ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ยันไม่ได้ไล่ “หมัก1” ชี้ยังให้โอกาส แต่ต้องทำงานเพื่อ 63 ล้านคน ย้ำไม่ได้ต้าน “แม้ว” กลับประเทศ แต่คัดค้านการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อฟอกผิด เผยจุดยืน ขณะนี้ยังไม่มีการชุมนุม แต่พร้อมสู้ทุกรูปแบบ หากยังฝืนแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบ
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ"รู้ทันประเทศไทย" ทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 25 ก.พ.ว่า แถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 1/2551 นั้น ยังคงให้โอกาสรัฐบาล"สมัคร1" แต่เป็นการให้โอกาสอย่างมีเงื่อนไข นั่นคือการไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อฟอกความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และไม่ปูนบำเหน็จให้กับคนที่ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณในเรื่องคดี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเป็นห่วง คือ การส่งสัญญาณด้วยการปลดนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พร้อมๆ กับข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งอธิบดีผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการขุดคุ้ยคดีซุกหุ้น กรณีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซีแอสเสท การฟอกเงินด้วยการซิกแซกโอนไปมา และความเป็นนอมินีของบางบริษัท
ที่สำคัญคือ ช่วงเวลานี้ คดีนี้ถ้าเปรียบกับการวิ่งผลัดก็เป็นไม้ที่สี่ที่กำลังจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมด ซึ่งมีศัพท์เทคนิกต้องพึ่งนักวิชาการเพื่อทำให้สำนวนรัดกุม แต่ก็ถูกเปลี่ยนไม้เสียก่อน ซึ่งนายสุนัยนั้นไปจากศาล ส่วนคนใหม่ที่มาแทนเป็นตำรวจ เช่นเดียวอธิบดีคนก่อนนั้นที่เป็นตำรวจและเป็นน้องชายของ รมว.ยุติธรรมคนปัจจุบัน
ถ้ามองถึงการใช้หลักกฎหมายก็ถือว่าการโยกย้ายครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐมนตรีสั่งย้ายอธิบดีได้ แต่โดยนัยทางการเมือง ได้ซุ่มซ่อนอะไรไว้มากมาย นี่เป็นการก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้สำนวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณอ่อนลง หรือ ถ้าอธิบดีกรมดีเอสไอคนใหม่ไปให้การต่อศาลในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะให้การเพื่อเป็นประโยชน์กับคนบางคนหรือไม่
ส่วนกรณีอื่นๆ ที่น่าห่วง เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ส่งสัญญาณทุกวันว่าจะจัดระเบียบสื่อ โดยที่ไม่มีโมเดลอยู่ในหัวเลย แต่พูดทุกวัน การส่งสัญญาณอย่างหนึ่งคือการถอดรายการของอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ทางวิทยุ 105 ขณะที่บางรายการที่สัมภาษณ์ตนตอนตี 4 ตี 5 ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน ซึ่งตนไม่อยากพูดอะไรมาก
นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวการปลดข้าราชการในตำแหน่งที่เป็นก้างขวางคอระบอบทักษิณ เช่น ผู้ว่าการแบงก์ชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วยข้อหาว่าเป็นคนของ คมช. รวมไปถึงกระแสข่าวการปลด ผบ. ตร. และปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า การปลดอธีบดีดีเอสไอ เป็นการกระทำที่ลุกลี้ลุกลน เพราะเมื่อปลดแล้วทำไมไม่เลื่อนรองอธิบดีขึ้นมาเป็น แต่กลับไปเอาตำรวจจาก ป.ป.ส.ที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นแทน ทำให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของการโยกย้ายครั้งนี้รับใช้อะไร ทำให้พวกเรานิ่งดูดายไม่ได้
ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับสุดท้ายของพันธมิตรฯ หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ได้บอกว่าพันธมิตรฯ จะไม่ชุมนุมเว้นแต่จะมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อฟอกความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหลังจากนั้น แม้พันธมิตรฯ จะสลายตัว แต่ในระดับแกนนำยังมีการพบปะกันเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ตลอด
เรื่องนโยบายการใช้ความรุนแรงปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลชุดนี้ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้พันธมิตรฯ กลับมาเคลื่อนไหว เพราะนโยบายนี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของระบอบทักษิณ เสียดายที่นายสมัครไม่ได้อ่านรายงานของ คตน.ที่ระบุว่า จำนวนผู้ที่ถูกฆ่าตาย 2,400 กว่าคน ในช่วงสงครามปราบปรามยาเสพติดนั้น มีถึง 1,400 คน ที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องยาเสพติด ความหละหลวมของนโยบายนี้ทำให้สุจริตชนหลายคนตกเป็นแพะรับบาป วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่หมั่นไส้ใครก็ฆ่าทิ้งอย่างนั้นหรือ
นายสุริยะใส ยืนยันว่า หากพันธมิตรฯ ต้องจัดชุมนุมอีกครั้ง จะยังใช้หลักอหิงสาเหมือนเดิม ซึ่งการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรงนั้น พันธมิตรฯทำให้เห็นตลอด เปรียบเทียบกับการชุมนุมของ นปก.ก็จะเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม จุดยืนวันนี้ ยังไม่มีการนัดหมายชุมนุมใดๆ เพียงแต่ส่งสัญญาณว่า มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และส่งสัญญาณถึงพี่น้องว่าเรายังจับตาดูอยู่
“เราไมได้ไล่รัฐบาล เรายังให้โอกาสรัฐบาลชุดนี้อยู่ แต่อยากจะให้คุณสมัครใช้ความเป็นผู้นำรัฐนาวา ทำงานเพื่อคนทั้ง 63 ล้าน อย่ารับไปใช้ใคร ขณะเดียวกันเราก็ไม่คัดค้านคุณทักษิณกลับ แต่คัดค้านการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการปลดคุณสุนัยเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือแทรกแซง คตส.ทางอ้อมสวนทางกับที่รัฐบาลนี้บอกว่าจะไม่ยุบ คตส.”
