xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : คดี “หวยบนดิน”...ท่วงท่าทะแม่งของอัยการ-รบ.อุ้ม 3 รมต.!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน


คดีหวยบนดินที่ คตส.ตัดสินใจยื่นฟ้อง “พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก” รวม 47 คนต่อศาลฎีกาฯ เมื่อไม่กี่วันก่อน นอกจากเป็นคดีที่น่าจับตาว่าศาลฯ จะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 14 พ.ค.แล้ว ยังมีความน่าสนใจในแง่กฎหมายหลายประเด็น เช่น 3 รมต.ใน รบ.นี้ที่เคยอยู่ใน ครม.ทักษิณ และถูก คตส.ฟ้องในคดีดังกล่าว จะต้อง “พักงาน” หรือหยุดทำหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือไม่? ซึ่งคนใน รบ.นี้ต่างอ้างเสียงแข็งว่า “ไม่ต้องหยุด” แถมยังข้องใจต่อไปว่า คตส.มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแน่หรือ? …ลองมาหาคำตอบจากหลายๆ ฝ่ายกัน รวมทั้งมาย้อนดูอุปสรรคระหว่างทาง กว่าคดีหวยบนดินจะมาถึงจุดที่ คตส.ส่งฟ้องต่อศาลได้ มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะลีลาท่าทางของ “อัยการ” ในยุค รบ.พลังประชาชน

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 


กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว (หวยบนดิน) เป็นคดีขึ้นมา เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้รับตรวจสอบเรื่องนี้ โดยหลังจากพบว่ามีมูล จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550 ให้แจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ ครม.รัฐบาลทักษิณ รวมทั้งคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 47 คน ฐานมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการออกหวยบนดิน ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควร นอกจากจะผิดกฎหมายอาญาหลายมาตราแล้ว ยังผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ด้วย โดยรายได้จากการดำเนินโครงการหวยบนดินดังกล่าว ไม่เคยมีการส่งเงินเข้าคลังเลย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่รัฐเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท!

หลังจากนั้น คตส.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนโครงการหวยบนดิน โดยมีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.ที่เป็นถึงอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา กรุงเทพใต้ เป็นประธาน โดยมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้ชี้แจงข้อกล่าวหา

เมื่อการไต่สวนแล้วเสร็จ คตส.ได้มีมติเห็นชอบผลสรุปของคณะอนุกรรมการ และมีมติส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อสั่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป โดยการส่งมอบสำนวนให้อัยการสูงสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2550 ซึ่งพยานหลักฐานที่ คตส.มอบให้อัยการมีมากถึง 32 แฟ้ม 4 ลัง ระบุพฤติการณ์การกระทำผิดของ ครม.ทักษิณและผู้เกี่ยวข้องที่มากถึง 20 ประเด็น ด้านอัยการสูงสุด (ชัยเกษม นิติสิริ) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบพิจารณาคดีนี้ โดยมีนายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุดเป็นประธาน

ต่อมาวันที่ 14 ม.ค.2551 ซึ่งเป็นวันที่คณะทำงานอัยการดังกล่าวส่งผลสรุปความเห็นต่อคดีหวยบนดินให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งคดี มีข่าวว่า คณะทำงานอัยการเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นควรให้สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 47 คน ตามที่ คตส.เสนอมา ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ควรสั่งฟ้องเฉพาะผู้ที่ออกนโยบาย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตรัฐมนตรีที่กำกับดูแล(ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีต รมว.คลัง, วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง) รวมถึงอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (พล.ต.ต.สุรสิทธ์ สังขพงศ์) เพราะมีหลักฐานว่าได้ประโยชน์เชิงนโยบายในการออกหวยบนดิน

