xs
xsm
sm
md
lg

คตส.เชือด “ยี้ห้อย-ลิ่วล้อ” ใช้อำนาจเขมือบ “เซ็นทรัลแล็บ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คตส.ได้ฤกษ์ฟัน “เนวิน” กับพวก 53 ราย ฐานโกง “เซ็นทรัลแล็บ” เตรียมส่ง ปปง.-ดีเอสไอ สอบเส้นทางฟอกเงิน พร้อมตั้ง “เสาวนีย์ อัศวโรจน์” เป็นประธานอนุไต่สวนฯ แฉโกงเป็นขบวนการ โดยใช้อำนาจสั่งการ-ชี้นำในการดำเนินการโครงการ

สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม คตส.ได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บ พร้อมทั้งชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 53 คน

“ประกอบด้วย 1.กลุ่มนักการเมือง คือ นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น โดยใช้อำนาจสั่งการ และชี้นำในการดำเนินการโครงการดังกล่าว มีความผิดตามมาตรา 10, 11, 13 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ประกอบมาตรา 84 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. ป.ป.ช.”

2.คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ คณะกรรการบริษัท คณะทำงานด้านเทคนิคสถานที่และอุปกรณ์ และคณะทำงานพิจารณาด้านเทคนิคอุปกรณ์ ของบริษัท เซ็นทรัลแล็บ ได้ร่วมกันกำหนดคุณสมบัติ หรือล็อกสเปก ในลักษณะเจาะจง และมีคณะกรรมการบางคนมีส่วนได้เสียกับการดำเนินการครั้งนี้ มีความผิดตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ประกอบมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ทั้งนี้ ในส่วนของการประกวดราคาที่ไม่ชอบ เห็นควรดำเนินการกับกรรมการผู้จัดการ และคณะกรรมการบริหาร ตามมาตรา 11 และ 12 แห่ง พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 8 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดต่อพนักงานของรัฐฯ พ.ศ.2502

“3.กลุ่มบริษัทเอกชนรวมกันฮั้วในการเสนอราคามีความผิดตามาตรา 4, 9 แห่ง พ.ร.บ.ฮั้ว และมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และกลุ่มที่ 4 บุคคลและนิติบุคคล ที่ร่วมกันในการสมยอมราคาและฉ้อโกงรัฐ ทำให้รัฐเสียหายมีความผิดตามมาตรา 5, 9 แห่ง พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 60, 61 ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และมีความผิดฐานรับของโจร ตามมาตรา 357 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นอกจากการกล่าวหาของ คตส. แล้วจะมีการส่งเรื่องไปยัง ปปง. และดีเอสไอ เพื่อสอบประเด็นการฟอกเงินด้วย โดยที่ประชุมมีมติตั้ง นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ เป็นประธานอนุไต่สวน พร้อมเตรียมส่งข้อกล่าวหา โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทั้งแก้ข้อกล่าวหา และคัดค้านการตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อไป”

นายสัก กล่าวอีกว่า จาการตรวจสอบของอนุกรรมการตรวจสอบ พบความผิดในหลายประเด็น คือ 1.การกำหนดนโยบายเพื่อจัดตั้งบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯ ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งพบว่าการเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ครั้งแรกเป็นการดำเนินงานในลักษณะองค์กรมหาชน แต่ต่อมาผู้รับผิดชอบโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานให้เป็นลักษณะบริษัทจำกัด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องยึดติดกับกฎหมาย และข้อบังคับที่หน่วยงานรัฐถือปฏิบัติมากนัก เหตุผล คือ จะทำให้สามารถเข้ามากำหนดรูปแบบการดำเนินงานของบริษัทได้ง่ายขึ้น

“อาทิ การคัดเลือกบุคคลเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ การใช้จ่ายเงิน รวมถึงการออกกฎระเบียบของบริษัทในเรื่องต่างๆ และจากการตรวจสอบข้อมูลบันทึกการประชุมของคณะกรรมการจัดตั้งบริษัทภายหลังจากที่ ครม.ได้เห็นชอบในการก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ พบว่า มี รมช.เกษตรฯ เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานเพื่อให้การดำเนินงานทั้งหมดของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ เป็นไปตามความต้องการของตนเอง” นายสัก กล่าว

โฆษก คตส.กล่าวต่อว่า และจากการตรวจสอบพบว่า การจัดตั้งบริษัทไม่สมเหตุสมผล เพราะในช่วงการนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.นั้น มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นในลักษณะของการให้ผู้รับผิดชอบ กลับไปพิจารณาทบทวนถึงความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น ที่มีการดำเนินการให้บริการตรวจสอบเรื่องปัญหาสารตกค้างในสินค้าเกษตรอยู่แล้ว นอกจากนี้ เงินที่นำมาใช้ในการจัดตั้งบริษัทก็เป็นของรัฐ การดำเนินงานในทุกเรื่องก็ควรที่จะอ้างกับกฎระเบียบของภาครัฐเป็นสำคัญ

“การจัดตั้งหน่วยงานนี้ในรูปบริษัทจำกัด เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 87 ที่ไม่ให้รัฐค้าขายแข่งขันกับเอกชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 10 และพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543” โฆษก คตส.กล่าว

