xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ท่องเที่ยว ชร.ทำประวัติกะเหรี่ยงคอยาว หนีข้อครหา “สวนสัตว์มนุษย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ตำรวจท่องเที่ยวเชียงราย เตรียมเข้าทำทะเบีบนประวัติกะเหรี่ยงคอยาวในพื้นที่ หลัง UNHCR ชี้เป็นสวนสัตว์มนุษย์ฯ ด้านเจ้าของศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรนางแลฯ ศูนย์รวมกะเหรี่ยงคอยาวเมืองพ่อขุนฯ ยัน ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เคยกดขี่ ชี้เชียงใหม่ก็มีนายทุนใช้กะเหรี่ยงคอยาวดึงดูดนักท่องเที่ยวถึง 4 แห่ง กลับไม่เป็นปัญหา

พ.ต.ต.พัฒนชัย ภมรพิบูลย์ สว.ตำรวจท่องเที่ยว จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ตามที่ได้เข้าไปตรวจสอบชาวกะเหรี่ยงคอยาว ที่ศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร ศูนย์รวมหมู่บ้าน 5 ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ ปะด่อง ปะหล่อง กะเหรี่ยง ตั้งอยู่เลขที่ 262 ม.6 บ้านป่าอ้อ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย หลังจากมีข่าวทางสื่อมวลชนว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ (UNHCR) ระบุว่ามีการลักลอบนำชาวกะเหรี่ยงคอยาว มาจัดแสดงในลักษณะเป็นสวนสัตว์มนุษย์ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น

ขณะนี้ตนได้เตรียมทีมงานเข้าไปขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เพื่อเข้าไปทำประวัติ
เด็กๆ ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงคอยาวเหล่านี้ ซึ่งมีกว่า 10 คน และไม่เคยมีการทำประวัติมาก่อน เพื่อความปลอดภัยหากมีอาชญากรรมใดๆ เกิดขึ้นจะได้ทราบ และป้องกันปัญหาหลายอย่างที่จะตามมา เนื่องจากตำรวจท่องเที่ยวจะต้องดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเต็มที่ เพราะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวกันมาก และได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการแล้ว

ด้านนายอนันต์ เรือนสังข์ เจ้าของกิจการศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร ศูนย์รวมหมู่บ้าน 5 ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ ปะด่อง ปะหล่อง กะเหรี่ยง ตั้งอยู่เลขที่ 262 ม.6 บ้านป่าอ้อ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และที่ผ่านมามีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มาตรวจสอบบ่อยๆไม่เคยมีปัญหา

ปัจจุบัน ที่ศูนย์ฯ มีชาวกะเหรี่ยงคอยาว และปะหล่อง ซึ่งเป็นต่างด้าวมี 23 คน และมีเด็กๆที่เป็นบุตรติดตามมา 8 คน ทารกที่เกิดใหม่ในโรงพยาบาลเชียงราย อีก 2 คน ที่ไม่มีสัญชาติ ซึ่งได้จ้างงานในอาชีพเพาะปลูกกับเลี้ยงสัตว์ มีเงินเดือน คนละ 4,500 บาท ส่วนที่อยู่อาศัย ได้ให้คนเหล่านี้ปลูกอยู่กันเอง ให้อยู่แบบธรรมชาติเดิม ไม่มีไฟฟ้าใช้

ส่วนเผ่าอื่นๆ ที่เป็นชาวไทยภูเขา เช่น ชาวไทยอาข่า มี 30 คน,เย้า 10 คน,ลาหู่ 60 คน เป็นการขอเข้ามาอยู่ในพื้นที่เอง บางคนออกไปทำงานข้างนอก หรือขายของที่ระลึกในพื้นที่บ้าง เพราะตนมีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ราว 300 ไร่รองรับ รวมแล้วในพื้นที่ตนมีประชากรชนเผ่าอาศัยอยู่ 150 คน

“ผมทำการเกษตรมานาน เป็นคนในพื้นที่ อดีตเคยขายที่ดินได้ จึงมีเงินก้อนหนึ่ง มาพัฒนาพื้นที่เมื่อ 3 ปีก่อน จนเริ่มเป็นที่รู้จัก ส่วนการเก็บค่าบำรุงสถานที่ก็ไม่แพง คนไทยบางครั้งหากเป็นเด็ก ที่มาทัศนศึกษา ก็ไม่คิดเงิน หรือเก็บแค่คนละ 10 บาท หากเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยคิดรายละ 150 บาท ชาวต่างประเทศ คิดรายละ 300 บาทเท่านั้น การที่มีข่าวออกไปว่าศูนย์ฯมีรายได้วันละนับ 1 แสนบาท จึงไม่จริง ที่จริงมีเพียงประมาณ 1 หมื่นบาทต่อวัน ซึ่งรายได้ที่เก็บก็นำมาบำรุงสถานที่ จ้างเป็นเงินเดือนให้กับชาวกะเหรี่ยง ปะหล่อง คนละ 4,500 บาท รวม 23 คน ก็เกือบแสนบาทต่อเดือน ขณะที่ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่อีกหลายสิบคน ไม่ได้เสียค่าจ้างแต่ขายของที่ระลึกเท่านั้น”

นายอนันต์ ย้ำว่า การเปิดศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรฯของตนนั้น เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวเชียงราย เพราะนักท่องเที่ยวที่จะมาศึกษาวิถีชีวิตของ 5 ชนเผ่า ก็ได้มาพักตามโรงแรมต่างๆในเมือง-ท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นด้วย ตนยืนยันว่าไม่ได้เอาเปรียบชาวกะเหรี่ยง หรือทำสวนสัตว์มนุษย์ เพราะที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีการเปิดลักษณะแบบตน 4 แห่ง มีชาวกะเหรี่ยงคอยาวด้วยก็ไม่เห็นเป็นไร หรือหากเปรียบกับต่างประเทศ ที่จัดให้นักท่องเที่ยวไปชม ชาวพื้นที่เมืองก็เห็นทำกันก็ไม่เห็นมีปัญหา ซึ่งตนทำถูกกฎหมายทุกอย่าง พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

“ก่อนหน้านี้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ก็เคยมาตรวจสอบตนหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ได้ว่าอะไร”

แหล่งข่าวจาก ททท.ภาคเหนือ เขต 2 กล่าวว่า ททท.เชียงราย ไม่ได้มีการโปรโมตการท่องเที่ยวกะเหรี่ยงคอยาว ที่ ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ถึงแม้จะทราบว่าเปิดมาถึง 3 ปี เพราะผู้ประกอบการได้นำกะเหรี่ยงคอยาวเข้ามาอยู่ในพื้นที่เอง และมีการให้มาทำการเกษตร-เลี้ยงสัตว์ ทาง ททท.จึงไม่ได้มุ่งว่าเป็นการท่องเที่ยว แต่ก็ทราบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวกันพอสมควร ซึ่งจะตรวจสอบดูอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น