตลาดส่งออกได้อย่างเพียงพอ ล่าสุดศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก เตรียมจัดทำโครงข่ายเกษตรกร เพื่อรวมตัวสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพป้อนตลาดส่งออก ลดปัญหาราคาผลไม้ในประเทศตกต่ำ ส่วนกรมส่งเสริมการส่งออกฯ เร่งสัมมนาให้ความรู้ผู้ส่งออกภาคตะวันออกเพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดให้สูงยิ่งขึ้น

วันนี้ (26 มี.ค.) กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่องการจัดการลอจิสติกส์เพื่อการส่งออกผักและผลไม้ หวังกระตุ้นให้ผู้ส่งออกผักและผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก รู้ถึงวิธีการจัดการ เพื่อการส่งออกให้สอดคล้องกับนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงการดูแลผลผลิตทางการเกษตรให้มีความสมบูรณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวได้จัดขึ้นที่โรงแรมมณีจันทร์ จังหวัดจันทบุรี โดยมีกลุ่มผู้ส่งออกในพื้นที่เข้าร่วมสัมมนาเกือบ 100 คน

ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมธุรกิจบริการลอจิสติกส์ กรมส่งเสริมการส่งออก เผยถึงมูลค่าการส่งออกผลไม้ในตลาดโลกว่า เติบโตสูง และมีอัตราที่สูงกว่าปริมาณการส่งออก โดยมีปัจจัยผลักดันสำคัญอยู่ที่การยินดีจ่ายเงินในจำนวนที่มากขึ้น เพื่อการบริโภคผลไม้ตลอดทั้งปีของกลุ่มลูกค้า รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งและการเก็บรักษาความเย็นที่จะทำให้สามารถขนส่งผลไม้ในระยะทางที่ไกลขึ้น และแนวโน้มการเปิดการค้าเสรีทำให้สามารถเข้าถึงตลาดส่งออกได้มากขึ้น

แต่ผลไม้ของไทยมีข้อจำกัดเรื่องการเป็นผลไม้ในเขตร้อน ซึ่งเชื้อโรคบางชนิดสามารถเติบโตได้ ถือเป็นปัญหาที่ขัดกับมาตรการสุขอนามัยของกลุ่มประเทศแถบยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงประเทศนิวซีแลนด์ ที่ถือเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ดี แม้ว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ราคาเฉลี่ยที่ได้กลับลดล ซึ่งหากเกษตรกรและผู้ประกอบการไม่ปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีแต่ลดลงไปเรื่อยๆ โดยในเรื่องของการส่งออกผู้ส่งออกไทยไม่ควรเน้นการส่งออกโดยผู้นำเข้ารายเดิมๆ และเน้นการเปิดตลาดในประเทศที่สามารถขยายตลาดส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนา เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกผลไม้ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่การขาดความเชื่อมโยง ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง รวมทั้งปัญหาเรื่องความไม่สม่ำเสมอด้านคุณภาพของผลไม้ ขณะที่ภาครัฐและเอกชนยังเน้นในเรื่องของปริมาณการส่งขายมากกว่าการสร้างแบรนด์เนมสินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างๆ มากขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทยยังขาดการวิจัย เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลไม้ให้เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด

เปิดยุทธศาสตร์การจัดการลอจิสติกส์ผักและผลไม้

ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำยุทธศาสตร์ ด้านการจัดการระบบลอจิสติกส์สำหรับผักและผลไม้ไทยเพื่อลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ดังนี้ คือการส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ค้าพัฒนาระบบจัดการคุณภาพตั้งแต่การผลิต เก็บเกี่ยว คัดแยกและบรรจุภัณฑ์ โดยมีเจ้าภาพคือกรมวิชาการเกษตร การพัฒนามาตรฐานระดับประเทศสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ พัฒนาให้ผู้ค้าสินค้าเกษตรรู้จักเทคนิคการจัดการลอจิสติกส์เพื่อการส่งออก

โดยมีกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ การเพิ่มช่องทางจำหน่ายผักและผลไม้ไทยในต่างประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นเจ้าภาพ การพัฒนาความร่วมมือกับท่าเรือและท่าอากาศยานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปิดประตูการค้าผักและผลไม้ของไทย

แม้สถานการณ์ผลไม้ ตอ.ยังสดใส
แต่หาเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าคุณภาพได้ยาก

นางรุ่งศรี เฑียรพาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) เผยว่า แม้สถานการณ์การผลิตผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีทิศทางสดใส จากความต้องการสินค้าคุณภาพของตลาดต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ผลิตในประเทศเองกลับไม่สามารถผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ เพื่อการส่งออกได้เพียงพอกับความต้องการ เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกผลไม้ไทยโดยเฉพาะจากภาคตะวันออก ไปยังต่างประเทศที่มีเฉลี่ยเพียง 20% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ที่เหลือ 80% เป็นการบริโภคในประเทศ ซึ่งหากอนาคตสามารถเพิ่มตัวเลขผลไม้คุณภาพที่ส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากกว่าที่เป็นอยู่จะทำให้เกษตรกรของไทยมีรายได้ที่ดียิ่งขึ้น

“ในแง่ของการส่งออกนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลผลิตคุณภาพที่ออกสู่ตลาด เพราะต่างประเทศเขารอคอยผลไม้จากไทยตลอดเวลา แต่ปัญหาคือเราผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพได้น้อยมาก ดังนั้น ที่ผ่านมาศูนย์ส่งเสริมการเกษตร จึงได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาถึงแนวทางแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าเราควรจัดทำเครือข่ายเกษตรกร เพื่อรวบรวมเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้แต่ละชนิดให้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของเรา ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าแหล่งผลิตผลไม้แต่ละชนิดอยู่ที่ใดบ้าง และขณะนี้เรามีสมาชิกมากกว่า 60 รายที่พร้อมจะผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพป้อนตลาดต่างประเทศให้กับเรา”


ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกไปยังต่างประเทศที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะดียิ่งขึ้น เห็นได้จากจำนวนลัง หรือแพกเกจจิ้งเฮาส์ ที่เปิดขึ้นเป็นจำนวนมากในภาคตะวันออก เพื่อรอรับผลผลิตของเกษตรกรที่ออกจากไร่สำหรับส่งไปขายยังต่างประเทศ หรือแม้แต่กระจายผลผลิตไปยังผู้รับซื้อในประเทศ ดังนั้น หากเกษตรกรสามารถผลิตผลไม้ที่ได้คุณภาพที่ตรงตามความต้องการของตลาด จะทำให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้
กำลังโหลดความคิดเห็น