xs
xsm
sm
md
lg

คตส.ฟัน “อภิรักษ์-วัฒนา”พร้อม “ณฐนนท-บิ๊กสไตเออร์” โกงรถดับเพลิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คตส.มีมติฟัน “อภิรักษ์-ณฐนนท-วัฒนา” พร้อมอดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และผู้บริหาร สไตเออร์ฯ ทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง กทม. ส่วนคดีหวยบนดิน “ชูศักดิ์” ข้องใจ คตส.มีอำนาจยื่นฟ้องหรือไม่ ย้ำ 3 รมต.ไม่ต้องหยุดทำงาน ด้านโฆษกรัฐบาล สวมวิญญาณ ป.ป.ช.เก่า ฟันธง 3 รมต.ทำงานต่อได้ แม้ศาลรับฟ้อง อ้างมติ ป.ป.ช.เคยพิจารณาไว้ แถมยัน คตส.ไม่มีอำนาจฟ้องเอง เหตุอัยการสูงสุดยังไม่มีความเห็นให้ฟ้องหรือไม่ให้ฟ้อง แต่ให้ไปสอบพยานเพิ่ม ระบุการฟ้องของ คตส.เป็นการทำข้ามขั้นตอน

วานนี้ (12 มี.ค.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้นัดประชุมพิเศษ เพื่อพิจารณากรณีคณะอนุกรรมการไต่สวนการกระทำผิดคดีรถและเรือดับเพลิง ของ กทม.ได้สรุปผลการสอบสวนและกล่าวหาเพิ่มเติมของผู้กระทำผิด

หลังการประชุม นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. และนายบรรเจิด สิงคเนติ คณะกรรมการ คตส. ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนฯ รวมกันแถลงว่า ที่ประชุมได้มีมติให้กล่าวหาเพิ่มเติม ผู้กระทำผิดในคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงอีก 6 คน จากเดิมที่กล่าวหาไปแล้ว 5 คน รวมเป็น11 คน

สำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหาและชี้มูลความผิด 6 คน ประกอบด้วย บริษัท สไตเออร์ฯ ในฐานะผู้สัญญาฝ่ายเครือรัฐออสเตรีย 2. Mr.Mag Mario Minar ในฐานะผู้แทนบริษัท สไตเออร์ฯ 3. นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ 4.นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในความผิดตามกระมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ม.7 ม.10 ม.11 ม.12 ม.13

5.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. 6.คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัด กทม. ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ 5 คน ประกอบด้วย 1.นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2.นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย 3.นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย 4.นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตเลขานุการ รมช.มหาดไทย 5. พล.ต.ต.อภิรักษ์ ตันชูเกียรติ อดีตผอ.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.

นายบรรเจิด กล่าวว่า อนุกรรมการฯ ตรวจสอบแล้วสรุปว่า การทำข้อตกลง เอ็มโอยู ในการจัดซื้อรถและเรือดังเพลิงฯ เป็นการทำข้อตกลงที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ของการทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ คือไทยกับออสเตรีย ซึ่งคู่กรณีฝ่ายออสเตรีย ได้แสดงเจตนาลวงเพื่อให้เข้าใจผิดว่า ออสเตรียมีเจตนาให้เข้าใจว่า เป็นการทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ จะจัดหาเงินทุนให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย อีกทั้งได้จัดให้มีการทำการค้าต่างตอบแทนให้แก่กันอีกด้วย แต่เงื่อนไขดังกล่าวหาได้กระทำไม่ และในการลงนามของฝ่ายไทยและหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ

"ชูศักดิ์" ข้องใจ คตส.ฟ้องหวยบนดิน

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตั้งข้อสังเกตุถึง อำนาจขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่จะสามารถส่งฟ้องต่อศาลได้หรือไม่ว่า คตส.จะสามารถใช้อำนาจ ตามกฎหมายได้ทั้งหมดหรือไม่นั้นยังเป็นข้อที่ต้องถกเถียงกันอยู่ต้องยอมรับว่ากระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.และ คตส.นั้นแตกต่างกัน แม้ คตส.จะใช้อำนาจกฎหมาย ของ ป.ป.ช.แต่เนื่องจากที่มาของของป.ป.ช.และ คตส.แตกต่างกัน

