“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ยกนิ้วมือเขียนพล็อต “แม้วกราบพื้น” ภาพการตลาดชั้นยอดเรียกคะแนนสงสารได้ตรึม จับพิรุธอดีตนายกฯ เริ่มขาดความเชื่อมั่นไม่พร้อมตอบคำถามสื่อ ชี้ “หมัก” หงอยทันตา หลังนายกฯ ตัวจริงกลับประเทศ จับตาข้าราชการจะฟังใครระหว่างคนมีอำนาจเซ็นกับคนมีอิทธิพลอยู่ข้างนอก
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 2
รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทาง เอเอสทีวี คืนวันที่ 28 ก.พ. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระ และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมดำเนินรายการ ช่วงแรกได้กล่าวถึงการหายตัวไปของนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ สมาชิกยามเฝ้าแผ่นดินอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากได้ขึ้นโรงพักเพื่อติดตามคดีร้องทุกข์ความไม่โปร่งใสในโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ย่านสถานีรถไฟ บ้านไผ่ และญาติระบุว่า ในคืนดังกล่าวนายกมลตั้งใจจะแจ้งข้อหา ผกก.สภ.บ้านไผ่ ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจนขณะนี้ยังไม่ทราบว่านายกมลหายไปไหน จึงขอให้ประชาชนที่รู้เบาะแสให้ข้อมูลกับตำรวจ หรือเอเอสทีวีด้วย
ต่อมาผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ภาพที่ พ.ต.ท.ทักษิณเดินผ่านประตูกระจกออกมาสู่ที่โล่งที่จัดไว้แล้วก้มลงกราบที่พื้นเพื่อให้ผู้สื่อข่าว-ช่างภาพจำนวนมากถ่ายภาพนั้น ทำให้ดูเหมือนเป็นการก้มลงกรายเพื่อสร้างภาพมากกว่าที่จะก้มลงกราบเพราะความรู้สึกสำนึกในแผ่นดินเกิดจริงๆ เพราะถ้ามีความรู้สึกสำนึก เมื่อเท้าลงแตะพื้นเมื่อไหร่ต้องก้มลงกราบเมื่อนั้น ไม่ต้องรอเดินออกมาข้างนอกเพื่อให้ช่างภาพได้ถ่ายภาพ
ทั้งนี้ เชื่อว่า ในวันรุ่นขึ้น ภาพดังกล่าวน่าจะเป็นภาพขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ อาจทำให้บางคนหลังน้ำตาด้วยความตื้นตันใจ เพราะแม้ผู้ประกาศข่าวของโทรทัศน์บางช่อง ก็ยังอดที่จะทำเสียงสั่นเครือไม่ได้ ถือเป็นภาพการตลาดที่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินรายการมองว่า จำนวนประชาชนที่ไปต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณมีประมาณ 3 พันคน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีนับหมื่นหรือถึงแสนคน ขณะที่บรรดาคนใกล้ชิด อดีต ส.ส.ไทยรักไทย ส.ส.พลังประชาชน คนในรัฐบาล ไปต้อนรับกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ได้เข้าใกล้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ สมใจ และในขบวนรถที่ออกจากสนามบินนั้น รถที่ ร.ต.อ.เฉลิมนั่งออกมาพร้อมกับนายวัน อยู่บำรุง ลูกชาย ก็เป็นคันที่ 2 ต่อจาก คันของ พ.ต.ท.ทักษิณ
สำหรับขั้นตอนทางคดีนั้น การดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ต่างจากกรณีของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้ โดยในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดานั้น ศาลได้ให้ประกันตัวในวงเงิน 8 ล้านบาท ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต และห้ามดำเนินการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดี
ส่วนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเอสซีแอสเสทนั้น อัยการให้ประกันตัวในวงเงิน 1 ล้านบาท และให้รายงานทุกครั้งก่อนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้นำเสนอต่ออัยการสูงสุด และเป็นคดีที่มีความสำคัญ เป็นคดีที่ยากที่สุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะมีสิทธิที่จะมีความผิดฐานซุกหุ้น เรื่องภาษี และความผิดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องย้ายอธิบดี ดีเอสไอ ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนตัวอธิบดีดีเอสไอคนใหม่ จะเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ การต่อสู้ในชั้นศาลจะให้การเพื่อให้สำนวนอ่อนลงหรือไม่
** จับพิรุธ“แม้ว”ขาดความเชื่อมั่น
สำหรับการแถลงข่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณที่โรงแรมเพนนินซูลานั้น หลายคนวิเคราะห์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเลือกที่จะไม่ตอบคำถาม แต่โยนให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกส่วนตัวเป็นคนตอบคำถามแทน
