ขิงแก่ห่วงทีวีสาธารณะโดนกระแสต้าน ยอมรับสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ กำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้าน พร้อมแนะบอร์ดกำหนดนโยบายชั่วคราวต้องฮึดสู้ พร้อมคัดคนเข้าทำงานให้ดี อย่ารับคนมีวาระซ่อนเร้น ส่วนประเด็นพนักงาน "ทีไอทีวี" สั่งกรมการจัดหางานประสานภาคเอกชนอ้าแขนรับได้ 775 อัตรา
วันนี้(20 ม.ค.) แหล่งข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งทีวีสาธารณะ(ไทย พีบีเอส) โดยระบุว่า ขณะนี้ ผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงการเริ่มนับหนึ่งของสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากยังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกดดันหลายด้าน และเชื่อว่ามีผู้พยายามที่จะเล่นเกมท้าทายต่อคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง
สำหรับประเด็นที่ถูกกำชับให้ดูแลเป็นพิเศษในตอนนี้ ได้แก่ เรื่องการกลั่นรกรองในเปิดรับสมัครพนักงาน ซึ่งเราต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณากลั่นกรองเป็นพิเศษ กรมประชาสัมพันธ์ต้องตั้งหลักให้มั่น ไม่หวั่นไหวกับแรงกดดัน เพื่อให้ได้นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่แท้จริง เพื่อเข้ามาทำงานวางรากฐานสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ และก่อเกิดประโยชน์สาธารณะได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ "ทีพีบีเอส ทีวี" จะเดินไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องสมตามเจตนารมณ์ของการมีสถานีโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ อยู่ที่คนทำงาน ถ้าเลือกคนผิด ได้คนที่ไม่เข้าใจแนวคิดสื่อสาธารณะ หรือเข้ามาอย่างมีวาระซ่อนเร้น จะอวดตัวว่าเก่งกาจมาจากที่ไหนก็ตาม สุดท้ายก็จะพาให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เดินหลงทิศผิดทาง และหนีไม่พ้นกลายเป็นเครื่องมือของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จ้องหาประโยชน์จากสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ไม่ว่าจะในเชิงธุรกิจหรือทางการเมือง
วันนี้อย่าไปหลงคิดว่ามีแค่คนเก่าๆ หรือคนเฉพาะกลุ่มเฉพาะพวกเท่านั้นที่ทำข่าวได้ดี ทำรายการได้มีคุณภาพถูกใจผู้ชม ประเทศนี้มีคนทำงานโทรทัศน์ที่เก่งอยู่เยอะ คนที่อยากเห็นโทรทัศน์หลุดพ้นจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน อยากทำรายการที่แตกต่างออกไป รายการที่ให้สาระ ความรู้ และเป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง มีให้เลือกมากมาย ที่สำคัญเก่งในเชิงเทคนิควิชาชีพ มีความเชี่ยวชาญประสบ การณ์สูงอย่างเดียวไม่พอ ต้องไม่มีข้อสงสัยในเรื่องจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพด้วย
นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานกรรมการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอสเปิดเผยว่า คณะกรรมการไทยพีบีเอส เตรียมพิจารณาอดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยเฉพาะฝ่ายเทคนิคที่ประจำศูนย์ภูมิภาค ประมาณ 87 คน เข้าทำงานในฐานะพนักงานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสทันที ด้วยวิธีเร่งรัด
น.ส.ภัทราพร สังข์พวงทอง พิธีกรรายการ "กบนอกกะลา" แห่งสถานีโมเดิร์นไนน์ หรือช่อง 9 อสมท.ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในอดีตกบฏไอทีวี กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทีไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ถือเป็นการนำพาไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ที่ควรจะเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ทีวีเสรีถูกบิดเบือนเจตนารมณ์หลังจากที่กลุ่มชินคอร์ปเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ดังนั้น