ส่วนรัฐบาลจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น ตนคิดว่าคงส่งไปไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ในการตีความกฎหมาย อีกทั้งถ้าส่งไปศาล ท่านก็คงไม่รับเนื่องจากไม่ใช้ข้อขัดแย้งกันระหว่าง 2 องค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นไป จึงไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จริงแล้วเรื่องที่ คตส.ใช้อำนาจกฎหมายของ ป.ป.ช.ได้มากน้อยเพียงใดเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาที่น่าจะได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาวินิฉัย ซึ่งก็อาจจะร่วมอยู่ในอำนาจการส่งฟ้องต่างๆ ด้วย

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ คตส.ใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. ได้มากเพียงใดหรือไม่ เช่น กรณีที่ คตส.ใช้อำนาจ ป.ป.ช.ตามมาตรา 55 เป็นเรื่องที่ น่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ศาลอาจจะนำมาพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับ อีกประเด็นที่ศาลน่าจะหยิบมาเป็นประเด็นพิจารณาคือ ในชั้นอัยการยังไม่ได้สั่งฟ้อง เพียงแต่ บอกให้คตส.ไปรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม แต่ คตส.กลับดำเนินการส่งฟ้อง ก็ต้องวินิจฉัยเป็นอำนาจหน้าที่ของคตส.หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นรัฐบาลก็จะไม่ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในชั้นนี้ยังไม่ได้ตกลงถึงขั้นนั้น เท่าที่ฟังจากนายกรัฐมนตรี ถึงกรณี 3 รมต. เราก็อยากจะรับฟังนักกฎหมายทั้งหลายก่อนว่ามีความเห็น อย่างไร จนกว่าจะถึงวันที่ 14 พ.ค. ก็ต้องฟังศาลก่อนว่าจะรับฟ้องหรืไม่รับฟ้อง ซึ่งถ้าศาลรับเราก็หาข้อยุติว่าควรจะหยุดปฏิบัตหน้าที่หรือไม่ด้วยการส่งตีความก็ได้ ระหว่างรอก็คิดว่านายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ก็จะได้มีการหารือกันเป็นการ ภายใน หรือปรึกษานักกฎหมายแล้วก็รอฟังวันที่ 14 พ.ค. ถ้าศาลรับ ก็จะได้ตัดสินใจว่า จะหยุดหรือไม่หยุด แล้วก็สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กฎหมายเป็นเรื่องที่ มีความเห็นแตกต่างกันได้ ซึ่งความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่สุดท้ายแล้วก็มีองค์กรที่เข้ามาตัดสิน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้า 3 รมต.ทำหน้าที่ต่อไปแล้วหากปรากฎภายหลังว่ามีความผิด แล้วต้องออกคำสั่งต่างๆ ที่ 3 รัฐมนตรีลงนามตอนนี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ถ้าตีความว่าหยุดปฏิบัตหน้าที่ ต้องดูว่า ตีความให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่องอะไร ตนคิดว่าการหยุดปฏิบัติหน้าที่คือหยุดปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้น ในเรื่องที่ถูกกล่าวหาร้องเรียน หลักทั่วไปการกระทำใดๆ ที่ทำไป โดยสุจริต การกระทำนั้นก็ถือว่าชอบ เช่นการที่ ส.ส.ถูกถอนสมาชิกภาพ ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ถอน ส.ส.จริง แต่เขียนไว้ชัดเจนว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการกระทำใดๆ ที่ผ่านมา อันนี้ก็เทียบเคียงกันได้