วันที่ 18 ม.ค.นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เผยว่า คณะทำงานอัยการพิจารณาคดีหวยบนดินที่มี นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล เป็นประธาน ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการกับ คตส.เพื่อให้มีการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มใน 4-5 ประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ (เช่น ต้องการให้ คตส.นำพยานที่ให้ถ้อยคำในชั้นพนักงานสอบสวนมาให้การกับ คตส.อีกครั้ง, ต้องการให้ คตส.นำผู้ชำนาญการพิเศษมายืนยันให้ชัดเจนว่า การออกสลากหวยบนดินเป็นสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบกันแน่, ต้องการให้ คตส.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการดำเนินโครงการหวยบนดินว่าเงินถูกนำไปใช้จ่ายเรื่องอะไร ใครได้รับเงินไปบ้าง ฯลฯ) โดยอัยการสูงสุดได้ตั้งอัยการ 5 คนที่อยู่ในคณะทำงานอัยการที่พิจารณาสำนวนคดีหวยบนดิน เป็นคณะทำงานร่วมที่จะตั้งขึ้นร่วมกับฝ่าย คตส.

ขณะที่ฝ่าย คตส.เมื่อได้รับหนังสือแจ้งจากอัยการสูงสุดแล้ว ได้ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกับฝ่ายอัยการสูงสุดจำนวน 5 คนเช่นกัน โดยมีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ในฐานะประธานอนุฯ ไต่สวนคดีหวยบนดินร่วมอยู่ในคณะทำงานร่วมดังกล่าวด้วย

25 ม.ค.คณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีหวยบนดิน หลังประชุม นายสัก กอแสงเรือง กรรมการและโฆษก คตส.ซึ่งเป็น 1 ในคณะทำงานร่วมฝ่าย คตส.แถลงว่า คณะทำงานของอัยการสูงสุดยังยืนยันความไม่สมบูรณ์ของสำนวนทั้ง 5 ประเด็น ขณะที่ตัวแทนของ คตส.เห็นว่า สำนวนถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบพยานหรือรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก เมื่อที่ประชุม 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันทั้ง 5 ประเด็น จึงได้มีการนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 1 ก.พ.เพื่อพิจารณาว่าจะมีทางออกเรื่องนี้อย่างไร?

หลังประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ.ปรากฏว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ เพราะคณะทำงานของอัยการสูงสุดยังยืนยันเหมือนเดิมให้ คตส.สอบเพิ่มเติม ขณะที่ฝ่าย คตส. ก็ยืนยันว่าผลการไต่สวนสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายจะกลับไปรายงานให้ต้นสังกัดของแต่ละฝ่ายทราบ โดยตัวแทนของ คตส.จะรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ คตส.ทราบในวันที่ 4 ก.พ. เพื่อขอมติว่า คตส.จะขอสำนวนคืนจากอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ เองหรือไม่ ซึ่ง คตส.สามารถดำเนินการได้ตามวิธีพิจารณาคดีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย คตส.จะฟ้องร้องต่อศาลเองหรือตั้งทีมทนายความเพื่อยื่นฟ้องแทนก็ได้ภายใน 14 วันนับแต่ได้รับสำนวนคืนจากอัยการสูงสุด

วันเดียวกัน (1 ก.พ.) นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.และประธานอนุฯ ไต่สวนคดีหวยบนดิน ยืนยันว่า สำนวนคดีหวยบนดินที่ คตส.เสนออัยการสูงสุดไปมีความสมบูรณ์แล้ว พร้อมย้ำ การตรวจสอบคดีหวยบนดินของ คตส.ได้ปฏิบัติตามระเบียบของ ป.ป.ช. ไม่ใช่ คตส.คิดเอาเอง โดยระเบียบ ป.ป.ช.ระบุชัดเจนว่า การเอาสำนวนของ สตง.หรือสำนวนของพนักงานสอบสวนมาใช้เป็นสำนวนในชั้นของการไต่สวนสามารถทำได้ เพราะกฎหมายเห็นว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องมีการพิจารณาอย่างรวดเร็ว หากจะให้นำพยานในชั้นตรวจสอบมาให้การในชั้นไต่สวนอีก (ดังที่อัยการต้องการ) และคดีนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ก็จะทำให้การทำงานล่าช้าออกไป กฎหมายจึงกำหนดให้สามารถนำสำนวนในชั้นตรวจสอบมาเป็นสำนวนในชั้นไต่สวนได้ การที่อัยการสูงสุดมีความเห็นต่างจาก คตส.ในประเด็นนี้ ก็เป็นสิทธิของอัยการ แต่ก็เป็นสิทธิของ คตส.เช่นกันที่จะดำเนินการตามหรือไม่ก็ได้

