xs
xsm
sm
md
lg

มติวิปรัฐบาลแก้ ม.237 หนียุบพรรค-ถูกตัดสิทธิ์อ้างเร่งด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิปรัฐบาลเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ พูดชัดเร่งแก้ไขเฉพาะ มาตรา 237 หนียุบพรรค-กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิ์การเมืองก่อน อ้างหน้าตาเฉยเรื่องเร่งด่วน ส่วนเรื่องอื่นว่ากันทีหลัง

วันนี้ (24 มี.ค.) นายชัย ชิดชอบ ประธานวิปรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมวิปรัฐบาล ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นพ้องต้องกันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อความเป็นธรรมให้กับ ส.ส. ส.ว และพรรคการเมือง โดยจะมีการเสนอแก้ไขในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขในหลายมาตรา แต่จะแก้ในบางเรื่องที่มีความจำเป็นมากเช่นมาตรา 237 ต้องเร่งทำเพราะว่าจะได้ช่วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีทางออก

ประธานวิปรัฐบาล อ้างว่า ที่ผ่านมา นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ระบุว่า ไม่มีทางออก เพราะกฎหมายบอกให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรค เราจึงพยายามเสนอแก้เพื่อให้กฎหมายมีทางออก และพยายามจะแก้ไขไม่ให้กระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อประโยชน์ทุกพรรคการเมืองและให้เดินหน้าไปได้ และไม่ให้เกิดการแตกความสามัคคี ส่วนประเด็นมาตรา 237 จะต้องปรับเปลี่ยนถ้อยคำใดบ้างนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาอยู่แต่เราจะพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด

นายชัย ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีที่มีการมองว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพรรคการเมืองว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เขียนกันไว้ทำให้แยกเป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่ได้คิดแก้เพื่อเรื่องยุบพรรคแต่บุคคลทำผิด เขาจับบุคคล เช่น ปล้นทรัพย์ ถ้าไปหลายคนเรียกปล้นทรัพย์ แต่ถ้าไปคนเดียวอาจเรียกลักทรัพย์เท่านั้น มันมีทางออกได้ การแก้ไม่ได้หาทางออกเพื่อวันนี้วันเดียว หรือช่วยพรรคพลังประชาชน ชาติไทย หรือมัชฌิมาฯ หรือแม้แต่อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แต่เป็นการหาทางออกไว้เพื่อวันข้างหน้า ให้ กกต.ได้สามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ายุบพรรคจะต้องมีทางออกอย่างไร

นายชัย กล่าวว่า เรื่องยุบพรรคก็เกิดมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยแล้ว ที่คนต้องว้าเหว่ มันไม่ได้เพิ่งเกิด ส่วนที่กังวลว่าจะเป็นช่องโหว่ให้คนในพรรคไปทำนอกลู่นอกทางแล้วมาอ้างว่าทำคนเดียว ในอนาคตก็ต้องวางกฎเกณฑ์เอากฎหมายอาญามาใช้บังคับให้หนักขึ้น เพิ่มโทษจาก 5 ปี เป็น 10 ปี 15 ปี หรือจนแก่ตายก็วางได้ ให้ลงโทษกันเป็นรายบุคคลไปเลย เพราะการทำผิดมันตัวบุคคคลที่ต้องการได้เป็น ส.ส. และไม่มีพรรคไหนสั่งให้ไปทำผิด พรรคเป็นเพียงที่อยู่ชั่วคราวเท่านั้นเพราะเห็นบางคนก็ไปอยู่พรรคอื่น

เมื่อถามว่ากังวลเกมในสภาเรื่องแก้มาตรา 237 หรือไม่ นายชัยกล่าวว่าไม่น่าจะหนัก ไม่ใช่เพราะเสียงเราเยอะกว่า แต่เพราะเราไม่ได้ทำเฉพาะว่าจะมีการยุบพรรคพลังประชาชน เพราะดูแล้วมันน่าจะยุบกันก่อนเพราะเหตุการณ์บ้านเมือง เดี๋ยวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะออกมาโย้วๆ อีกจะอยู่ได้อีกสักกี่วันก็ไม่รู้ผู้แทนฯ

เมื่อถามถึงกรณี กกต.ให้ใบเหลือง นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.เขต 3 บุรีรัมย์ พรรคพลังประชาชน นายชัยกล่าวติดตลกว่าได้แค่ใบเหลืองไม่มีอะไรหรอก ได้เข้ามาคืนตั้งแต่ในมุ้งแล้ว มันไม่มีอะไรชาวบ้านเลือกมาคะแนนเป็นแสนแล้วจะไปห่วงอะไร แต่เรื่องนี้รู้ล่วงหน้าแล้วว่าอาจจะถูกใบแดงด้วยซ้ำเพราะกกต.บุรีรัมย์ตั้งธงไว้เลยว่าจะเอาออกหมดทั้ง 9 คน ส่วนใครเป็นคนตั้งธงนั้นคือคนที่มีอำนาจซึ่งไม่ใช่รัฐบาลเพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจ ไปไหนก็ถูกด่า คนที่มีอำนาจคือหน่วยงานอิสระ

