แม้จะถูกมองว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ด้วยการเด้งอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์อย่าง “สุนัย มโนมัยอุดม” พ้นอธิบดีดีเอสไอ เพื่อเคลียร์รันเวย์คดีต่างๆ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ดูเหมือน รบ.จะยังไม่ยี่หระต่อข้อครหาว่าโยกย้าย ขรก.ไม่เป็นธรรม เพราะ รมต.สาธารณสุข อย่าง “ไชยา สะสมทรัพย์” ได้ย่ำรอย รมต.“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ด้วยการเด้งฟ้าผ่า ขรก.ระดับสูงของกระทรวงอีกหลายคน ราวกับต้องการ “ตัดตอน” ผู้ไม่สนองนโยบายล้มเลิกซีแอลอย่างไรอย่างนั้น หลังจากนี้ สังคมคงได้เห็น รบ.โยก ขรก.เพื่อตั้ง “คนของตัวที่สั่งได้” อีกหลายระลอก ตราบเท่าที่ ขรก.ยัง “ยอมก้มหัว” ให้กับอำนาจอธรรมของฝ่ายการเมือง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ปฏิบัติการล้างบาง-เช็กบิลเพื่อวางฐานอำนาจหรือฟื้นอำนาจเก่าของระบอบทักษิณให้เฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้งด้วยน้ำมือรัฐบาลพรรคพลังประชาชนนอมินีไทยรักไทยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว และกำลังถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกำลังทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรมเพียงเพื่อปูทาง-เคลียร์รันเวย์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ติดบ่วงทุจริตอยู่หลายคดี สามารถกลับประเทศได้เร็วขึ้นและคงสู้คดีได้อย่างไม่ยากเย็น ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือคำสั่งโยกนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่ แล้วให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มาช่วยรายการในตำแหน่งรักษาการอธิบดีดีเอสไอแทน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา
ใครที่ติดตามผลงานของดีเอสไอยุค นายสุนัย เป็นอธิบดี คงไม่แปลกใจว่าทำไมรัฐบาลถึงอยากเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมนี้ แล้วเอาคนที่คิดว่าตนเองไว้ใจหรือสั่งได้ให้มาคุมกรมนี้แทน ถ้าไม่ใช่เพราะดีเอสไอยุคที่มีผู้บริหารอย่างนายสุนัย ที่เป็นถึงอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ได้โชว์ผลงานสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จนพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ปกปิดการถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอสซีฯ โดยมีรายงานว่า หุ้นดังกล่าวถูกโอนให้บริษัทและกองทุนต่างๆ หลายทอด เพื่ออำพรางการถือหุ้นหรือเป็นนอมินีให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน (เช่น โอนให้บริษัท วินมาร์ค ในช่วงกลางปี ’43 ต่อมาก็โอนให้กองทุนรวมแวลู อินเวสท์เมนท์ ในวันที่ 11 ส.ค.2546 ให้หลังไม่ถึงเดือน(1 ก.ย.46) ก็โอนให้กองทุนโอเวอร์ซีโกรท และกองทุนออฟชอร์ ไดนามิค ก่อนที่บริษัทเอสซีจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 13 พ.ย.46)
ซึ่งดีเอสไอยุคนายสุนัยสามารถสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้ จนสามารถเสนอสำนวนต่ออัยการ (เมื่อ 8 ก.พ.) พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ,คุณหญิงพจมาน และบริษัท เอสซีฯ ที่มีภรรยาของพี่ชายคุณหญิงพจมานอย่างนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ (ภรรยา พล.ต.อ.เพรียวพันธ์) เป็นกรรมการบริษัท และมีภรรยาของพี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมานอย่าง นางบุษบา ดามาพงศ์ (ภรรยาของนายบรรณพจน์) เป็นอดีตกรรมการบริษัท ซึ่งอัยการนัดผู้ต้องหามาฟังคำสั่งคดีในวันที่ 28 มี.ค.นี้ (เวลา 10.00 น.)
สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ 3 ในคดีนี้ ทางดีเอสไอยังไม่ได้ตัวส่งอัยการ จึงรายงานอัยการไปก่อนหน้านี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดี กระทั่งศาลได้อนุมัติหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น ทันทีที่ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศ ก็จะต้องถูกคุมตัว (ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่คงใช้คำว่า “เชิญ” มากกว่า) ไปยังดีเอสไอ รวมทั้งต้องขึ้นศาลเพื่อถอนหมายจับในคดีปกปิดหุ้นเอสซีฯ รวมทั้งต้องขึ้นศาลเพื่อมอบตัวในคดีซื้อที่รัชดาฯ ที่มีการออกหมายจับเช่นกัน
การที่ นายสุนัย ถูกโยกพ้นดีเอสไอ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด จึงไม่เพียงสะท้อนถึงการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม แต่ยังบ่งบอกว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังถูกแทรกแซงอีกด้วย แต่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม อย่างนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เจ้าของคำสั่งโยกอธิบดีดีเอสไอ ได้แถลงยืนยันหลังคำสั่งโยกย้ายมีผลแล้ว (เมื่อ 25 ก.พ.) ว่า นี่ไม่ใช่การล้างแค้นแทนน้อง(พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์) ที่ถูกโยกพ้นอธิบดีดีเอสไอหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 แต่เป็นเพราะมีกฎหมายให้ตั้งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภายใน 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 24 ม.ค.ซึ่งตนเห็นว่า นายสุนัย เป็นผู้พิพากษา มีความสามารถเหมาะสมที่จะไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ท.พร้อมยืนยันว่า การโยกนายสุนัยครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับที่รัฐบาลมีนโยบายเยียวยาข้าราชการที่ถูกโยกโดยไม่เป็นธรรมหลังรัฐประหารแต่อย่างใด
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (รัฐมนตรีเงา) ก็ได้จับพิรุธการโยกนายสุนัยพ้นอธิบดีดีเอสไอ โดยตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้ว คนที่เหมาะจะไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.ก็คือ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ฝ่ายวิชาการ เพราะนายธาริตมีบทบาทร่วมร่างกฎหมายโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.มากกว่า และว่า หากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมอยากคืนความเป็นธรรมให้กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองเลขาธิการ ป.ป.ส.ที่เคยเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ ก็ควรโยก พ.ต.อ.ทวี กลับเป็นมาเป็นรองอธิบดีดีเอสไอเหมือนเดิม ไม่ใช่โยกกลับมาให้ใหญ่กว่าเดิม โดยข้ามหน้าข้ามตารองอธิบดีดีเอสไอในปัจจุบัน
ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม อ้างเหตุที่ไม่ให้นายธาริตไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.ว่า เพราะ นายธาริต เก่งกาจเรื่องอื่น มีอย่างอื่นที่ท่านต้องทำอีกเยอะ ส่วนเหตุผลที่ต้องให้ พ.ต.อ.ทวีมานั่งอธิบดีดีเอสไอแทนนายสุนัยนั้น นายสมพงษ์ อ้างว่า เพราะดีเอสไอมีหน้าที่ปราบปรามทุจริต ปราบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งต้องมีการสืบสวนสอบสวนจับกุม มีวิธีเทคนิคต่างๆ ดีเอสไอจึงจำเป็นต้องใช้คนอย่าง พ.ต.อ.ทวี ที่ทำงานเกี่ยวกับการปราบปรามสืบสวนสอบสวนมา และว่า การทำงานของดีเอสไอ บางครั้งก็ต้องมีการจู่โจม ต้องไปจับหรือเรียกมาสอบสวน ดังนั้นงานที่ตำรวจทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ต้องมาให้กรมนี้ทำ
อย่างไรก็ตาม ถ้าฟังสุ้มเสียงของนายสุนัย มโนมัยอุดม ที่ถูกโยกจากอธิบดีดีเอสไอไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.แล้ว แม้นายสุนัยจะพร้อมรับกับการถูกโยกย้าย แต่ถ้าเลือกได้นายสุนัยคงอยากอยู่ที่เดิมมากกว่า เพราะนายสุนัยอยากให้ดีเอสไอทำงานแบบ“พลเรือน”มากกว่าทำงานแบบ “ตำรวจ” โดยบอก ความตั้งใจของตนนั้น อยากให้กรมนี้เป็นพลเรือน ไม่อยากให้มีวัฒนธรรมแบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องการให้มีการใช้กำลังใดๆ เพราะควรใช้สมองทำงาน!