ส่วนประเด็นที่อัยการสูงสุดต้องการให้ผู้ชำนาญการพิเศษของกระทรวงมหาดไทยหรือของศาลมาให้ถ้อยคำเป็นพยานว่า การออกสลากหวยบนดิน เป็นสลากกินรวบหรือสลากกินแบ่งนั้น นายอุดม กล่าวว่า จะไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากที่ไหน เพราะไม่มีการจดทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญไว้ ที่สำคัญ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็เคยวินิจฉัยแล้วว่า การออกสลากหวยบนดินดังกล่าวเป็นสลากกินรวบ กระทั่งรัฐบาลต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง คตส.ได้อ้างอิงการตีความการออกหวยบนดินจากหลายแห่งแล้ว ซึ่งยืนยันตรงกันว่า การออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัวหรือหวยบนดิน เป็นสลากกินรวบ!

ทั้งนี้ หลังประชุม คตส.ในวันที่ 4 ก.พ.ที่ประชุมได้มีมติให้ขอสำนวนคดีหวยบนดินคืนจากอัยการสูงสุด เพราะเมื่ออัยการสูงสุดเห็นไม่ตรงกับ คตส. ที่ยืนยันมาตลอดว่า สำนวนคดีมีความสมบูรณ์แล้วและสมควรสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 47 คน ก็เท่ากับว่าอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ คตส.จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปภายใน 14 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนคืนจากอัยการสูงสุด

หลัง คตส.มีหนังสือแจ้งให้อัยการสูงสุดคืนสำนวนคดีหวยบนดินตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. ปรากฏว่า เวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์ อัยการสูงสุดก็ยังไม่ยอมคืนสำนวนคดีให้ คตส. กระทั่งวันที่ 12 ก.พ. ทีมทนายความที่ คตส.ตั้งขึ้น(เป็นตัวแทนจากสภาทนายความประมาณ 5 คน)เพื่อพิจารณาสำนวนคดีหวยบนดินว่าสำนวนมีความสมบูรณ์หรือไม่(เพื่อประกอบการพิจารณาของ คตส.ต่อไปว่าจะส่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ เองหรือไม่)ได้ออกมาเผยต่อสังคมว่า หลังจากได้ตรวจสอบสำนวนคดีของ คตส.แล้ว ยืนยันได้ว่า สำนวนการสอบสวนมีความสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว สามารถส่งฟ้องต่อศาลได้

วันเดียวกัน (12 ก.พ.) นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานคดีหวยบนดิน และคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ ได้นำทีมอัยการเปิดแถลงว่า อัยการได้ส่งสำนวนคดีคืน คตส.แล้วในวันเดียวกันนี้ พร้อมยืนยันว่า กรณีที่อัยการมีความเห็นแตกต่างจาก คตส.ไม่ได้มีความขัดแย้ง และไม่ได้เป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมือง เพราะขณะที่อัยการมีความเห็นเสนอให้ คตส.สอบเพิ่มใน 5 ประเด็น เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะได้รับการแต่งตั้ง และยังไม่ทราบว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล!?!