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ในการประชุมของแกนนำพันธมิตรฯ ล่าสุด ไม่ได้พูดถึงว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาพันธมิตรฯ จะทำอย่างไร เพราะไมได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่มีคนไปเบี่ยงเบนประเด็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณกลับไทยไม่ได้เพราะพันธมิตรฯ คัดค้าน ทั้งนี้ เราอยากเห็นกระบวนการศาลเริ่มเดินไปได้ การมาหรือไม่มาของ พ.ต.
ท.ทักษิณไม่สำคัญ แต่อยู่ที่การทำให้กระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือต่างหาก แต่ถ้ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การมาของ พ.ต.ท.ทักษิณก็อันตราย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องต่อต้านการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
สำหรับรูปแบบการเคลื่อนไหวนั้น อย่าไปคิดว่าจะมีเฉพาะการชุมนุม ยังมีรูปแบบอื่น เช่น การเข้าชื่อกัน 50,000 คนยื่นถอดถอนต่อรัฐสภาก็ได้ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือผู้ตรวจการก็ได้ เพราะเราเชื่อในรัฐธรรมนูญฉบับที่เราลงประชามติรับมาแล้ว แต่ถ้าปัญหามันพัฒนาไปถึงขั้นที่ว่าสภาก็ไม่ใช่คำตอบ องค์กรอิสระก็ไม่ใช่คำตอบ นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“เราไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดการเผชิญหน้า จนเกิดการรัฐประหาร แต่เราเตือนฝ่ายโน้นต่างหากว่า อย่าสร้างเงื่อนไขจนนำไปสู่การรัฐประหาร ท่านนายกฯ สมัครอย่าบอกว่าไม่สนใจพันธมิตรฯ และไม่ยอมทำอะไร ไม่เช่นนั้นก็จะได้เห็นว่าคำว่าสู้ทุกรูปแบบนั้นมีอะไรบ้าง”
ส่วนเหตุการณ์จะเหมือน 14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องไปจนถึง 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่ นายสุริยะใสกล่าวว่า เราตั้งปณิธานการชุมนุมตั้งแต่พันธมิตรฯ รอบแรกว่าเราจะไม่ให้มีการนองเลือดอย่างเด็ดขาด ส่วนการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเราไม่รู้ เพราะคณะรัฐประหารไม่ได้ขออนุญาตเรา แต่บทเรียนของคนที่ทำงานเคลื่อนไหวนั้นไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ถ้าความรุนแรงจะเกิดก็มาจากคนที่ถืออำนาจ เหมือนกับเหตุการณ์เดือนตุลา หรือพฤษภาฯ ความรุนแรงมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งนั้น
สำหรับแถลงการณ์พันธมิตรฯ ประการที่เจ็ด ที่ว่า พันธมิตรฯ เรียกร้องให้พี่น้อง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชน ที่รักชาติบ้านเมืองร่วมกันลุกขึ้นมาเกาะกลุ่มรวมตัวนั้น นายสุริยะใสกล่าวว่า ความหมายก็คือ พวกเราต้องเตรียมพร้อม เพราะในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า หากการเมืองอาจกลับไปจุดเดิม อย่างที่เราได้เตือน และเราต้องพบปะกันหรือมีการชุมนุมเคลื่อนไหว เราก็พร้อม แต่ไม่ใช่ว่าจะไปรบราใคร เราจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย
นายสุริยะใสย้ำว่า การชุมนุมไม่ใช่เรื่องสนุก แต่รัฐบาลอย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมได้หรือไม่ เพื่อให้เป็นของขวัญวันสงกรานต์แก่ประชาชน