xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการค้านแก้ รธน.เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการดันแก้ รธน.50 ทั้งฉบับ หนุนแนวยกร่างฉบับปี 40 มาเป็นต้นแบบ ดักคออย่าแก้บางมาตรา เพื่อแลกผลประโยชน์ทางการเมือง จะทำให้เกิดการเผชิญหน้าขัดแย้งในสังคม ฟันธงแนวโน้มการเมืองไทยนับจากนี้ จะมีแต่การทะเลาะเรื่องระบอบการปกครอง โดยใช้ ปชต.และสิทธิเสรีภาพ ปชช.เป็นเดิมพัน พร้อมออกแถลงการณ์แนะทำประชาพิจารณ์ให้เป็นฉันทามติของสังคม

วันนี้ (30 มี.ค.) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้มีการจัดเสวนา ในหัวข้อ “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” โดย นายสมเกียรติ ตั้งนะโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า เนื่องจากมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและบรรยากาศทางการเมืองเป็นแบบอำเภอใจพอสมควร อย่างกรณี นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯพูดกับนักข่าวว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยไม่ต้องถามฝ่ายค้านและจะไม่ทำประชามติ ลักษณะนี้ทำให้กลับไปสู่การเมืองเผด็จการรัฐสภาอีกครั้ง

จึงขอเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะ 1.จากเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 เราได้ 30 อรหันต์ มาร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 2.รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นขวาพิฆาตขวาคนข้างบนเล่นคนข้างบนให้ประชาชนเป็นเหยื่อไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น และ 3.รัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นฉบับอุบาทวาธิปไตย แปลว่าอำนาจทางการเมือง 3 ส่วนก้าวก่าย ทับซ้อน มันไม่คานดุลกัน

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวโน้มทางการเมืองไทย 4-5 ปี ข้างหน้าจะมีเหตุการณ์ทะเลาะกันหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องระบอบการเมืองการปกครอง คือ ระบอบประชาธิปไตยไม่เสรี และระบอบเสรีไม่ประชาธิปไตย แม้ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตย แต่ในแง่ระบอบนิติธรรมกลับไม่เสรี เป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ประชาชนอยากย้อนกลับไปสู่ระบอบทักษิณ

ซึ่งคู่ชกของเขา คือ ระบอบเสรี แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างพวก คมช.คือ ปฏิเสธความเสมอภาคของประชาชน จึงให้คนจำนวนหนึ่งมาร่างรัฐธรรมนูญ ให้คนจำนวนหนึ่งมาปกครอง แล้วบอกตัวเองอยากแก้เรื่องเสรีภาพ หลักนิติธรรม เป็นระบอบที่อ้างเสรีแต่ประชาธิปไตยไม่ให้ ทำให้พรรคการเมืองถูกจำกัด และทำให้อ่อนแอลง นอกจากนี้ การเมืองไทยจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเครือข่ายอำนาจราชการที่มีอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกว่าผู้มีอำนาจนอกระบบ และเครือข่ายทักษิณ ซึ่งก็ยังมีการต่อสู้กันระหว่าง 2 กลุ่ม และใช้ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นเดิมพัน

อย่างไรก็ตาม หากดูรายละเอียดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการเมืองภาคตัวแทนไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับการเมืองภาคประชาชน แก้ให้นักการเมืองได้อำนาจแต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย กลับสู่กรอบเก่า แล้วมีการนำอำนาจประชาชนไปแลกเปลี่ยนกัน

“จะเห็นได้ว่ามีการเอารัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ไปแลกไม่ให้มีการแก้ไข ทั้งที่มาตราดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจริงแล้วก็มีกฎหมายอื่นที่ควรแก้มากกว่านี้อย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง จะเห็นว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญก็จะทำโดยเร่งรัดรวดเร็ว โดยบอกว่าไม่อยากรบกวนประชาชน เห็นได้ชัดว่า ประชาชนกลายเป็นเบี้ยให้คุณแลกอีกแล้ว สิ่งที่ตนวิตกคือแก้แบบนี้ประชาชนจะลงเอยแบบซวย 2 ต่อ คือได้ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบแบบไม่เสรี ดังนั้นต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข ไม่ใช้เอาอำนาจประชาชนไปต่อรอง ไม่ใช่แบบ 2 เครือข่ายนึกอยากทำอะไรก็ทำ”

ส่วน นายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองจะเกิดปฏิปักษ์ของ 2 ฝ่าย ซึ่งอยู่ร่วมกันไม่ได้ คือ กลุ่มหนึ่งมุ่งสนับสนุนอมาตยาธิปไตยใหม่ คือ ระบอบรัฐสภาที่มีอยู่แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมเทวดาอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในรูปองค์กรอิสระที่เข้ามาควบคุม คือ ประชาชนไม่ได้มีอำนาจ แต่มีกลุ่มคนที่มีอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งคอยควบคุมนักการเมือง บทบาทที่เราเห็น คือ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550 และกลุ่มที่ 2 พวกที่มาจากพรรคการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะสร้างช่วงชิงอำนาจทางการเมืองให้เกิดขึ้น เห็นได้ว่ามาตราที่พรรคพลังประชาชนเสนอแก้ไขเพื่อให้อำนาจนักการเมืองเพิ่มสูงขึ้น ให้นักการเมืองอยู่ภายใต้การเลือกตั้ง ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มจะเป็นภาพการเมืองไทยต่อไป