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำอ้างของ นายวัยวุฒิ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะคณะทำงานอัยการที่นายวัยวุฒิเป็นประธาน ได้สรุปผลการพิจารณาสำนวนคดีหวยบนดินเสนออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ขณะที่ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ได้เผยต่อสาธารณชนในวันที่ 18 ม.ค.ว่า คณะทำงานเสนอให้ คตส.สอบเพิ่ม 4-5 ประเด็น เพราะสำนวนยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการที่นายวัยวุฒิอ้างว่า อัยการมีความเห็นให้ คตส.สอบเพิ่มในขณะที่อัยการยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่โกหกโดยสิ้นเชิง เพราะพรรคพลังประชาชนได้จับมือพรรคเล็ก 3 พรรค(พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา-พรรคมัชฌิมาธิปไตย-พรรคประชาราช)ประกาศจัดตั้งรัฐบาล 254 เสียงตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2550 แล้ว ก่อนจะมีการชวนอีก 2 พรรค(พรรคชาติไทย-พรรคเพื่อแผ่นดิน) เข้าร่วมในเวลาต่อมา ดังนั้น ข้อเท็จจริงก็คือ อัยการทราบว่าพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ก่อนหน้าที่อัยการจะสรุปผลสำนวนคดีหวยบนดินถึงครึ่งเดือนด้วยซ้ำ!

นอกจากนี้ แม้นายวัยวุฒิ จะยืนยันว่า ไม่ได้ขัดแย้ง คตส.และไม่มีนัยยะทางการเมือง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นายวัยวุฒิ ได้พูดดักคอเหมือนกับต้องการดิสเครดิต คตส.ว่ายังไม่สามารถส่งฟ้องคดีต่อศาลเองได้ โดยอ้างว่า การที่ คตส.ขอสำนวนคืนจากอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีนี้เองนั้น อาจมีปัญหาทางกฎหมายว่าความเห็นแตกต่างของอัยการสูงสุดในเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น ยังไม่ใช่ความเห็นแตกต่างที่จะเข้าข้อกฎหมายให้ คตส.ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองได้ เพราะคดีนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้มีความเห็น(ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง) แต่อย่างใด!?!

วันต่อมา (13 ก.พ.) ที่ประชุม คตส.ได้มีมติเอกฉันท์ส่งสำนวนคดีหวยบนดินยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ โดยจะดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน ได้มีการแต่งตั้งคณะทนายความจากสภาทนายความ 12 คน ให้เป็นทนายในคดีหวยบนดิน

กระทั่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ทีมทนายความซึ่งได้รับมอบหมายจาก คตส.ก็ได้นำคำฟ้อง 57 หน้า พร้อมสำนวนพยานหลักฐานการทุจริตโครงการหวยบนดินจำนวน 45 ลัง ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว เพื่อเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ พร้อม ครม.ที่มีมติ ครม.ให้ดำเนินโครงการออกหวยบนดิน รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวม 47 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90, 91 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 8, 9 10, 11

โดย คตส.ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คนตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนหรือใช้ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากหวยบนดินรวมจำนวนกว่า 14,800 ล้านบาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาฯ ด้วย ด้านศาลฯ นัดฟังคำสั่งคดีว่าจะรับฟ้องหรือไม่วันที่ 14 พ.ค.นี้

หลัง คตส.ให้ทนายฟ้องคดีหวยบนดินต่อศาลฎีกาฯ แล้ว มีประเด็นสำคัญเกิดขึ้นว่า มีรัฐมนตรี 3 คนในรัฐบาลปัจจุบันที่ถูก คตส.ฟ้องต่อศาลฐานเป็นรัฐมนตรีใน ครม.ทักษิณที่ร่วมอนุมัติโครงการหวยบนดิน ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ,นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยคมนาคม และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ปัญหาก็คือ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือกฎหมาย ป.ป.ช.(ซึ่ง คตส.ใช้อำนาจตรวจสอบและยื่นฟ้องผู้กระทำความเสียหายแก่รัฐเสมือน ป.ป.ช.เช่นกัน โดยเป็นไปตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่ให้อำนาจ คตส.)ระบุว่า หากรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ แม้ คตส.จะมีหนังสือแจ้งให้รัฐบาลทราบในแง่ข้อกฎหมายของการดำเนินคดีดังกล่าว ที่อาจส่งผลให้รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลนี้ต้องหยุดทำหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ แต่ทั้งนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และรัฐมนตรีในรัฐบาลก็ไม่รับลูกแต่อย่างใด โดยนายสมัคร ได้ออกมาอุ้ม 3 รัฐมนตรีที่พันคดีหวยบนดิน ด้วยการอ้างว่า คตส.ฟ้องรัฐมนตรีใน ครม.ทักษิณ แต่นี่คนละรัฐบาลกัน ตำแหน่งก็เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นรัฐมนตรีทั้งสามไม่ต้องพักงาน ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด และว่า เจตนาของกฎหมายไม่ได้ต้องการมาตามไล่พักงานแบบนี้