ซักว่าคนที่มีอำนาจคือคนที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า “ไม่มี อย่าแหย่ฆ่าคนแก่เลย”

ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิปต้องการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่เร่งด่วนคือมาตรา 237 เพราะบางครั้งที่กรรมการบางพรรคไปทำอะไรแล้วให้มีผลต้องให้ทั้งพรรคนั้นถูกยุบซึ่งมันไม่เคยมีประเทศไหนในโลกที่เขาเขียนแบบนี้ เพราะฉะนั้นต้องเปิดช่องให้วินิจฉัยว่าความผิดแบบนี้เป็นเฉพาะบางบุคคลหรือไม่ และควรเกี่ยวโยงกับทางพรรคหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาประเด็นอื่นที่อาจมีการแก้ไขอีก คือ มาตรา190 ที่ยังเป็นอุปสรรค คือตามที่ระบุว่าสัญญาต่างๆ ที่ต้องไปทำแล้วมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนหรืองบประมาณของประเทศ ต้องให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชาพิจารณ์จากนั้นนำเข้ารัฐสภา ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนนำมาเพื่อรัฐสภาอย่างเดียวหากสภาเห็นชอบก็ดำเนินการได้เลย รวมทั้งมาตรา 266 ที่ห้ามไม่ให้ ส.ส. ส.ว.ไปก้าวก่ายกับข้าราชการประจำทั้งทางตรงทางอ้อม เพื่อประโยชน์ของตนของพรรค หรือผู้ใด แต่คำนี้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้นิยามว่าหมายถึงอะไรซึ่งอาจส่งผลไปยัง ส.ส. ส.ว.ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและต้องการให้ประสานงานไปยังอบต. ก็ทำไม่ได้ เพราะอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญและมีโทษถึงอาจสิ้นสภาพ ส.ส.ด้วย

นายสามารถ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำประชามติตามที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เสนอในรายการสนทนาประสาสมัครเพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้นในรัฐธรรมนูญบัญญัติช่องทางไว้หลากหลาย อาทิ ให้ ครม.สามารถเสนอ หรือ ส.ส.บวก ส.ว.หรือประชาชนเสนอ 5 หมื่นชื่อ ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริงการไปทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนเขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะไปใช้สิทธิ์เหมือนการทำประชามติครั้งที่ผ่านมาเพราะคนที่สนใจจะเป็นคนกลุ่มหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มก็มองว่าเป็นภาระของเขา อย่างไรก็ตามอาจจะต้องมีการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

“เราจะใช้ช่องทาง ส.ส.1 ใน 5 ของ 480 คือ 96 คน แต่เวลาเสนอเข้าสู่สภาฯ จะไม่ใช่เฉพาะส.ส. ต้องมี ส.ว.มาด้วย โดยรับหลักการวาระที่ 1 ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 315 คน ของสองสภา ซึ่งใช้วิธีลงคะแนนแบบเปิดเผยโดยการขานชื่อซึ่งต้องได้กึ่งหนึ่งคือ 315 ส่วนการพิจารณาวาระสองใช้เสียงข้างมากธรรมดาและวาระต้องมากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ มากกว่า 316 ขึ้นไป” นายสามารถ กล่าว

เมื่อถามว่า แสดงว่า การทำประชามติก็ไม่จำเป็น นายสามารถ กล่าวว่า ถ้าเฉพาะประเด็นนี้เราคงไม่ต้องขอประชามติและแม้แก้ทั้งฉบับก็คงใช้วิธีการทำความเข้าใจกับสาธารณชนไปเรื่อยๆ ให้รู้ว่าประเด็นที่จะแก้มีเหตุมีผลอย่างไร

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังประชุมว่าประเด็นการตั้งอนุกรรมการหรือไม่นั้น ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าการเสนอกฎหมายจะต้องให้แต่ละพรรคไปหารือกันก่อนจะแก้อย่างไรประเด็นไหนนั้นก็ต้องหารือกันโดยเฉพาะมาตรา 237 และกฎหมายอื่นๆ พรรคพลังประชาชนจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษากันในที่ประชุมพรรคในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ว่าเห็นควรแก้ไขอย่างไรประเด็นไหน ซึ่งแต่ละพรรคก็จะรับไปดูอาจจะมีการกำหนดเวลาเรื่องนี้ก็ต้องดูที่มติพรรค ขณะเดียวกันการผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้เข้าสู่ที่ประชุมสภานั้นตนเห็นว่าอย่าเพิ่งไปกำหนดเดทไลน์ต้องรอการคุยกันก่อน

“วิปได้คุยกันเรื่องของความเสี่ยงที่จะนำมาตรา 237 มาแก้ไขโดยมีเหตุผลว่าเราไม่ได้แก้เพื่อใครคนใด เพราะกฎหมายนี้มีหลายพรรคไปลดกรรมการบริหารพรรคเหลือแค่ 19 คนจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคชาติไทยเอง ไม่ได้แก้ไขเพื่อผม ไม่ได้แก้ไขเพื่อใคร ดังนั้น เรื่องนี้ความชัดเจนจึงต้องไปคุยกันในพรรค ซึ่งวิปก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายชูศักดิ์ กล่าว

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น