ทั้งนี้ ไม่เพียงการโยกอธิบดีดีเอสไอเท่านั้น แต่ยังมีข่าวว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็อยู่ในข่ายที่อาจถูกโยกเช่นกัน รวมถึงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อาจต้องเปิดทางให้พี่ชายคุณหญิงพจมานอย่าง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นมากุมบังเหียนแทน นี่ยังไม่รวมกรณีที่รัฐมนตรีสาธารณสุข อย่าง นายไชยา สะสมทรัพย์ ที่สั่งโยกข้าราชการระดับสูงในกระทรวงไปหลายคนแล้ว โดยถูกมองว่า เป็นการโยกเพื่อตัดตอนคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเลิกทำซีแอลของตน
ลองไปดูปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ในสังคมที่มีต่อการโยกย้ายข้าราชการในขณะนี้กันบ้าง โดยเฉพาะการโยกอธิบดีดีเอสไอกับเหตุผลที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมนำมาอ้าง
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย มองว่า การเด้งนายสุนัยพ้นอธิบดีดีเอสไอ เป็นการเช็คบิลและวางฐานอำนาจเพื่อปูทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศ ซึ่งดูแล้วเป็นการใช้อำนาจโยกย้ายโดยไม่ชอบ เพราะนายสุนัยไม่ได้ทำผิดอะไรและไม่ได้มีข้อเสียในการปฏิบัติงาน และว่า จริงๆ แล้วคนที่เหมาะจะไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.ก็คือ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เพราะเป็นคนเก่งและร่างกฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ท.มากับมือ จึงน่าจะรู้เรื่อง ป.ป.ท.มากกว่านายสุนัย ส่วน พ.ต.อ.ทวี ที่ได้มาเป็นอธิบดีดีเอสไอแทนนายสุนัยนั้น นพ.ตุลย์ บอกว่า ถ้า พ.ต.อ.ทวี ทำงานดี ก็ควรจะให้ทำที่ ป.ป.ส.ต่อไป เพราะ ป.ป.ส.ก็ทำหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้อยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ต่อไปอาจมีการโยกย้าย นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรมนั้น นพ.ตุลย์ บอกว่า รัฐบาลจะกล้าทำร้ายตัวเองหรือ? ยังไม่เข็ดการปฏิวัติอีกหรือ?
