ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- นักธุรกิจภาคเหนือ ประสานเสียงในการสัมมนาการพัฒนาลอจิสติกส์ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ชี้ต้องเร่งเชื่อมโยงการค้า ลงทุนและท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคน้ำโขง ให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยการตั้งศูนย์กลางการพัฒนาทุกกลุ่ม ทั้งโครงข่ายคมนาคมในประเทศ การพัฒนาศักยภาพบุคคลากร ที่สำคัญเพื่อให้การท่องเที่ยวบรรลุเป้า Visa Group ควรเกิดได้แล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ จัดการสัมมนาหัวข้อ “การพัฒนาลอจิสติกส์ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง : การจัดการ การค้า และการขยายตลาด” (Logistics Development in The Greater Mekong Sub-region : Managing Trade and Expanding Makets) ที่โรงแรมแชง-กรีลา เชียงใหม่ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 175 ปีความสัมพันธ์ไทย-อเมริกัน โดยได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา เป็นต้น รวมทั้งตัวแทนจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100 คน
นายเอริก จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ได้ก่อให้เกิดการขยายตัว พร้อมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศนี้อย่างมาก เพราะแต่ละประเทศต่างก็เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจการค้า
รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจสาขาใหม่ที่เรียกว่า ลอจิสติกส์ ซึ่งสามารถจัดการการเคลื่อนย้ายสินค้า ข้อมูล การขนส่งผู้โดยสารข้ามแดน ที่จะเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยที่สหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้การริเริ่มของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายและประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ (คสศ.) กล่าวว่า มีความจำเป็นที่ประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เท่าทันตอบสนองการขยายตัวทางการค้าการลงทุน ที่เพิ่มมากขึ้นตามการพัฒนาลอจิสติกส์
สำหรับแนวทางการพัฒนา เห็นว่าแต่ละประเทศจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตัวเองให้เป็นที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการกำหนดด้วยว่า ทักษะใดที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศของตัวเอง และทักษะด้านใดที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องพัฒนาร่วมกัน
ทั้งนี้เสนอว่าเพื่อให้สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตอบสนองการพัฒนาในอนุภูมิภาคนี้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ควรจะต้องมีการองค์กรหรือหน่วยงานกลาง เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกันของกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้
ด้าน นายสมชัย ศิริสุจินต์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเครือข่ายธุรกิจว่า การพัฒนาลอจิสติกส์ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เท่ากับเป็นการขยายโอกาสในการสร้างธุรกิจและการค้าการลงทุนไปพร้อมกันด้วย อย่างไรก็ตามโจทย์ที่สำคัญก็คือจะสามารถสร้างธุรกิจได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขยายการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคแห่งนี้สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ควรจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์กลาง ที่รวบรวมข้อมูลในเชิงการค้าการลงทุน รวมทั้งกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของทุกประเทศไว้ เพื่อให้นักธุรกิจสามารถสืบค้นและศึกษาได้ก่อน ที่จะพิจารณาตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศหนึ่งประเทศใด
ขณะเดียวกัน เห็นว่าน่าจะต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับผู้ซื้อและผู้ขายในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เพื่อให้ทราบว่าผู้ค้ารายใดต้องการซื้อหรือขายอะไร ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการติดต่อทำธุรกิจและขยายการค้าการลงทุนร่วมกัน
ด้านนายราชันย์ วีระพันธ์ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการว่า การพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อการสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวและการบริการด้วย เพราะการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศต่างๆ ในกลุ่มอนุภูมิภาคนี้จะสามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เห็นว่า หากโครงข่ายเส้นทางของแต่ละประเทศเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงแล้ว ก็จะทำให้สามารถเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน และสร้างแรงดึงดูดใจจากนักท่องเที่ยวได้มากกว่าเดิมด้วย โดยเฉพาะจากการที่ประเทศในกลุ่มนี้มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ร่วมกันมายาวนานนับตั้งแต่อดีต จึงน่าจะช่วยสร้างความน่าสนใจทางการท่องเที่ยวได้มากกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน ยังจะเป็นการสร้างจุดขายให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติด้วยในเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวครั้งเดียวแต่สามารถท่องเที่ยวได้ทุกประเทศในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มมากขึ้น เพราะมีจุดขายที่น่าสนใจและราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลจากการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมของทุกประเทศในอนุภูมิภาคแห่งนี้จะส่งผลให้การท่องเที่ยวและการบริการมีความน่าสนใจดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น แต่เห็นว่ายังมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคขวางกันการพัฒนาการท่องเที่ยวและการบริการดังกล่าวนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง ที่ปัจจุบันยังคงมีความยุ่งยากมาก ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร
ดังนั้น จึงเสนอว่าทุกประเทศควรจะร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้ โดยเสนอว่าน่าจะมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มีการใช้ Visa Group ของประเทศในอนุภูมิภาคในลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางผ่านเข้าออกประเทศในอนุภูมิภาคนี้ได้ง่ายและสะดวกกว่าปัจจุบัน ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการได้เป็นอย่างดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นว่าทุกประเทศในอนุภูมิภาคแห่งนี้ควรจะร่วมมือกันในการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและทำการตลาดในต่างประเทศร่วมกัน โดยคณะกรรมการดังกล่าวนี้อาจจะมีคณะกรรมการทั้งระดับรัฐบาลและภาคเอกชน ซึ่งเชื่อว่าหากมีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาโดยความร่วมมือของทุกประเทศ จะส่งผลดีต่อการทำการตลาดและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว มากกว่าที่แต่ละประเทศจะแยกกันทำ