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า คนที่วางพล็อต บท และฉากครั้งนี้ ไม่ธรรมดา ตั้งแต่เช้าที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินออกมาแล้วกราบที่พื้น ทำให้กองเชียร์น้ำตาซึม เห็นแล้วสงสาร ตอนที่มาแถลงข่าวก็มีน้ำเสียงสั่นเครือ เอาครอบครัวมาอยู่หลังเวทีแถลงข่าวทำให้ดูอบอุ่น เป็นชายที่รักครอบครัว ทำให้ได้คะแนนสงสารไปมาก
อย่างไรก็ตาม การที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ตอบคำถามเอง บวกกับน้ำเสียงที่พูดออกมา รวมทั้งแววตาที่แสดงออก ทำให้ดูว่าในวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณขาดความเชื่อมั่นลงไป แววตาที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในอดีต วันนี้วูบลงไปมาก เพราะคะแนนเสียงที่ลดลงไป ทั้งที่เขาลงทุนทำวีซีดีช่วยหาเสียง โชคยังดีที่พรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาล การเดินทางมาวันนี้ถ้าไม่ใช่เพราะพล็อตเรื่องที่ดี ทักษิณคงจะขาดความเชื่อมั่นลงไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ตอบนักข่าวเอง คงเป็นเพราะขาดความเชื่อมั่นว่าจะหลุดอาการอะไรออกมาหรือไม่ รวมทั้งเป็นเพราะไม่พร้อมที่จะตอบนักข่าวด้วยคำถามมากๆ หรืออาจไม่แน่ใจในเรื่องคดีความ
นอกจากนี้ ยังเป็นที่สังเกตว่า มีความพยายามสร้างข่าวว่าจะมีการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ มีการปล่อยข่าวว่าปืนหาย จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณดูน่าสงสารเหมือนตอนคาร์บอมบ์หรือไม่ เพราะในข้อเท็จริงในเรื่องความปลอดภัยนั้น คงไม่มีใครไปทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณได้ มีแต่การสร้างข่าวเพื่อชิงพื้นที่สื่อให้คนหันมาสนใจ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น
**โต้ “แม้ว”เลือกเอง ไม่ชี้แจงข้อกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามข่าวการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งแต่เช้าจนเย็น ยังไม่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้สำนึกกับสิ่งที่ตนเองได้ทำเอาไว้ มีแต่บอกว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้ง ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา วันนี้จึงได้กลับเข้ามาเพื่อที่จะต่อสู้คดีพิสูจน์ข้อกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรม
ผู้ดำเนินรายการกล่าวต่อว่า จริงหรือไม่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะก่อนหน้านี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ เคยท้าให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาโต้กันทางทีวี ใครมีหลักฐานอะไรเอาออกมาสู้กัน แต่พ.ต.ท.ทักษิณไม่รับคำท้า แม้ว่า จะเคยรับปากทางรายการของนายสรยุทธ์ สุทัศนจินดา แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ยกเลิก เพราะไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้า ไม่กล้าพูดคุยพิสูจน์ความจริงต่อหน้าประชาชน แล้วมาถึงวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะมาพูดได้อย่างไรว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ตัวเขาเลือกเอง แล้วเพิ่งมาพูดวันนี้ ถือว่าช้าไปมาก แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่ายังดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้กลับมาสู้คดี
** “หมัก-แม้ว” ขรก.เชื่อฟังใคร?
ต่อมาผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงท่าทีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมว่า ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมานายสมัครดูหงอยเหงาลงไปมาก แม้ว่านายสมัครจะมีอำนาจการบังคับบัญชา ได้กำกับดูแลกระบวนการยุติธรรมส่วนที่ขึ้นกับการเมือง ได้คุมทหารถือว่ามีอาวุธในมือ และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ดูแลเอง แต่วันนี้ นายสมัครไม่มีใครสนใจ เหมือนเป็นแค่ลุงแก่ๆ คนหนึ่ง ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน 230 กว่าคน ก็ไปต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณหมด เข้าประชุมสภาแค่ 70 กว่าคน
ขณะที่ การไปประชุมสภากลาโหมของนายสมัครก็ดูเงียบเหงา นักข่าวรอถามถึงความรู้สึกของนายสมัครต่อการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมัครก็หนีนักข่าว พูดเพียงเล็กน้อยว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เท่ากับว่าตอนนื้นายสมัครเพิ่งได้เป็นนายกฯส้มหล่นไม่นาน นายกฯตัวจริงก็กลับมา