นายสมัคร ยังยกตัวอย่างแบบเข้าข้างตัวเองด้วยว่า “อย่างคดีซื้อรถและเรือดับเพลิง หาก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ถูกกล่าวหา เมื่อถูก ป.ป.ช.ยื่นเรื่องก็ต้องพักงาน เพราะอยู่ในตำแหน่ง อย่างผมที่เคยเป็นผู้ว่าฯ แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ แล้ว เพราะผมมาเป็นนายกฯ จะมาพักงานผมไม่ได้” นายสมัคร ยังอ้างด้วยว่า ตอนนี้มีระดับบิ๊กถูกคดีแบบนี้ 3 คดี ไม่เห็นมีใครไปชวนให้ต้องพักงาน ยังบริหารงานอยู่ ดังนั้นกรณี 3 รัฐมนตรีก็ต้องอ้างทำนองเดียวกัน

ทั้งนี้ ไม่เพียงนายสมัครจะออกโรงอุ้ม 3 รัฐมนตรีที่พันคดีหวยบนดิน แต่แกนนำพรรคพลังประชาชนและอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยหลายคนต่างออกมาปกป้อง 3 รัฐมนตรีเช่นกัน เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แสดงความข้องใจว่า คตส.ส่งฟ้องคดีหวยบนดินต่อศาลได้หรือไม่ เพราะการใช้อำนาจ ป.ป.ช.ของ คตส.นั้น ทำได้หรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากที่มาของ ป.ป.ช.และ คตส.ต่างกัน

ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นโฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อ้างเช่นกันว่า 3 รัฐมนตรีที่ถูก คตส.ฟ้องคดีหวยบนดินไม่จำเป็นต้องพักงาน เพราะได้ยุติบทบาทตำแหน่งในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณแล้วหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

นายพงษ์เทพ ยังแฉด้วยว่า ถ้า 3 รัฐมนตรีต้องยุติการทำหน้าที่ แล้วทำไมนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีขึ้นค่าตอบแทนให้ตัวเอง และขณะนี้เป็น คตส.ทำไมไม่หยุดการทำหน้าที่

ทั้งนี้ การที่นายพงศ์เทพ ทำเหมือนต้องการดิสเครดิต คตส.ด้วยการแฉกรณีนางเสาวนีย์ อาจเป็นเพราะ นายพงศ์เทพ ลืมไปว่า โฆษกรัฐบาลนี้อย่าง พล.ต.ต.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ก็มีสถานะไม่ต่างจากนางเสาวนีย์เช่นกัน อาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะ พล.ต.ต.วิเชียรโชติ ก็เป็น 1 ในกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ขึ้นเดือนตัวเองจนถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกมาแล้ว (พิพากษาจำคุก 2 ปี แต่รอการลงโทษ) รัฐบาลยังนำมาเป็นโฆษกได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจและไม่เห็นจะหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ทั้งที่หลายฝ่ายยืนยันว่า การถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น กฎหมายกำหนดเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป ดังนั้น พล.ต.ต.วิเชียรโชติ น่าจะเข้าข่ายต้องหยุดทำหน้าที่มากกว่านางเสาวนีย์หรือไม่

ไหนๆ รัฐบาลก็ข้องใจว่า คตส.มีอำนาจในการฟ้องคดีหวยบนดินหรือไม่ รวมทั้งอ้างว่า 3 รัฐมนตรีที่พันคดีหวยบนดินไม่ต้องหยุดทำหน้าที่ เพราะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว เปลี่ยนตำแหน่งแล้ว ลองมาฟังมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในสังคมกันว่าจะเห็นเหมือนรัฐบาลหรือไม่?

