xs
xsm
sm
md
lg

"สถาบันหม่อนไหม" รุกยุทธศาสตร์ไหมไทยเพิ่มมูลค่ามหาศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันหม่อนไหมชี้ไหมไทยมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต ชี้การสร้างตรา "นกยูงพระราชทาน" ช่วยการันตีคุณภาพ ชี้การผลิตยังทำได้ปริมาณน้อย หันทิศเน้นยุทธศาสตร์สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการออกแบบและสร้างตราสินค้าไทยให้ติดตลาด
ตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทาน 4 ชนิด เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผ้าไหมไทยที่ได้มาตรฐาน
ประทีป มีศิลป์ ผู้อำนวยการ สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่าภาพรวมของไหมไทยในวันนี้กำลังจะก้าวไปข้างหน้าทั้งการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการสร้างแบรนด์ นอกจากการดำเนินการจดลิขสิทธิ์ตรานกยูงพระราชทาน เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองความเป็นมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ไหมไทยที่มีคุณค่าแล้ว กำลังจะมีเครื่องหมายรับรองต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดยุโรปได้ง่ายขึ้น กลยุทธ์การแข่งขันของไหมไทยมุ่งเน้นไปที่คุณภาพ วัฒนธรรม และคุณค่า โดยนำภูมิปัญญาไทยและฝีมือทางหัตถกรรมมาเป็นจุดขาย ไม่ใช่เรื่องของปริมาณ

"การสร้างไหมไทยเป็นสินค้าระดับโลก เราสร้างฝันขึ้นมาจากความเป็นจริงบนศักยภาพที่เรามีอยู่ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกรู้จักไหมไทยอยู่ในระดับหนึ่งแล้วว่ามีคุณภาพและเป็นงานหัตถศิลป์ แม้ว่าจะต้องมีการนำเส้นด้ายส่วนหนึ่งที่ผลิตจากเครื่องจักรมาประกอบกับเส้นด้ายที่ผลิตจากฝีมือคน ก็เพื่อให้ได้งานที่ตอบรับความต้องการของตลาดได้ด้วย"

"แม้ว่าอุปสรรคคือชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ยังมีส่วนที่ไม่เข้าใจ และมีการยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ แต่ยุทธศาสตร์การการพัฒนาหม่อนไหม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการต่อต้าน ทำให้ต้องก้าวไปทีละขั้นตอน เป็นพระราชดำริให้พัฒนาอย่างนี้ เพื่อชาวบ้านจะไม่เดือดร้อนขั้นแรกคือการพัฒนาสีซึ่งมาถึงขั้นที่ย้อมแล้วไม่ตก ถ้าเป็นสีเคมีต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพของเนื้อผ้า ขั้นต่อไปคือการออกแบบลวดลายและสีสัน"

นอกจากนี้ มีแผนงานอีกมากที่รองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น โครงการวิจัยตลาดต่างประเทศโดยจะดำเนินการในประเทศต่างๆ ที่จดลิขสิทธิ์ตรารับรองนกยูงพระราชทาน ด้วยการของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการตลาด และจะมีการหารือกันต่อไปว่าควรจะไปวิจัยในประเทศไหนก่อน สำหรับการตลาดในประเทศไดเริ่มไปบางส่วนแล้ว

การแข่งขันในระดับโลกมองกันที่ปริมาณเส้นไหมที่ผลิตได้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งอยู่ในอันดับท้าย เพราะประเทศไทยผลิตได้จำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นมาก สำหรับตลาดโลกในด้านปริมาณมีจีนและอินเดียครองอยู่ ในขณะที่ฝรั่งเศสและอิตาลีครองชื่อเสียงด้านคุณภาพ เพราะไม่ได้เป็นผู้ผลิตไหมขึ้นมาเองแต่มีความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งประเทศไทยกำลังจะใช้วิธีการชักชวนให้นักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาออกแบบผ้าไหมไทยเพื่อเป็นหนทางการสร้างแบรนด์ไทยให้ก้าวไปสู่แบรนด์ระดับโลกได้ทันกับการแข่งขันที่รุนแรงและทำให้เกิดความมั่นคงในการเติบโต