ส่วนที่ นพ.สุรพงษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่มีอำนาจโดยตรง ต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หากให้ดำรงตำแหน่งอาจจะเป็นการให้คุณให้โทษได้ ในการฟ้องคดีหวยบนดินนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าพูดอย่างนั้นก็ถูก แต่ต้องถามว่า เรื่องที่ร้องเรียนเรื่องนั้น ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งอะไร เป็น รมว.ไอซีที ก็ไม่เกี่ยวกัน ตนมองว่าเรื่องร้องเรียนในขณะนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ นพ.สุรพงษ์ แต่ขณะนี้ถ้าป้องกันปัญหารัฐมนตรีก็ไม่สังการเรื่องนั้น มอบเรื่องนั้นให้คนอื่นดูแลไป ตนคิดว่าก็น่าจะทำได้

โฆษกรัฐยกมติ ป.ป.ช.ยัน 3 รมต.ทำงานได้

ด้าน พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีต คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล แถลงถึงประเด็น 3 รัฐมนตรี จะต้องหยุดทำงานหรือไม่หลัง คตส.ยื่นฟ้องคดีทุจริตหวยบนดินว่า ตนเคยเป็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้อ่านมติป.ป.ช.จำนวนมากเป็นหมื่นมติ และพบว่าเคยมีการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ครั้งที่ 24/2545 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2545 พิจารณา กรณีที่มีส.ส.ท่านหนึ่ง ที่ก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและถูกกล่าวหา เรื่องจึงมาถึง ป.ป.ช.ซึ่งมีการรับเรื่องไว้พิจารณา และต่อมาท่านได้ลาออกจากการเป็นผู้ว่าการทางพิเศษฯ แล้วมาลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และนอกจากนี้ก็มีอีกกรณีซึ่งขณะที่ท่านถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักผู้ว่าการทางพิเศษฯ หลังจากนั้นท่านก็มาเป็นผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า ป.ป.ช.ชุดนั้นมีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธานฯ มีมติเรื่องดังกล่าวออกมาว่า การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ 2542 ที่ระบุว่าจะต้องกล่าวหา ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปี และการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องไม่ขาดตอนและต่อเนื่องกัน หากขาดตอนแล้ว จะถือเอาความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในครั้งหลังมาเป็นองค์ประกอบความผิดในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในครั้งก่อนไม่ได้ หมายความว่ากรณีของรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน ตำแหน่งรัฐมนตรีขณะนั้นหมดไปแล้ว แต่ปัจจุบันมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ ฉะนั้นการกล่าวหาของท่านในคดีเก่าจะไม่ทำให้ท่านต้องหยุดทำงานในตำแหน่งใหม่

“ผมฟันธงเลยว่า รัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านต้องทำงานต่อไป โดยไม่ต้องหยุด และสมมติว่าเมื่อส่งฟ้องศาลแล้วศาลไม่รับฟ้องก็จบ ถึงประทับรับฟ้องก็ยังไม่ต้องหยุดทำงาน จนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิดหรือถูก รวมถึงการหยุดทำงาน ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พวกปลัดกระทรวง ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ก็ไม่ต้องหยุด ทำงานเหมือนกัน เพราะว่ากฎหมายป.ป.ช.จะหยุดทำงานเฉพราะนักการเมืองเท่านั้น ฉะนั้นคดีนื้ผมก็สรุปว่าทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่รับราชการอยู่ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นนักการเมือง ทุกท่านเลยก็ไม่ต้องหยุดทำงานจนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิดหรือถูกตอนนั้นก็ว่ากันไป”พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวฟันธงเสียงหนักแน่น”

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวอีกว่า มีนักกฎหมายหยิบมาเฉพาะบางมาตรา มาพูดทำให้คนสับสน เอามาตรานี้มาพูดก็วิเคราะห์มาตรานี้แล้วก็ฟันธง ซึ่งไม่ใช่ เพราะมันจะเกี่ยวโยงกันไปหมด จึงอยากให้นักกฎหมายไปอ่านกฎหมายให้ครบทุกมาตรา ซึ่งเรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. 2542 ซึ่งต้องดูมาตรา43(2) , 55 , 66 และ 84 และให้ดูประกาศคณะปฏิรูปฯ(คปค.)ฉบับที่ 30 ข้อ 5 อนุ 2 ดังนั้นต้องอ่านให้ครบทุกมาตรา

โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า ตนเห็นมีการสัมภาษณ์กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ก็อยากเรียนย้ำว่ามติป.ป.ช.มีเป็นหมื่นมติ ซึ่งมติที่ตนบอกไปออกมาเมื่อปี 2545 และไม่ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ รวมทั้งไม่ได้ลงในอินเตอร์เน็ตด้วย ฉะนั้น ป.ป.ช.ชุดใหม่บางท่านก็จะไม่รู้มตินี้ อีกทั้งกรรมการป.ป.ช.บางท่านก็ไม่ได้เป็น กรรมการเก่า แต่ถ้าใครสนใจว่ารายละเอียดเป็นอย่างไรก็ต้องไปถามนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะว่าท่านเป็นรองเลขาธิการสมัยที่ นายโอภาสเป็นประธานป.ป.ช.ชุดนั้น

“แต่ถ้าถามว่ามติ ป.ป.ช. 24/2545 มีความหมายอย่างไร เมื่อ ป.ป.ช. มีมติไปแล้วก็เหมือนกับคำพิพากษาของศาลฎีกาขก็จะยึดถือยี่ต๊อก เพราะฉะนั้นที่เราเรียนหนังสือทางกฎหมายมา ถ้าศาลฎีกาพิพากษาอย่างไรแล้วผู้พิพากษา ท่านใหม่ท่านก็จะพิพากษาตามนั้น เป็นยี่ต๊อก อันนี้ก็เหมือนกันถ้ามีมติไปแล้วมตินี้ก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนี้จนกว่าจะมีมติใหม่เพื่อจะลบล้างมติเก่าอันนี้คือประเด็นที่ 1”

งัด กม.ยืนยัน คตส.ไม่มีอำนาจส่งฟ้อง

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของการที่ คตส. จะไปฟ้องเอง ซึ่งในประกาศคปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 อนุ 2 ให้อำนาจคตส.ไว้เฉพาะพ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 โดยให้คตส.ใช้อำนาจของกรรมการป.ป.ช.ตรวจสอบ แต่เมื่อถึง ตอนที่จะฟ้องจะอยู่ในข้อ 9 ที่ระบุว่า ในกรณีที่คตส.มีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดในตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง 2542 โดยให้ถือว่ามติของคตส.เป็นมติของป.ป.ช. และในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นที่แตกต่างให้คตส.มีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คตส. มีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีแล้วแต่กรณี

“ผมอยากให้ผู้ที่มีความรู้ต้องอ่านข้อ 9 เพราะว่าคดีทั้งหลายส่งไปให้อัยการ แล้วอัยการก็ส่งกลับมาให้สอบเพิ่มเติม อัยการยังไม่ได้มีความเห็นอย่างไร ว่าสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง เพียงแต่ให้สอบเพิ่มเติมเท่านั้น ก็ยังไม่สอบเพิ่มเติม แต่ก็จะข้ามขั้นตอนไปฟ้องเอง” พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวและว่าฉะนั้นจึงคิดว่าเรื่องปัญหา ข้อกฎหมายอยากให้นักกฎหมายช่วยกรุณาอ่านกฎหมายให้ครบ และถ้ามีมติไปแล้วต้องถือมตินั้นเป็นหลักในการดำเนินการ