“(ถ้าย้ายปลัดกระทรวงยุติธรรม-ผบ.ตร.อีก) มันก็ทำร้ายตัวเอง อย่าลืมว่า ไอ้ที่โดนปฏิวัติมาเนี่ย ยังไม่เข็ดใช่มั้ย ผมจะพูดอยู่เสมอว่า รัฐประหารเนี่ย ถ้าเกิดรัฐบาลที่ดีนะ แล้วทหารมาทำเพื่อตัวเองนะ ประชาชนจะต่อต้านทันที รัฐประหารคราวที่แล้ว โอเคที่บอกว่าได้ดอกไม้เนี่ย เพราะอะไร เพราะรัฐบาลมันไม่ดีสุดๆ เขาก็เลยเรียกร้องให้เข้ามา เพราะฉะนั้นผมเป็นคนที่ไม่ได้ต่อต้านรัฐประหาร 100% เหมือนบางคน อันนั้นเขาพวกบ้าหลักการ แต่ผม ผมบ้าประเทศมากกว่า อะไรก็ตามที่ไม่ดีกับประเทศผมไม่เอา (ถาม-รู้สึกอย่างไรที่รัฐบาลนี้มีนโยบายเยียวยาข้าราชการที่ถูกโยกไม่เป็นธรรมหลังรัฐประหาร?) ก็ใครเป็นคนพิสูจน์ความเป็นไม่ธรรมล่ะว่า ไม่เป็นธรรมยังไง คุณ declare(ประกาศ)มาสิ แล้วถ้าเกิดอย่างนั้นเนี่ย คุณโยกย้ายอธิบดีสุนัย ใครจะ declare ว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ตอนนี้ท่านอาจจะไม่ได้บอกมา เราก็บอก แค่นี้ก็ไม่เป็นธรรมแล้ว เพราะดูผลงานท่าน (สุนัย) ก็ดี ไปโยกย้ายก็เหมือนการลงโทษท่านมากกว่า เคยถามมั้ยว่าเขาอยากโยกย้ายหรือเปล่า? ดูแล้วคุณจ้องจะเข้ามาย้ายมากกว่า เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว คุณย้ายด้วยเหตุผลหนึ่ง แล้วคุณมาอ้างอย่างอื่นเนี่ย เขาเรียก “อีแอบ”ครับ ลูกผู้ชายเขาไม่ทำกันครับ”
ด้านนายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลนี้เริ่มโยกย้ายข้าราชการแถมมีนโยบายเยียวยาข้าราชการที่ถูกโยกไม่เป็นธรรมหลังรัฐประหารว่า คงต้องถามกลับว่า แล้วการโยกข้าราชการในสมัยรัฐบาลทักษิณมีความชอบธรรมอย่างนั้นหรือ เพราะขนาดตนเป็นทูตอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ยังถูกรัฐบาลทักษิณ “เตะเป็นลูกฟุตบอล” สั่งโยกย้ายตนแบบดูหมิ่น-เหยียบย่ำน้ำใจ ต้องเปลี่ยนตำแหน่งถึง 4 ตำแหน่งในระยะเวลาแค่ 5 ปี ทั้งที่ตนไม่ได้ทำอะไรผิด
“ผมเป็นอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกก่อน สมัยชวน 2 น่ะ อยู่ 1 ปี พอไทยรักไทยมา เขาก็เอาผมดอง เป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงอยู่ 5 เดือน เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ก็คล้ายๆ ตำแหน่งลอย ไม่มีอะไรทำ นั่งอยู่ 5 เดือนในห้อง ไม่มีงานทำ เสร็จแล้วส่งผมไปเยอรมัน ผมก็ไม่ว่า อย่างน้อยยังให้เกียรติผมเป็นทูตอาวุโส ตอนนั้นผมก็อยู่ในลำดับอาวุโส ทั้งหมดในกระทรวงผมอยู่ในอันดับที่ 6 หรือ 5 ถ้าผมจำไม่ผิด เสร็จแล้วให้ผมไปเยอรมัน ผมก็ไป แต่ 1 ปี 5 เดือน ให้ผมอยู่แค่นั้น เขาก็เตะผมไปแอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้เนี่ยเป็นประเทศซึ่งทูตที่อาวุโสน้อยมาก หมายความว่าใครเป็นทูตครั้งแรกก็จะไปเป็นทูตที่แอฟริกาใต้ ในอดีตทูต 4 คนก่อนที่ผมจะไปเนี่ย เป็นทูตครั้งแรกทั้งนั้น (แต่)ผมเป็นทูตมาแล้ว 4 ประเทศนะ เตะผมไปแอฟริกาใต้ เป็นตำแหน่งที่ต่ำต้อยมาก คือใครที่เป็นทูตครั้งแรก พูดง่ายๆ จะได้ไปแอฟริกาใต้ ผมก็โดนไป แล้วคนไปแทนผมที่เยอรมันก็เป็นทูตครั้งแรกในชีวิต แต่ส่งไปเยอรมัน ซึ่งจริงๆ แล้วในกระทรวงการต่างประเทศ ในประวัติศาสตร์ก่อนที่ไทยรักไทยจะมาเป็นรัฐบาลเนี่ย คนที่จะไปเป็นทูตที่เยอรมันเนี่ย ท่านเช็คดูได้เลยประวัติทูต 40 คนที่เรามีเนี่ย ส่วนใหญ่แล้วเป็นทูตมาไม่ต่ำกว่า 3 ประเทศ ถือว่าเป็นตำแหน่งอาวุโสมาก แต่เขาต้องการตบหน้าผม เหยียดหยาม ดูถูกว่าเนี่ยแกไปอยู่เยอรมัน ฉันเตะแกไปแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นทูตที่จูเนียร์มากเลยที่จะได้ไป แล้วก็เอาทูตที่จูเนียร์มาเป็นทูตแทนแกที่เบอร์ลิน”