สำหรับรัฐธรรมนูญไทย 2550 มีลักษณะเด่น 3 ด้าน คือ มาจากและปกป้องรัฐประหาร ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าระบอบอมาตยาธิปไตยที่ไร้การตรวจสอบ ซึ่งอำนาจนี้ปราศจากการตรวจสอบ กำกับไม่มีบทบัญญัติไหนที่บอกว่าหากเลือกมาผิดพลาดผู้เลือกเข้ามาต้องรับผิดชอบอย่างไร ตรงนี้ต้องระวัง

“จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนอยู่กับระบอบอมาตยาธิปไตยใหม่ ตั้งแต่เกิดขึ้นก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สมานฉันท์ เป็นการปิดประตูตีแมว ไม่เหมาะกับสังคมไทย ซึ่งอนาคตหากไม่แก้เราจะมีระบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองหน่อมแน่ม เพราะพรรคการเมืองพร้อมที่จะถูกยุบได้ทุกเมื่อ พรรคการเมืองมีพลังในการต่อรองน้อย หลักนิติธรรมจะถูกทำลายต่อไป เพราะการทำรัฐประหารได้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 309

แต่หากมีความพยายามจะแก้อย่างแนวทางที่พรรคพลังประชาชนทำอยู่ คือ ทำให้มีแนวโน้มในการเผชิญหน้ามากขึ้นระหว่างกลุ่มพันธมิตรรากหญ้า และกลุ่มพันธมิตรที่มีผู้นำเป็นคนชนชั้นกลาง และจะทำให้การเผชิญหน้าและการปฏิปักษ์อาจเกิดขึ้น หรือไม่ก็อาจเกิดการแลกผลประโยชน์เกิดขึ้น อาจยอมให้แก้ไขเรื่องอำนาจทางการเมือง แต่ไม่มีการแก้ไขในมาตรา 309

นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นการตัดตีนให้เท่ากับเกือกมากกว่า แต่รัฐธรรมนูญที่ย้อนยุคระบบราชการไป 20 ปี ก็ทำให้เกิดระบบราชการที่พยายามวิ่งหาอำนาจ ทำให้กลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่เติบโตมาต้องหยุดชะงัก และจะเกิดการปะทะกัน หากปล่อยไประบบราชการจะใช้อำนาจรุกรานคนที่อ่อนแอคือคนจน

ซึ่งจะทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น และนำไปสู่เดตล็อกทางการเมือง ส่วนทางออกไม่ใช่ทำเพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่พรรคพลังประชาชนทำ แต่อยากให้มองไกลๆ ว่า หากให้ผ่านพ้นไปต้องสถาปนาความคิดทางการเมืองใหม่ ว่า เป้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้ไขอย่างเดียวแต่เราต้องพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังได้มีการออกแถลงการณ์ เรื่อง “การไปให้พ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” ว่า แม้จะมีความคาดหวังจากบางฝ่ายว่าการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2550 และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อธ.ค.ที่ผ่านมาจะทำให้สังคมไทยสามารถหวนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างมั่นคง แต่ปรากฏว่า ความคาดหวังดังกล่าวได้ล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งความล้มเหลวนี้เป็นที่คาดหมายกันมาล่วงหน้าแล้ว และรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย เนื่องจากโครงสร้างและเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมีปัญหาความชอบธรรมอย่างมาก และขณะนี้ก็มีอีกด้านหนึ่งที่พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเกิดคำถามว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคพวกหรือไม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง

ดังนั้น หากเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตรา ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น และความขัดแย้งก็จะขยายตัวสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่อยากที่จะหลีกเลี่ยงที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อให้ให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐสภา และพรรคการเมืองมีความอ่อนแอในระยะยาว โดยให้เหล่าอำมาตย์จากระบบราชการเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีความเห็นว่า แนวทางในการจะก้าวให้พ้นไปจากรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างสันติ คือ 1.การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ที่มา เจตนารมณ์และโครงสร้าง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงมาตรา หากต้องมีการแก้ไขเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับ โดยนำเอาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นต้นแบบในเชิงกระบวนการ 2.การจะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายจะเกิดขึ้นได้จากกระบวนการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง ด้วยการทำประชาพิจารณ์อย่างแท้จริงว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นจากฉันทามติของสังคมไทยและเป็นฐานความชอบธรรมที่ทำให้รัฐธรรมนูญดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง




กำลังโหลดความคิดเห็น