การดึงกลับมาสู่ความเป็นสาธารณะจึงเป็นหนทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้เห็นว่าเจตนารมณ์ของทีวีสาธารณะกับทีวีเสรีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีปรัชญาไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือการเริ่มต้นครั้งนี้มีความพร้อมมากกว่าสมัยไอทีวีที่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่ครั้งนี้มีเครื่องมือ มีคนพร้อมมาก และการได้นายเทพชัย หย่อง มาดูแลในฐานะผู้อำนวยการชั่วคราว ในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ทำให้มีความหวังเพราะนายเทพชัยถือเป็นบุคคลที่มีอุดมคติ มีความเข้าใจเจตนารมณ์ของสื่อสาธารณะที่ดีที่สุดในนาทีนี้ ที่สำคัญนายเทพชัยผ่านภาวะถูกแทรกแซงซึ่งก็สามารถต้านทานได้
"ขอฝากไปถึงพนักงานว่าหากยืนยันการเป็นสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพ และไม่ห่วงรายได้ที่จะลดน้อยลงตามที่ได้ประกาศไว้ ทีวีสาธารณะแห่งนี้จะรองรับอุดมการณ์ที่คุณมีได้แน่นอน ขอให้พนักงานอย่าไปกลัวว่าใครจะแทรกแซงหรือรังแก ให้ไปเขียนใบสมัครแล้วทำงานต่อไป ถ้าในอนาคตจะมีใครมาทำลายเจตจำนงของมันก็ต้องต่อสู้กันต่อไป แต่ส่วนตัวเห็นว่าคนที่สามารถผ่านยุคที่ถูกกลุ่มทุนการเมืองครอบงำมาได้ก็จะสามารถทำได้เพราะไม่มีอะไรที่กว่านั้นอีกแล้ว" น.ส.ภัทราพรกล่าว
ก่อนหน้านี้ นายมนูญ ปุญญกริยากร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ที่ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นทีวีสาธารณะ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทย พีบีเอส) กรมการจัดหางานจึงได้ประสานกับสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับ โดยเบื้องต้นมีสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่างแล้ว จำนวน 775 อัตรา แยกเป็นตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า ช่างเทคนิค ช่างไฟฟ้า ช่างภาพ, ผู้ช่วยช่างภาพ คอมพิวเตอร์กราฟิก โปรแกรมเมอร์ และพนักงานขับรถ
สำหรับการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเข้าทำงานไทยพีบีเอส ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ มียอดรวมผู้สมัคร 4 วัน กว่า 3,000 คน หลังจากสามวันแรกมีตัวเลขอยู่ที่ 2,384 คน โดยในวันสุดท้ายพนักงานทีไอทีวี เช่น นายธีรัตถ์ รัตนเสวี น.ส.รุ่งทิพย์ โชตินภาลัย นางสร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ อดีตผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี พร้อมทีมงานไปเขียนใบสมัครงานด้วย
ทั้งนี้ นางสร้อยฟ้า กล่าวหลังยื่นใบสมัครว่า มาสมัครเพราะต้องการรักษาสิทธิที่ควรได้รับโอกาสในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ทั้งยืนยันว่า แม้จะไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นพนักงานก็จะไม่เรียกร้องใดๆ เพราะถือว่าเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการคัดเลือก ส่วนที่มีอดีตพนักงานทีไอทีวีบางคนไม่ยอมสมัครถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
นายจอม เพชรประดับ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว และผู้จัดรายการ "ตัวจริงชัดเจน" สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี เปิดเผยว่า ภายหลังยื่นใบสมัครเข้าเป็นพนักงานชั่วคราวของสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส เรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางเข้าพบคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวของ ไทย พีบีเอส เพื่อหารือถึงการรับสมัครอดีตพนักงาน ทีไอทีวี เข้าเป็นพนักงาน ซึ่งมองว่าหากพิจารณาถึงข้อจำกัดในด้านเวลาที่สถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตรายการออกอากาศได้ทันวันที่ 1 ก.พ.นี้ รวมถึงในหลักการแล้ว สถานีโทรทัศน์ต้องเน้นรายการข่าว ตนมองว่าควรให้โอกาสทีมพนักงาน ทีไอทีวี ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการผลิตรายการข่าวสูง เข้าทำงานทั้งทีม จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีอดีตพนักงาน ทีไอทีวี ทยอยเข้ายื่นใบสมัครตลอดทั้งวันประมาณ 600 คน