“แอฟริกาใต้นี่ตำแหน่งที่ 3 นะ อยู่ 1 ปี 7 เดือน เขาเรียกผมกลับมาดองเฉยๆ ให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงอีกครั้งหนึ่ง อีก 1 ปี 9 เดือนก่อนเกษียณเกือบ 2 ปี ให้ทำอะไร? เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ดูแลห้องสมุดของกระทรวงการต่างประเทศ คุณลองคิดดูก็แล้วกันว่า จิตใจของคนที่รับราชการมา 37 ปี ผมรับราชการมา 37 ปีนะ หลายคนบอกทำไมไม่ฟ้องศาลปกครอง ผมก็รู้ว่าฟ้องไปก็แค่นั้น เพราะมันถูกแทรกซึมหมดแล้ว องค์กรอิสระ ผมก็เห็นว่ามันไม่มีทาง แต่ผมก็เชื่อ มันมีกฎแห่งกรรม และเสร็จแล้วมันก็มี ก็เห็นกันเองว่าอะไรตามมาบ้าง”
นายสุรพงษ์ ในฐานะอดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศได้คืนพาสปอร์ตแดง (หนังสือเดินทางทูต) ให้ พ.ต.ท.ทักษิณแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ หลังถูกยึดพาสปอร์ตดังกล่าวหลังรัฐประหารว่า หนังสือเดินทางถือเป็นสมบัติของรัฐ ไม่ใช่สมบัติของผู้ที่ถือหนังสือเดินทาง ดังนั้นหากผู้ที่ถือทำความเสื่อมเสียให้กับประเทศ รัฐมีสิทธิยึดคืนหรือริบได้ ซึ่งตอนที่กระทรวงการต่างประเทศจะริบพาสปอร์ตแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็แถลงเหตุผลชัดเจนว่า เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณต้องคดีอยู่หลายคดี แล้วเวลานี้ นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณจะยังต้องคดีอยู่หลายคดีแล้ว ยังมีหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณจากศาลด้วย แต่กระทรวงต่างประเทศกลับคืนพาสปอร์ตแดงให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วกระทรวงฯ จะชี้แจงประชาชนอย่างไร
ขณะที่ อ.ประหยัด หงษ์ทองคำ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ พูดถึงกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่า การโยกย้ายนายสุนัยจากอธิบดีดีเอสไอไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.ไม่ได้หวังผลทางการเมืองว่า พูดอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น และว่า หากรัฐมนตรียุติธรรมต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถไปจัดการหน่วยงานใหม่ที่จะตั้งขึ้น ก็สามารถระดมคนที่เกี่ยวข้องไปเป็นคณะกรรมการจัดร่างระเบียบและแผนในการดำเนินงานองค์กรใหม่ได้ ไม่ใช่เจาะจงมาโยกคนใดคนหนึ่งแบบนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องถูกมองว่า การโยกอธิบดีดีเอสไอครั้งนี้เป็นการล้างแค้นแทนน้องชายและหาคนที่เป็นพรรคพวกของตัวเองมาคุมกรมนี้แทน เพื่อเป็นการเตรียมการเรื่องคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณให้ง่ายขึ้นและราบรื่น และว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศในช่วงนี้ ย่อมแสดงว่าการเตรียมการต่างๆ เรียบร้อยแล้ว พร้อมแล้ว