ปัจจุบันมูลค่าตลาดไหมไทยส่งออกอยู่ที่ปีละประมาณ 2 ,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดในประเทศมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวซึ่งไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกมหาศาลจากการนำหม่อนไหมไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การผลิตผงไหมเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ดีขึ้นจากเศรษฐกิจของครอบครัวที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาไหมไทยอยู่ในขั้นที่สอง คือได้มีการนำตรานกยูงพระราชทานไปจดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศแล้ว 22 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งเกือบจะครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว สำหรับยุทธศาสตร์ต่อไปคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและสร้างให้เป็นที่รู้จักของคนในประเทศให้ได้ก่อน เช่น ต้องทำให้รู้ว่าผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานซื้อได้ที่ไหนบ้างและหมายถึงอะไร โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องทำให้ได้ภายในปีนี้ จากนั้นในปีหน้าจึงเริ่มก้าวสู่ยุทธศาสตร์การรุกตลาดในต่างประเทศ

"มีหลายประเทศที่นำชื่อเสียงของไหมไทยไปใช้ประโยชน์ด้วยการติดคำว่า Thai Silk ร่วมกับตราสินค้าของเขา เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อออกสู่ตลาดให้เร็วขึ้นและให้ความรู้กับผู้บริโภค ซึ่งการใช้ตรานกยูงพระราชทานเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสินค้าไทย ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถปกป้องผลิตภัณฑ์ไหมไทยในตลาดโลกได้เลย"

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติฯ เป็นแกนหลัก ประกอบกับหน่วยงานต่างๆ มากมายเป็นกลไกให้การสนับสนุนและดำเนินการร่วมกัน เช่น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจ และกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมทั้ง สถาบันการศึกษาที่มีส่วนในการวิจัยในด้านต่างๆ

สิ่งที่สถาบันหม่อนไหมแห่งประเทศไทยฯ กำลังดำเนินการนั้นเป็นการก้าวไปสู่การสร้างแบรนด์ระดับประเทศ เช่น ที่ผ่านมามีการจดเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศแล้วทั่วโลก เป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่ผลิตในประเทศไทย ทำให้สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไหมไทยเข้าไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ อย่างน้อย 22 ประเทศ ไปแล้วโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือสงสัยว่าเป็นไหมไทยจริงหรือไม่

ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับไหมไทย ซึ่งตรานกยูงพระราชทานสามารถใช้ควบคู่กับแบรนด์เนมอื่นๆ ที่ต้องการใช้ร่วมด้วย ปัจจุบันมีชาวบ้านและผู้ประกอบการขอใช้ตรานกยูงพระราชทานแล้ว 6,000 กว่าราย สำหรับการสร้างแบรนด์ของผ้าไหมสุรินทร์ให้ก้าวไปสู่ระดับโลกนั้นเชื่อว่ามีความเป็นไปได้เช่นกัน เพราะสุรินทร์มีศักยภาพ เช่น การเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพอยู่แล้วทั้งด้านลวดลายและเอกลักษณ์ รวมทั้งศักยภาพของคนในท้องถิ่น เมื่อมองในภาพรวม การสร้างแบรนด์เนมของไหมไทยในระดับโลกนั้นกำลังก้าวไปอย่างมั่นคง

สำหรับตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทาน 4 ชนิด เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผ้าไหมไทยที่ได้มาตรฐาน ด้วยการเน้นคุณสมบัติของวัตถุดิบที่นำมาใช้ ต้องย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และผลิตในประเทศไทยเท่านั้น แบ่งเป็น 4 ประเภท

1. นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) ใช้เส้นไหมพันธุ์พื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมมาจากการสาวด้วยมือแบบดั้งเดิม ทอแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ 2. นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) ใช้เส้นไหมไทยพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุง เส้นไหมต้องสาวด้วยมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ไม่เกิน 5 แรงม้า และทอด้วยกี่ทอมือ 3. นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) ใช้เส้นไหมแท้ ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ และ4. นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) ใช้เส้นไหมแม้เป็นส่วนประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรองแต่ต้องระบุให้ชัด และทอด้วยกี่แบบใดก็ได้

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตผ้าไหมที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น