xs
xsm
sm
md
lg

BOI-SIPA ดันตั้ง “Software Network” หนุนซอฟต์แวร์ล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – BOI ผนึกกำลัง SIPA และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ระดมความเห็นวางแนวทางจัดตั้ง “Software Network” กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตั้งเป้าพัฒนาและผลิตบุคลากรคุณภาพด้าน IT ป้อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ พร้อมเล็งรวมกลุ่มผู้ประกอบการตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุนของกลุ่มจังหวัดล้านนา โดยให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง

วันนี้ (24 ม.ค.) นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “การสร้างเครือข่าย Software Network ของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” โดยมีตัวแทนสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรม ICT และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 100 คน ที่โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 กล่าวถึงแนวความคิดในการสร้างเครือข่าย Software Network ของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เข้ามาลงทุนดำเนินกิจการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งผู้ประกอบการที่เป็นชาวต่างประเทศและชาวไทย ซึ่งปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 80 ราย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ คือ การขาดแคลนบุคลากรด้าน ICT และ IT ที่มีความรู้ความสามารถ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA รวมทั้งผู้ประกอบการ จึงได้มีความคิดที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยการจัดตั้งเครือข่าย Software Network ขึ้นมา โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพื่อพัฒนาและผลิตบุคลากรด้าน IT เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

“อุตสาหกรรม ICT และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอย่างมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จำนวนมาก ที่ผ่านมาทางศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 จึงได้จัดจ้างที่ปรึกษาให้ทำวิจัยสำรวจความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในภาคเหนือให้ดีขึ้น

จากการวิจัยพบว่า ปัญหาความต้องการบุคลากร ถือเป็นปัญหาหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะต้องมีการจัดตั้งเครือข่าย Software Network ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและปัญหาอื่นๆ ร่วมกัน” นางศิริพร กล่าว

สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ นางศิริพร กล่าวว่า เป็นการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ทั้งสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากร ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นในการกำหนดนโยบาย แนวทาง และขอบเขตการดำเนินงานของเครือข่าย Software Network ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และผลักดันการสร้างเครือข่ายให้เกิดเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคี ระหว่างสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการและหน่วยงานสนับสนุน

ทั้งนี้ อนาคตยังจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในภาคเหนือตอนบน รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ และกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนของภาคเหนือตอนบนด้วย ซึ่งหากเป็นไปได้คงจะใช้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ นางศิริพร แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนับสนุนให้มีการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะเป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและความรู้ความสามารถ ตลอดจนทักษะความชำนาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งความรู้ในด้านต่างๆ ในแก่บุคลากรในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะบุคลากรที่มีโอกาสเข้าไปทำงานกับผู้ประกอบการจากประเทศ ซึ่งอนาคตหากบุคลากรเหล่านั้นมีความชำนาญและประสบการณ์สูงขึ้น ก็อาจจะพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นผู้ประกอบการอิสระได้

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สามารถสร้างรายได้ให้แก่พื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก โดยไม่เพียงแค่สร้างรายได้จากการขายซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ซอฟต์แวร์ที่มีการพัฒนาขึ้นยังสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย

“อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนับสนุน ให้มีการลงทุนในภาคเหนือตอนบนมาก ซึ่งปัจจุบันก็มีนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่เข้ามาขอรับการสนับสนุนจากบีโอไอเพื่อลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ แม้ต้นทุนของระบบเน็ตเวิร์ก ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะสูงกว่าในส่วนกลาง แต่จากข้อได้เปรียบในเรื่องของค่าแรงที่ถูกกว่า ทำให้ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนได้เป็นอย่างดี โดยหากมีการพัฒนาบุคลากรที่ตอบสนองได้ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพด้วย ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น” ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น