อ.ประหยัด ยังกล่าวถึงกรณีที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม อาจถูกโยกซ้ำรอยนายสุนัยเช่นกันว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ คงต้องมีปฏิกิริยาจาก “ศาล”แน่ เพราะศาลคงไม่ยอมให้ข้าราชการตุลาการต้องถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี เมื่อถึงจุดนั้น ศาลคงไม่เพียงขอตัวนายสุนัยและนายจรัญกลับศาลเท่านั้น แต่จะยิ่งสะท้อนปมขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“เรื่องนี้ผมมองว่า ถ้าหากว่ามีการย้ายคุณจรัญอีกคนเนี่ย ศาลน่าจะต้องมีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้น นั่นก็คือ คงจะต้องมีการพิจารณาที่จะขอรับโอนตัวทั้งคุณสุนัยและคุณจรัญ ซึ่งเคยเป็นข้าราชการตุลาการกลับมารับราชการที่ฝ่ายตุลาการใหม่ เพราะโดยหลักการแล้ว ข้าราชการที่มาทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร คือพ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมต่างๆ ในกระทรวงยุติธรรมก็ดี หรือปลัดกระทรวงในกระทรวงยุติธรรมก็ดี เมื่อถึงวาระ เขาก็อาจจะกลับไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอย่างเก่าได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าทางฝ่ายราชการการเมืองดำเนินการในลักษณะที่มีผลกระทบกระเทือนต่อศักดิ์ศรี เกียรติยศของข้าราชการฝ่ายตุลาการ ผมเชื่อว่าคณะกรรมการตุลาการ(กต.)น่าที่จะต้องมีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้กัน โดยจะขอรับโอนคนเหล่านี้กลับไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการใหม่ เพื่อที่จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ตุลาการนั้นเป็นฝ่ายที่เป็นอิสระนะ คุณที่เป็นฝ่ายการเมืองก็ดีหรือเป็นฝ่ายบริหารก็ดี ไม่มีสิทธิที่จะมาล่วงล้ำก้ำเกินเขา ถ้าหากว่าเกิดถึงจุดนี้ขึ้นมาเนี่ย นั่นหมายความว่าเมื่อ กต.เกิดทำเรื่องขอรับโอนคุณสุนัยก็ดี คุณจรัญ ถ้าคุณจรัญถูกย้ายอีกคนเนี่ย ขอรับโอนกลับไปเป็นผู้พิพากษาตุลาการอย่างเก่าเนี่ย มันก็จะทำให้เกิดปมของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารชัดเจนยิ่งขึ้น”
อ.ประหยัด ยังกล่าวถึงกรณีที่มีบางคนชี้ว่า การโยกย้ายอธิบดีดีเอสไอ เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลายเอาใจรัฐบาลนี้ว่า รธน.ปัจจุบันมีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตน และป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาล่วงล้ำก้ำเกินจนหมดความเป็นธรรม ดังนั้นเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมในการโยกย้ายข้าราชการขึ้น ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)และสมาคมข้าราชการต่างๆ ต้องออกมาทำหน้าที่พิทักษ์รักษาสิทธิของข้าราชการเหล่านี้ เพราะข้าราชการควรมีอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีสิทธิที่จะปฏิบัติหน้าที่ในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ต้องก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง หากผู้เกี่ยวข้องปล่อยให้ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม บริหารราชการด้วยความไม่โปร่งใสและไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งแล้ว บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร ในเมื่อประชาชนไร้ที่พึ่ง!!