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว.กทม.และรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า คตส.มีอำนาจฟ้องคดีหวยบนดิน เพราะ คตส.มีอำนาจหน้าที่เหมือน ป.ป.ช. ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล-เปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ไม่สามารถตรวจสอบหรือไม่สามารถให้รัฐมนตรีที่ถูกชี้มูลหยุดทำหน้าที่ได้นั้น นายเสรี ชี้ว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าหากย้ายตำแหน่งแล้วพ้นผิดได้ ก็คงย้ายกันหมด กฎหมายก็คงเป็นหมัน

“ประเด็นนี้ผมไม่เห็นด้วยกับเขาหรอก เพราะถ้าอย่างนั้นเนี่ย มันกลายเป็นว่า ใครก็ตามถูกดำเนินคดี มันก็ย้ายกระทรวงเปลี่ยนกันไปเรื่อย กฎหมายมันก็เป็นหมันน่ะ เจตนาก็คือ เขา(กฎหมาย) ต้องการว่า ใครที่ถูกดำเนินคดีคือ คุณมีความด่างพร้อยแล้ว 2.เขาไม่ต้องการให้คุณอยู่ในอำนาจรัฐ ที่จะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม 3.ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทุกคนก็ย้ายหมด พอโดนคดีก็ย้าย ย้ายแล้วไม่ต้องดำเนินคดี สมมติว่า อยู่ในตำแหน่งอธิบดี ถ้าหากว่าย้ายแล้วไม่ต้องถูกดำเนินคดี ก็ย้ายเป็นปลัดกระทรวงซะเลยสิ อย่างนี้มันก็เสีย”

อย่างไรก็ตาม แม้ นายเสรี จะเห็นว่า การย้ายตำแหน่งของรัฐมนตรีหรือการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่สามารถรอดพ้นจากการถูกตรวจสอบได้ และไม่สามารถใช้อ้างเพื่อไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ประเด็นที่ว่า 3 รัฐมนตรีที่ถูก คตส.ฟ้องคดีหวยบนดินจะต้องพักงานหรือหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น นายเสรี มองว่า ยังเป็นปัญหาที่โต้แย้งได้ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า 3 รัฐมนตรีอาจไม่จำเป็นต้องหยุดทำหน้าที่ เพราะแม้ คตส.จะมีอำนาจเหมือน ป.ป.ช. แต่อำนาจของ ป.ป.ช.คือการชี้มูลหรือฟ้องคดี ส่วนการหยุดทำหน้าที่เป็นอำนาจของกฎหมาย ไม่ใช่อำนาจของ ป.ป.ช. ซึ่งเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว กฎหมายกำหนดให้นักการเมืองต้องหยุดทำหน้าที่ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ถ้า คตส.ชี้มูลความผิดแล้ว นักการเมืองต้องหยุดทำหน้าที่

ด้าน รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป และอาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นต่างจากนายเสรี โดยบอกว่า เมื่อ คตส.มีอำนาจเหมือน ป.ป.ช. ก็ต้องดูว่า รัฐธรรมนูญพูดถึงอำนาจของ ป.ป.ช.ไว้อย่างไรบ้าง ทั้งในแง่การดำเนินคดีอาญาและการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวแล้ว สามารถตีความได้ว่า รัฐมนตรีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต้องหยุดทำหน้าที่ทันที ดังนั้น 3 รัฐมนตรีที่ถูก คตส.ชี้มูลความผิด ก็น่าจะต้องหยุดทำหน้าที่ทันที ไม่ใช่ไปหยุดตอนที่ศาลรับฟ้องแล้ว

