xs
xsm
sm
md
lg

ศิษย์เก่าบีบีซีชำแหละ “เล่าข่าวทางทีวี” ต้นทุนต่ำ-ดูถูกผู้ชม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะและนักวิชาการ ตำหนิรายการประเภทเล่าข่าว ต้นทุนต่ำ ดูถูกผู้ชม แนะ ทีพีบีเอส อย่าเลียนแบบ อดีตกบฏไอทีวี แฉยุคไอทีวีถูกนักการเมืองแทรกหลังถูกกลุ่มทุนใหญ่ยึดครอง

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะและนักวิชาการนิเทศศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เสนอข่าวอย่างไรในโทรทัศน์สาธารณะ ให้ตอบโจทย์สังคมไทย” โดย นายกิตติพงษ์ สุ่นประเสริฐ อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี กล่าวว่า โทรทัศน์สาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นสื่อบริการสาธารณะที่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ซึ่งมีต้นแบบมาจากสถานีบีบีซีในประเทศอังกฤษ โดยมาจากเงินบำรุงของชาวอังกฤษโดยตรง ทำให้บีบีซีมีอิสระ ไม่ต้องต่อรองกับนักการเมือง เพื่อของบประมาณ และไม่ถูกธุรกิจครอบงำเหมือนทีวีพาณิชย์ที่ต้องพึ่งรายได้จากการโฆษณา แต่ความเป็นอิสระของบีบีซียังต้องขึ้นกับประชาชนในฐานะผู้ให้การสนับสนุน ทำให้การนำเสนอ

โดยเฉพาะข่าวที่มีอิทธิพลต่อผู้ชม ต้องอยู่ภายใต้หลักจรรยาบรรณ 9 ด้าน คือ 1.การให้ข้อเท็จจริงและเที่ยงตรง 2.เป็นกลางไม่ลำเอียงและหลากหลายความเห็น 3.ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณและความเป็นอิสระ 4.สนองผลประโยชน์สาธารณะ 5.เป็นธรรมเสมอหน้า 6.เคารพสิทธิส่วนบุคคล ยกเว้นเป็นเรื่องกระทบต่อมหาชนวงกว้าง 7.คำนึงถึงความอ่อนไหวของเด็กและเยาวชน เช่น ไม่นำเด็กที่ถูกกระทำมาเสนอ 8.เหตุร้ายแรงกระทบจิตใจต้องสะท้อนภาพอย่างรับผิดชอบ และ 9.ความรับผิดชอบต่อสังคม

ส่วนการเล่าข่าวที่นำหนังสือพิมพ์มาอ่านข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ของไทยขณะนี้ ถือเป็นการลงทุนขั้นต่ำที่ดูถูกผู้ชม ซึ่งการเล่าข่าวของบีบีซีจะตัดภาพถึงแหล่งที่มาของข่าว และการวิเคราะห์ จึงหวังว่า ข่าวในโทรทัศน์สาธารณะต่างจากการเล่าข่าวในโทรทัศน์ขณะนี้

รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้โทรทัศน์สาธารณะกำลังเกิดความขัดแย้งทางความคิด 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่งความเห็นของผู้คัดค้าน คือ เกรงว่า เงิน 2,000 ล้านบาทที่รัฐให้การสนับสนุนจะสูญเปล่า กลายเป็นข่าวของฝ่ายรัฐ เกรงการถูกแทรกแซง กลัวความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการ

ส่วนฝ่ายที่ให้การสนับสนุน เห็นว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีโทรทัศน์สาธารณะที่ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่ขึ้นตรงกับอำนาจทุน จึงไม่ถูกแทรกแซงจากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโทรทัศน์สาธารณะจะทำให้คนได้เข้าถึงสื่อ และสื่อได้เข้าถึงคน ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเดินตลาดก็เป็นข่าว ในขณะที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน กลับไม่มีสิทธิเป็นข่าว จนเกิดเหตุการณ์กรีดเลือดประท้วงหน้าสถานีโทรทัศน์ใน จ.สุราษฎร์ธานี มาแล้ว

“การนำเสนอข่าวในโทรทัศน์สาธารณะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม 3 ด้าน คือ 1.เปิดพื้นที่สาธารณะ 2.เกิดประโยชนต่อสาธารณะ ไม่ใช่ประโยชน์ต่อผู้นำ และ 3.มีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งข่าวในโทรทัศน์สาธารณะมีข้อดี คือ กฎหมายกำหนดให้มีข้อบังคับจริยธรรม ถูกประเมินจากภายนอกโดยต้องรับฟังความเห็นจากสภาผู้ชม ต้องมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนและต้องตอบในเรื่องที่ถูกร้องเรียนตามกฎหมาย จึงเชื่อว่า ปัญหาเรื่องจริยธรรมและการถูกแทรกแซง หากเป็นของสาธารณะจริงจะถูกแทรกแซงได้ยาก ยกเว้นรัฐจะแก้ไขกฎหมาย หรือได้คณะกรรมการนโยบายสถานีที่ไม่มีคุณภาพ” รศ.สดศรี กล่าว

นายจิระ ห้องสำเริง อดีตบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กล่าวว่า การกำเนิดของไอทีวีพยายามสนองความต้องการของคนดู จึงพยายามขุดคุ้ยในเรื่องต่างๆ แต่หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาถือหุ้น ทำให้ผู้บริหารต้องลงชี้แจงเมื่อนำเสนอข่าวที่อาจกระทบทางธุรกิจ จึงเป็นที่มาของกบฏไอทีวี และเบื้องหลังการนำเสนอข่าวในช่วงดังกล่าวพบว่า มีนักการเมืองและอดีตผู้นำรัฐบาลเดินทักทายคนในกองบรรณาธิการ ทำให้ข่าวเกิดความเกรงใจในการนำเสนอ ซึ่งความเสียดายในไอทีวีต้องมองให้ลึกว่าที่ผ่านมาเสียอะไรไปก่อนหน้านี้หรือไม่

สำหรับการนำเสนอข่าวในโทรทัศน์สาธารณะนอกจากจะต้องเสนอข่าวที่เป็นจริงและเป็นกลางแล้ว ควรเป็นสื่อที่ทันสมัย คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ และเป็นผลดีต่อผู้ชมที่สามารถดูข่าวโดยไม่ถูกอิทธิพลจากการโฆษณา โดยเฉพาะโฆษณาแฝงผ่านแก้วกาแฟในรายการข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น