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า สถานการณ์นับจากนี้จะเป็นการต่อสู้ที่คลาสสิกระหว่างนายสมัคร กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนายสมัครนั้นมีอำนาจในมือในฐานะนายกฯ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะควบคุม ครม.ได้ การขับเคี่ยวจะเข้มงวดขึ้นในช่วงการโยกย้ายนายทหาร ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณต้องการรับประกันความปลอดภัย แต่ถ้านายสมัครไม่เห็นด้วย พ.ต.ท.ทักษิณจะทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ เรื่องเกี่ยวกับคดีความที่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ถ้านายสมัครไม่ยอมทำตาม พ.ต.ท.ทักษิณจะทำอะไรได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณนั้นถือว่ามีบารมี มีอำนาจเงิน มีมวลชน และมีอิทธิพลต่อ ส.ส. รัฐมนตรี และข้าราชการ มากกว่านายสมัคร มี 2 จุดสำคัญคือ ทหาร กับ อัยการสูงสุด จะยืนอย่างไรเมื่อมีนาย 2 คน เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ถ้านายสมัครต้องการเอาอำนาจกลับ ต้องใช้เครื่องมือให้เป็น เพราะคนเซ็นคือนายสมัคร แต่คนทีมีอิทธิพลอยู่ข้างนอก สถานการณ์ที่แปลกประหลาดและคลาสสิกอย่างนี้ เป็นวาระที่ต้องจับตามอง
“คุณทักษิณ จะทำอย่างไร และคุณสมัคร จะทำอย่างไร ที่ต่างคนต่างปีนเกลียวซึ่งกันและกัน มีการสลับไขว้อำนาจของแต่ละขั้นตอนด้วยนะครับ อยู่หลายชั้นมาก แต่ผมเชื่อว่าคุณสมัคร จะใช้อำนาจเป็น ดูจากการวางโครงสร้างอำนาจ เพียงแต่ว่าคุณสมัคร จะเลือกตัดสินใจบริหารจัดการกับวาระที่ตนเองเป็นนายกฯ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ หรือจะเลือกไม่อยากเดือดร้อน ยอมเป็นหัวหลักหัวตอ ใครจะดูถูกเหยียดหยามก็ช่างมัน ขอให้ได้นั่งตำแหน่งอย่างไม่ต้องสนใจใคร ดูเฉพาะเบื้องหน้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และก็โครงการที่อยู่เบื้องหน้าก็พอแล้ว เรื่องกระบวนการยุติธรรมและทหาร ปล่อยไป”
อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินรายการ มองว่านายสมัครคงไม่อยากปล่อย 2 อำนาจดังกล่าวไป เพราะถ้าปล่อย โครงการต่างๆ ที่ฝันไว้ก็จะถูกกำจัดได้โดยง่าย ด้วยกระบวนการของมือที่มองไม่เห็นซึ่งบินเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้จะเห็นว่า ไม่ทันไร นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลังก็จะเข้าไปขอคำปรึกษาเรื่องการยกเลิกมาตรการ 30% ซึ่งอาจเห็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดเกี่ยวกับมาตรการ 30% ภายในไม่กี่วันนี้ หลังจากที่ไม่กล้าตัดสินใจมาหลายวัน
**เหิมย้าย ขรก.ระวังขัดรัฐธรรมนูญ
ต่อมา ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงคำสั่งย้ายนายปราโมช รัฐวินิจ จากตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ไปดูแลโครงการสถานีโทรทัศน์อาเซียนว่า เป็นเพราะทุกคนต้องการจะเอาใจนายที่เป็นนายกฯนอกทำเนียบหรือบางคนเรียกว่าอภินายกฯ อย่างไรก็ตาม การสั่งย้ายข้าราชการนั้น หากไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 วรรค 3 จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด สามารถส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ข้าราชการที่ถูกสั่งย้ายมักจะบอกว่าต้องทำใจ แต่การคิดแบบนี้น่าเป็นห่วง เพราะถ้าเห็นว่าเป็นโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรามแล้ว ควรจะผนึกกำลังกันคัดค้านมากกว่า การโยกย้ายข้าราชการในอดีตอาจเป็นเรื่องปกตอ แต่ที่ผิดปกติคือมีการย้ายคนที่ไม่ได้ทำความผิด เช่น กรณีการย้ายเลขาธิการองค์การอาหารและยา(อย.) ซึ่งมีคำถามว่าเขาทำผิดอะไร เขาทำงานในตำแหน่งที่สำคัญนี้ได้ดีหรือไม่ เป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีการย้ายอธิบดีดีเอสไอที่กล้าเผชิญหน้ากับฝ่ายการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่การย้ายอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ก็อ้างเหตุผลแบบศรีธนญชัย ให้ไปดูแลหน่วยงานที่ยังไม่ได้ตั้งขึ้น
“เป็นข้ออ้างเท่านั้นเอง ในการที่จะกระทำกับข้าราชการ ข้าราชการที่ดี ที่เขาเป็นคนดี เป็นคนปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นคนช่วยเหลือประชาชน ข้าราชการและประชาชนต้องอย่าทอดทิ้ง ผู้บังคับบัญชาก็อย่าทอดทิ้ง ซ้ำร้ายกว่านั้นคือว่า จะมีใครยอมได้ถ้าดึงคนที่มีประวัติด่างพร้อยมานั่งตำแหน่งสำคัญ เสมือนการปูนบำเหน็จ และให้มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่มากขึ้น”ผู้ดำเนินรายการกล่าว
คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 1
( 56 k ) | ( 256 K )
คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2
( 56 k ) | ( 256 K )