พล.ต.ต.วิเชียรโชติ กล่าวถึงหัวใจของกฎหมายว่า บัญญัติเพื่อให้คนปฏิบัติและมีผลต่อคนส่วนมากของประเทศ ฉะนั้นตนอยากจะเรียนประชาชนว่าปล่อยให้ ขบวนการตามกฎหมายที่ถูกต้องดำเนินไปดีกว่า ผลเป็นอย่างไรก็คงต้องเป็นอย่างนั้น

ส่วนกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีบอกว่ามีบิ๊ก 3 ท่าน เป็นกรณีเดียวกัน พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า ก็เข้ากรณีอย่างนี้เช่นเดียวกัน คือไ ปถูกฟ้องในตำแหน่งเก่า แต่ก็ไม่ต้องหยุดทำงานในตำแหน่งใหม่ เมื่อถามว่า มีใครบ้าง ที่นายกฯพูดถึง พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า พอทราบแต่ไม่ขอระบุ เพราะเซนซิทีฟ เมื่อถามว่าแต่สามารถเทียบเคียงกับ 3 รัฐมนตรีนี้ได้ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า แน่นอน

“อันนี้เป็นกฎหมาย ไม่ใช่เป็นความคิด เป็นความเห็น หรือว่าความรู้สึก อันนี้เป็นกฎหมาย ฉะนั้นผมอยากจะปิดประเด็นนี้ไปเลย ทั้ง 3 ท่านก็จะได้ทำงาน ตามปกติและข้าราชการประจำก็ทำงานตามปกติ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องกระบวนการ ทางศาลที่พิจารณา และยังมีปัญหาอยู่ว่าศาลจะรับหรือไม่รับเพราะว่าอัยการยังไม่ได้ เป็นผู้มีความเห็นในการสั่งคดี เป็นการข้ามขั้นก็อยากจะฝากนักกฎหมายให้พิจารณา ด้วย อย่าไปใจร้อนเรื่องกฎหมาย”

"พงศ์เทพ" ย้อนเกล็ด คตส.

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯและรมว.คลัง, นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน และ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม ต้องยุติ การปฎิบัติหน้าที่ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ที่อ้างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 55 เพราะการชี้มูลความผิดทั้ง 3 คนของคตส.ที่ได้ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย2ตัว และ3ตัว ในตำแหน่งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งได้บยุติบทบาทหน้าที่ภายหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปแล้ว

“ฉะนั้นหากเอาคดีนี้มาเทียบเคียงก็เท่ากับว่านางสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการ คตส. แต่ได้ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในกรณีการขึ้น ค่าตอบแทนให้ตัวเองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในสมัยที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงก็มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกคนมที่ถูกชี้มูลในคดีนี้ก็ไม่ลาออกจากการเป็น ที่ปรึกษารัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ดังนั้นจึงมีคำถามทำไมนางเสาวนีย์ถึงไม่ยุติการปฎิบัติหน้าที่”

อนึ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ คือ นายอุระ หวังอ้อมกลาง อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอภัย จันทนจุลกะ

"สัก" ป้อง "เสาวนีย์" ไม่ใช่ ขรก.การเมือง

นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. กล่าวว่า กรณีที่นายพงศ์เทพ ระบุว่า นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการ คตส. ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที กรณีที่ถูกยื่นฟ้อง ต่อศาลกรณีการขึ้นเงินเดือนตัวเอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 กำหนดว่ากรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้เฉพาะมาตรา 43 (2) เฉพาะบุคคลที่กำหนดในมาตรา 66 ที่ระบุว่า เป็นกรณีการดำเนินการกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองเท่านั้น ซึ่งนางเสาวนีย์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่เข้าข่ายมาตราดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าการที่ออกมาพูดเช่นนี้เป็นการดิสเครดิตของ คตส.หรือไม่ นายสัก กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่การชี้นำใดๆ ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวจะกระทบต่อคดีของ คตส.หรือไม่ เห็นว่าจะเชื่อมอย่างไรก็คงไม่ถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น