xs
xsm
sm
md
lg

“พลังแม้ว” เดินแผนจัดพิธีกรรมแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก๊วน “พลังแม้ว” เดินแผนแก้ รธน. เตรียมจัดพิธีกรรมเชิญนักวิชาการ องค์กรประชาชน มาให้ความเห็นก่อนหาข้อสรุป แต่โยนบาปสารพัดให้ รธน.50 เป็นเหตุผลต้องแก้ “วัฒนา” ปากดีท้าเอาฉบับปี 40 มาโหวตแข่ง

วานนี้ (26 มี.ค.) นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคพลังประชาชน หนึ่งในคณะกรรมการศึกษาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้หารือข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ซึ่งจะจัดกรอบความคิดและองค์ประกอบการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จะเชิญผู้รู้ที่สังคมยอมรับโดยทั้ง 16 คนจะนั่งคุยและรับฟังกับภาควิชาการ ภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ รวมถึงผู้ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพื่อฟังประเด็นต่างๆ ทุกภาคส่วนว่ามีความเห็นอย่างไร หลังจากนั้นจะมีการสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อแถลงเป็นทางการต่อไป

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการวางกับดักไว้อีกมากจึงต้องคุยทั้งระบบ แล้วเปิดโอกาสให้ ส.ส.จากทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาลมาแลกเปลี่ยนกัน นำความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาเป็นองค์ประกอบนำเสนอในที่ประชุม” นายสงวนกล่าว

โยนบาป รธน.50 ทำ ปชช.เดือดร้อน

นายสงวน กล่าวอีกว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่การแก้เฉพาะเรื่องพรรคการเมืองเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประชาชนไปแล้ว อย่าง จ.ลำพูน เกิดพายุถล่ม 4,000 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน ในอดีต ส.ส.ไปดูก็สามารถติดต่อส่วนราชการเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย เพราะไปเขียนล็อกห้าม ส.ส.ก้าวก่ายราชการ ทำให้ความเสียหายตกอยู่กับประชาชน ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาของพรรคการเมืองและการยุบพรรคนั้นไม่ใช่ปัญหาของพรรค เพราะพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองของประชาชน การจัดตั้งหรือยุบเป็นเรื่องการตัดสินใจของประชาชน

“ยกตัวอย่างวัดมีเต็มไปหมด ถ้าพระลูกวัดไปทำความผิดแล้วไปออกกฎหมายให้หลวงตาหรือสามเณรต้องสึกไป 5 ปีค่อยบวชใหม่ แล้วก็ให้ยุบวัดนั้นเสีย อย่างนี้ชาวบ้านก็มองว่าผิดปกติ วันนี้คนคนหนึ่งทำความผิด แล้วให้ถือว่าคณะกรรมการบริหารนั้นผิดและให้ยุบพรรค ทั้งๆ ที่พรรคไม่ใช่ของกรรมการบริหารพรรค เวลาตั้งพรรคให้คำนึงสมาชิก แต่พอจะยุบพรรคกลับไม่เคยมองสมาชิก” นายสงวน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับปี2540 มาเป็นหลักในการพิจารณา นายสงวน กล่าวว่า มีหลายแนวคิดแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะเรื่องนี้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสนอว่า ควรเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นต้นแบบ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากนักการเมือง ส.ส.ในสภาเป็นเพียงผู้ให้ความเห็นชอบ รับหรือไม่รับเท่านั้น แต่หากจะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ทั้งหมดในขณะนี้ มีคำถามว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันการเคลื่อนตัวของสังคม กรอบรัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นภาระหนักของคณะกรรมการทั้ง16คนที่จะต้องนำเสนอต่อพรรคและประชาชน

ด้าน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าจะมีส.ส.เข้าชื่อเพื่อเสนอเรื่องเข้าสู่สภาในสัปดาห์หน้าเพื่อให้มีการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และจะต้องตั้งให้เสร็จสิ้นก่อนปิดสมัยประชุมสภานี้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้ไขให้ครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่ตนยื่นญัตติด่วน ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถือเป็นการศึกษาคู่ขนานไป ขึ้นอยู่กับสภาจะพิจารณา เพราะอยู่ในระเบียบวาระอยู่แล้ว

“วัฒนา” โว รธน.50 หมดความชอบธรรม

ขณะที่ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า เวลานี้เราจำเป็นต้องปรับปรุงกติกาโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญให้เข้มแข็ง ส่วนจะเป็นระดับไหนก็ต้องหารือกัน เพราะหาก 3 พรรคการเมืองในรัฐบาลถูกยุบพรรคไปจริงๆ จะไปทำลายความเชื่อมั่นต่อต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน เพราะเราต้องเชื่อมั่นในการเมืองที่มาจากภาคประชาชน ก่อนหน้านี้ไม่มีการเมืองภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการ อาจารย์จากสถาบันการศึกษาที่เข้าไปมีส่วนร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หมดความชอบธรรมไปแล้ว เพราะไปยอมรับอำนาจนอกระบบ รัฐธรรมนูญที่เขียนออกมาชัดเจนว่าขัดต่อหลักการนิติธรรมแต่ก็ปล่อยให้หลุดออกมา ทั้งๆ ที่ควรถอนตัวไปไม่เข้าไปยุ่งแต่ก็กลับทนอยู่ บุคคลเหล่านี้ไม่ควรมีปากเสียงมาพูดจาเพราะเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่ร่างนั้นต้องการทำให้การเมืองอ่อนแอ ในยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าการเมืองอ่อนอย่างนี้ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน เพราะการเมืองไม่มั่นคงทำให้ไม่มีความมั่นใจ

นายวัฒนา กล่าวด้วยว่า ถ้าแก้ไขมาตราเดียวตนไม่เห็นด้วย เพราะในบรรยากาศเช่นนี้จะถูกหาว่าแก้ไขเพื่อ 3 พรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องปกติ อคติของคนจะไปห้ามคิดคงไม่ได้ แต่อยากให้มีการโหวตในสภาให้เลือกรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญปี 2550ไปเลย เพราะมีสองสภาสมบูรณ์อยู่แล้วเป็นรัฐสภา เป็นประชาพิจารณ์ง่ายๆ ว่าจะเอาฉบับปี 40 หรือ ปี 50 ถ้าบอกว่าเอาปี 40 ก็จบ ไม่ต้องมาพูดถึงปี 50 ว่าดีหรือไม่ดี แล้วทุกคนช่วยกันทำให้ดีที่สุด ดังนั้นต้องหาธงว่าจะเอาร่างไหนเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร หากจะแก้ทุกจุด อาจใช้เวลาเป็นปี ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ให้สังคมยอมรับ ส่วนจะทันพิจารณาคดียุบพรรคหรือไม่นั้นตนไม่สนใจ และไม่ต้องมีเงื่อนไขเวลามากำหนดว่าต้องเสร็จภายใน 1-2 เดือน มิฉะนั้นจะถูกมองว่าแก้ไขเพื่อยุบพรรค
กำลังโหลดความคิดเห็น