xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งทอภาคเหนือออเดอร์วูบแล้ว 15% จี้รัฐเร่งดูเรื่องค่าเงินบาท-น้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เริ่มปีชวด สิ่งทอเหนือไม่สดใสออเดอร์หายวับแล้วกว่า 15% ขณะที่ผู้ประกอบการที่ทนแบกภาระไม่ไหว ใน จ.เชียงใหม่และลำพูน ปิดกิจการแล้ว 2 แห่ง เร่งรัฐบาลใหม่ดูแลค่าเงินบาท พร้อมแนะทางรอดเจ้าของกิจการต้องปรับการบริหารงานภายใน ส่วนกลุ่มสิ่งทอที่รวมเป็นคลัสเตอร์ ต้องเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเข็นแบรนด์ “PHA-NUA(ผ้าเหนือ)”ออกสู่สายตาชาวโลกเพื่อการตลาดที่ยั่งยืน

นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการบริษัทคอนเฟ็ดเดอร์เรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกของธุรกิจสิ่งทอว่า ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งถือ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสิ่งทออย่างหนัก

ทั้งนี้ หากรัฐบาลใหม่มีการจัดตั้งแล้วเสร็จอยากจะให้เข้ามาดูแลเรื่องค่าเงินบาทเป็นลำดับแรกและโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วเชื่อว่าอาจจะมีผู้ประกอบการส่งออกอีกเป็นจำนวนมากต้องปิดกิจการลง โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอส่งออกในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนต้องปิดกิจการลงไปแล้ว 2 แห่ง

นายวีระยุทธ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก เนื่องจากปัญหาซับไพรม์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดสิ่งทอไทยตามไปด้วยเนื่องจากตลาดอเมริกาถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 โดยปัจจุบันยอดการสั่งซื้อสินค้าไปอเมริกาลดลงไปกว่า 15 % แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันไปหาตลาดใหม่ทดแทน เช่น ตลาดแถบยุโรป ตะวันออกกลางและตลาดแถบเอเชียมากขึ้น

นอกจากการหันไปหาตลาดใหม่ทดแทนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยก็คือการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการภายในและการผลิต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานและเป็นการบริหารต้นทุนอย่างคุ้มค่าที่สุด

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไขปัญหาด้วยการปลดคนงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหากปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับที่ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป ก็อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการปลดคนงานออกไปบางส่วนเพื่อรักษากิจการให้อยู่รอด ซึ่งวิธีการดังกล่าวคงจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อมีความจำเป็นอย่างถึงที่สุดเท่านั้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานที่ทำธุรกิจสิ่งทอส่งออกในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนต้องปิดกิจการแล้ว 2 แห่ง ขณะที่รายใหญ่ๆ อีกประมาณ 10 กว่าแห่งยังคงพออยู่ได้ โดยที่มียอดสั่งสินค้าลดลง ซึ่งแต่ละรายก็พยายามปรับตัวกันอย่างเต็มที่เพื่อให้กิจการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในภาวะที่มีปัญหาเช่นนี้ ด้วยการทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนทุกอย่างเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะสามารถเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยเร็ว” นายวีระยุทธ กล่าว

ขณะเดียวกันนายวีระยุทธ กล่าวถึงโควตาส่งออกสิ่งทอที่ปัจจุบันมีการยกเลิกไปแล้วว่า มีทั้งผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการส่งออกสิ่งทอของไทย โดยในด้านลบนั้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องประสบภาวะการแข่งขัน เพื่อการส่งออกที่สูงขึ้นกับผู้ประกอบการในประเทศคู่แข่ง ได้แก่ จีน และเวียดนาม ที่มีความได้เปรียบในเรื่องของค่าจ้างแรงงาน

ส่วนในด้านดี คือ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการกิจการได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลอยู่กับข้อจำกัดในเรื่องของการกำหนดโควตา รวมทั้งทำให้เกิดความตื่นตัวที่จะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถทำการแข่งขันได้

รวมคลัสเตอร์สิ่งทอดันแบรนด์ “PHA-NUA (ผ้าเหนือ)”

นายวีระยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสร้างแบรนด์ “PHA-NUA(ผ้าเหนือ)” เป็นโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอล้านนาและส่งเสริมตราสัญลักษณ์กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอจังหวัดเชียงใหม่หรือคลัสเตอร์สิ่งทอ โดยมีกลุ่มที่รวมเป็นคลัสเตอร์เดียวกันจำนวน 20 ราย เข้ามาพัฒนาวัตถุดิบ เส้นใยและรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ร่วมกัน จนเมื่อได้ผลิตภัณฑ์เป็นที่สนใจของตลาดในระดับสากลแล้วก็จะมีการสนับสนุนเพื่อการส่งออกอีกขั้นหนึ่ง ทั้งนี้ทางกลุ่มได้รับงบประมาณสนับสนุนตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อดำเนินการในส่วนนี้จำนวน 4 แสนบาทพร้อมกับต้องมีผลงานออกมาภายใน 8 เดือนนี้คือระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม

ทั้งนี้ แบรนด์ดังกล่าวจะเป็นเหมือนตรารับรองคุณภาพให้แก่สินค้าสิ่งทอของผู้ผลิตที่ร่วมกลุ่ม ซึ่งแบรนด์นี้ในเบื้องต้นทางผู้ผลิตอาจจะนำไปใช้คู่กับแบรนด์ที่มีอยู่แล้วก็ได้ แต่อนาคตคาดหวังอยากจะให้ผู้ผลิตทุกรายใช้แบรนด์เดียวกันเลย เพื่อรวมตัวเป็นกลุ่มในการทำการตลาด

สำหรับการจะสร้างแบรนด์ “PHA-NUA (ผ้าเหนือ)” ให้เป็นที่ยอมรับและติดตลาดสากลได้นั้น ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำการพัฒนารูปแบบและสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าที่สามารถนำไปใช้เพื่อการค้าได้จริงๆ รวมทั้งจะต้องมีการโปรโมตอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งเบื้องต้นมีการตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เวลาราว 3 ปี เพื่อสร้างแบรนด์นี้ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดในระดับสากล

กำลังโหลดความคิดเห็น