“การใช้อำนาจตามที่ประกาศของ คปค.(ฉบับที่ 30) ที่ให้อำนาจตรวจสอบ เขาให้ คตส.มีอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช.ทีนี้พอมาดูอำนาจ ป.ป.ช.เนี่ย ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา คือตาม รธน.ปัจจุบันก็บอกว่า รธน.ที่ผมดูเนี่ย มาตรา 275 ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวรรคท้าย เขาพูดเรื่องว่า ให้นำบทบัญญัติของมาตรา 272 วรรค 1 ,4 ,5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา 272 เขาพูดถึงการถอดถอนว่า ในกรณีวรรค 4 เมื่อมีการชี้มูล ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้มีการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ด้วย อันนี้สำหรับเรื่องการถอดถอนมาตรา 272 วรรค 4 ซึ่งมันมาโยงกับ 275 วรรคท้าย ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาว่าให้มีการนำเอา 272 วรรค 4 เนี่ยมาใช้โดยอนุโลม เท่ากับว่าเขาเริ่มจากการชี้มูลของ ป.ป.ช.เป็นหลักว่า เห็นว่าควรมีมูลถอดถอนมั้ย หรือมีมูลในการที่จะให้ดำเนินคดีอาญามั้ย คือถ้าเทียบตามนี้เท่ากับว่า เขาเอาการชี้มูลขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนี่ยเป็นต้นไป เพราะฉะนั้นถ้ามองตามนี้ ผมคิดว่า กฎหมายไม่ได้เขียนชัด แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่า เขาน่าจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ (ถาม-ทันทีที่ คตส.ชี้มูล?) ใช่ เพราะอันนี้(กฎหมาย)ไม่ได้บอกว่า (หยุดปฏิบัติหน้าที่)เมื่อศาลรับเรื่อง”

ส่วนกรณีที่บางฝ่าย(เช่น อัยการบางคน และรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาล)อ้างว่า คตส.อาจไม่มีอำนาจฟ้องคดีหวยบนดินต่อศาลหรืออาจทำข้ามขั้นตอน เพราะอัยการยังไม่ได้สั่งคดี แค่มีความเห็นให้ คตส.สอบเพิ่มนั้น อ.อุดม มองว่า คตส.ประกอบด้วยนักกฎหมายใหญ่ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณนาม(ยิ้มแย้ม อดีตรองประธานศาลฎีกา) ,คุณสัก(กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ) ,อ.บรรเจิด (สิงคะเนติ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน มธ.) ,อ.แก้วสรร (อติโพธิ อดีต ส.ว.กทม.) ดังนั้น คิดว่า คตส.คงมีเหตุผลที่หักล้างปัญหาดังกล่าวได้ ก่อนตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ

ด้าน ดร.วิชา มหาคุณ 1 ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา บอกว่า ปกติแล้ว ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใด แม้คดีจะยังไม่ถึงศาล บุคคลนั้นก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ส่วนกรณี 3 รัฐมนตรีที่ถูก คตส.ฟ้องยังไม่หยุดทำหน้าที่ อาจเป็นเพราะยังโต้แย้งเรื่องอำนาจฟ้องของ คตส.หรืออาจชั่งใจเพื่อรอให้ศาลรับฟ้องก่อน