นายสัก กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นในการก่อตั้งไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดในเรื่องความคุ้มทุน เนื่องจากในการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯ ที่เปิดให้บริการก็ลูกค้า ก็พบว่าการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากแม้ว่าสินค้าจะผ่านการรับรองจากบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯ แล้ว แต่ผลการรับรองก็ต้องผ่านการพิจารณาจากห้องปฏิบัติการของหน่วยงานราชการอีก รวมถึงราคาของห้องปฏิบัติการภาครัฐ ก็อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าด้วย จึงทำให้ลูกค้าของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ มีไม่มากนัก

“และหลังจากการเปิดให้บริการของบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯ พบว่าได้มีการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ในราคาแพงใช้ไม่คุ้มค่า บางสาขาก็ไม่ได้ใช้ บางสาขาพื้นที่ให้บริการไม่มีการตรวจสอบอาหารทะเล เพราะอยู่ในจังหวัดห่างไกลจากทะเล แต่มีการซื้อเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบอาหารทะเล เนื่องจากมีการจัดซื้อเครื่องมือที่เหมือนกันในทุกสาขา”

ส่วนประเด็นที่ 2 โฆษก คตส.กล่าวว่า ก็คือ สถานะของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจไม่ใช่บริษัทจำกัด ตามพระราชบัญญัติต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2521 มาตรา 4

“สำหรับประเด็นที่ 3 คือ การดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯ นั้นมีการกระทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ และราคากลางของเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ เพื่อนำไปใช้ในการประกวดราคา มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์กับบริษัทเอกชนบางรายและกีดกันบริษัทอื่นๆ มีความผิดปกติในการดำเนินการในการประกวดราคา เช่น การจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ พบว่ามีความผิดปกติ เช่น การประมูลจัดซื้อ”

นายสัก กล่าวต่อว่า มีบริษัทเอกชนบางรายใช้แหล่งเงินในการออกหนังสือค้ำประกันธนาคารแห่งเดียวกัน บุคคลที่ดำเนินการเป็นคนเดียวกัน บริษัทที่เข้าประมูลหลายแห่งจะได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนการขายเครื่องมือ จากบริษัทจำหน่ายเครื่องมือรายใหญ่รายหนึ่ง ทำให้มีลักษณะเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น และกรรมการรายหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการกำหนดคุณลักษณะเครื่องมือ มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับผู้บริหารระดับสูงในบริษัทขายเครื่องมือรายหนึ่งด้วย

“นอกจากนั้น เครื่องมือที่มีการจัดซื้อก็มีราคาสูงมากกว่าความเป็นจริง เพราะในกระบวนการซื้อขายเครื่องมือของเอกชนเป็นลักษณะการซื้อเครื่องมือมาเป็นทอดๆ เช่น กิจการร่วมค้าบริษัท สิทธิพรฯ ซึ่งเป็นผู้ประมูลการจัดหาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ได้ นั้นไม่ได้จัดซื้อเครื่องมือจากบริษัทผู้ผลิต เช่น บริษัท เอจิเลนต์ฯ โดยตรง แต่ได้ให้บริษัทเอกชนอื่น เช่น บริษัท เอส. ดับเบี้ลยู. เอ็น. คอมพิวเทค จำกัด (ซี่งไม่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประเภทการค้าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาก่อนและภายหลังได้เลิกกิจการไปหลังจากการซื้อขายสินค้าครั้งนี้) ดำเนินการซื้อจากบริษัทเหล่านั้นและนำมาขายกับกิจการร่วมค้าบริษัท สิทธิพร”

โฆษก คตส.กล่าวอีกว่า และมีบางบริษัทเป็นผู้ดำเนินการในลักษณะตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้า เช่น บริษัทเวิลด์สยาม กรุ๊ป จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทเอจิเลนต์ฯ (บริษัทต่างๆ ดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันในการประกอบธุรกิจกับโครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่โอนไปจากกิจการร่วมค้าบริษัท สิทธิพรฯ ที่ได้เงินไปจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ พบว่าบริษัทเหล่านี้ได้เคยเข้าร่วมประมูลงานข้อมูลในโครงการอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 โครงการที่เกี่ยวเนื่องมาแล้ว ชี้ให้เห็นว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน)

“จากการที่มีการซื้อขายสินค้ากันหลายทอดดังกล่าวจึงทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็นโดยมีส่วนต่างประมาณ 343 ล้านบาท อันทำให้บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯ เสียประโยชน์จากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทดังกล่าว และเงินที่ได้รับไปจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ ถูกสั่งจ่ายเป็นเช็คมากกว่าหลายร้อยใบ ไปให้บุคคล และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ก่อนที่เงินจำนวนนี้จะถูกถอนเป็นเงินสด และหายไปโดยไม่สามารถติดตามได้ และมีเงินจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ บางส่วนโอนข้าไปในบัญชีของกลุ่มนักเล่นหุ้นกลุ่มหนึ่งด้วย” โฆษก คตส. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น