“ความจริงถ้าเป็นกฎหมายของ ป.ป.ช.แค่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล ยังไม่ต้องถึงศาล ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่อันนี้ผมเข้าใจว่ายังมีข้อโต้แย้งว่า 1.คตส.ทำถูกมั้ยที่ดำเนินการฟ้องร้องอย่างนี้ 2.ศาลไม่รู้จะรับหรือเปล่า เขาก็เลยชะลอ(การหยุดปฏิบัติหน้าที่)ไปก่อนไง เพราะเขาจะดูบทบาทตรงนี้ว่า ศาลรับมั้ย ถ้าศาลรับถือว่าเข้ากระบวนการแล้วเนี่ย ก็อาจจะต้องคิดใหม่แล้วว่า 3 รัฐมนตรีควรจะต้องปฏิบัติต่อไปมั้ย (ถาม-คนในรัฐบาลบอกว่า ที่ คตส.ฟ้องมันรัฐบาลที่แล้ว นี่มันคนละหน้าที่กันแล้ว?) เขา(กฎหมาย)ไม่ได้บอกว่าให้พ้นจากตำแหน่งนะ เขาบอกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ อันนี้ก็คงจะต้องดูตามเจตนารมณ์น่ะว่า การปฏิบัติหน้าที่นั้นจะเกี่ยวข้องมั้ยในการทำงาน มันก็เป็นมารยาทด้วยเหมือนกัน อย่างสมมติว่า ท่านจะต้องดูแลเรื่องจะเปิดเรื่องหวย แล้วสมมติว่าศาลรับดำเนินการว่าจะต้องไต่สวนคดีว่า การดำเนินการในเรื่องหวยบนดินที่แล้วมามันผิด แล้วท่านจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ต่อไปว่าท่านจะดันเรื่องหวยต่อไป อันนี้มันก็เกี่ยวข้อง มันก็กระทบอยู่เหมือนกันน่ะ ผมไม่ได้มองนะว่าจะหยุดหรือไม่หยุด แต่มองว่าโดยมารยาทแล้วเนี่ย ควรจะทำต่อมั้ย ถ้าศาลท่านรับไว้”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลพยายามโต้แย้งว่า คตส.ไม่มีอำนาจฟ้องคดีหวยบนดินต่อศาล ดังนั้นศาลอาจไม่รับฟ้องนั้น ดร.วิชา บอกว่า ก็คงต้องดูว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่ และว่า บุคคลที่เป็น คตส.ก็ระดับนักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น เช่น ท่านอุดม (เฟื่องฟุ้ง อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา กรุงเทพใต้)ก็เป็นครูบาอาจารย์ และเป็นอาจารย์สอนตนมาด้วยเช่นกัน ดังนั้น เชื่อว่า คตส.แต่ละท่านคงมีแง่มุมทางกฎหมายที่พิจารณาอย่างดีแล้ว จึงตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาล

เมื่อถามว่า รัฐบาลนี้มีนโยบายออกหวยบนดินอีกครั้ง เห็นด้วยหรือไม่? ดร.วิชา ตอบว่า แม้การออกหวยหรือล็อตเตอรี่ จะเป็นสิ่งที่ทุกชาติมี แต่สำหรับเมืองไทย คตส.ได้วินิจฉัยแล้วว่ารัฐบาลเคยออกหวยบนดินโดยไม่ถูกกฎหมาย ดังนั้นหากรัฐบาลนี้จะออกหวยบนดินอีกครั้ง ก็หวังว่าจะไม่ซ้ำรอยเดิม โดยการดำเนินการต้องมีรูปแบบที่แน่นอน มีกฎหมายรองรับ ต้องโปร่งใส-ตรวจสอบได้ว่า เงินทุกบาททุกสตางค์อยู่ที่ไหน นำเข้างบประมาณแผ่นดินหรือไม่ และจะนำเงินออกมาใช้อย่างไร ไม่ใช่ใครจะเอาเงินไปใช้ก็ได้หรือจะเอาเงินไปแจกใครก็ได้ตามอำเภอใจ-ไร้เหตุผลดังเช่นที่ผ่านมา!!











“ชูศักดิ์” แขวะ “อภิรักษ์” โชว์สปิริตทำผิด กม.
“ชูศักดิ์” ทิ้งบอมม์ “อภิรักษ์” โชว์สปิริตพักงานก่อน คตส.ชี้มูล ระวังเจอข้อหาละเว้นปฎิบัติหน้าที่ ขณะที่ “อภิสิทธิ์” ย้อนถามเล่นเกมการเมืองกับคนสร้างบรรทัดฐานที่ดีหรือ รับคาดไม่ถึง หล่อเล็กโดนหางเลขทั้งที่พยายามแก้ปัญหาแล้ว ด้าน นาม ชี้ อภิรักษ์ ไม่ได้ผิดเรื่องทุจริต แต่ไปเปิดแอลซี แก้ไขสัญญา ไม่ชอบด้วย กม. ด้าน ฝ่าย กทม.ร้อนตัวหวั่นมีปัญหาข้อ กม.หลัง อภิรักษ์ หยุดพักการทำงานให้ วัลลภ รักษาการแทน ส่งกฤษฎีกาตีความ ผู้ว่าฯ กทม.เข้าข่าย กม.ป.ป.ช. มาตรา 55 ที่ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น