โดย อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์
ลูกปลาหมอคางดำที่มีเอกชนรายหนึ่งขออนุญาตนำเข้าเมื่อปี 2549 มีความเป็นอยู่อย่างไร ชั่วชีวิตที่ใช้ในประเทศไทยสั้นๆ เพียง 16 วันนั้นมีเรื่องราวดำเนินไปอย่างไรบ้าง ลองมากางดูเส้นทางชีวิตของพวกมันกัน ขอเริ่มต้นที่ชื่อเสียงเรียงนามของมันก่อน ในตอนนั้นช่วงที่ยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องในปี 2549 นั้น ปลาชนิดนี้ยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ จึงมีการระบุชื่อในเอกสารว่า “ปลานิล” แต่ถึงจะยังไม่มีชื่อไทย มันก็มีชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญแล้ว โดยชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือ Sorotherodon melanotheron ส่วนชื่อสามัญ เรียกว่า “Blackchin Tilapia”
ต่อมาในปี 2553 ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด ว่าเหตุใดภาครัฐจึงให้เปลี่ยนชื่อภาษาไทยของปลาชนิดนี้เป็น “ปลาหมอเทศข้างลาย” ทั้งๆ ที่ปลาหมอเทศข้างลายมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างไป คือ Orechromis aureus และมีชื่อสามัญว่า Blue tilapia แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ได้สั่งให้เปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์ กับชื่อสามัญให้ตรงกับการเป็นปลาหมอเทศข้างลายแต่อย่างใด ต่อมาในช่วงปี 2560-2561 จึงค่อยบัญญัติชื่อ “ปลาหมอสีคางดำ” ออกมา โดยปรากฏอยู่ใน “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561” ส่วนในปัจจุบันนิยมเรียกให้สั้นลงว่า “ปลาหมอคางดำ”
ลูกปลาชนิดนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในแอฟริกา เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับปลานิลจึงเป็นชนิดพันธุ์ที่เหมาะจะนำมาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ของสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ เป็นที่มาของการขออนุญาตนำเข้าปลาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขการวิจัยที่ภาครัฐกำหนด
เดินทางถึงไทย 22 ธันวาคม 2553
เวลาประมาณ 20.00 น. เป็นวันแรกที่เหล่าลูกปลาขนาดจิ๋ว จำนวน 2,000 ตัว เดินทางมาถึงประเทศไทย ลูกปลาเหล่านี้มีน้ำหนักเพียง 1 กรัม ความยาวเท่าใบมะขามหรือยาวแค่ไม่เกิน 2-2.5 ซม. บรรจุในถุงพลาสติกหนา 2 ชั้น ถูกขนส่งมาทางเครื่องบินจากประเทศกานา โดยใช้เวลาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลนานถึงกว่า 35 ชั่วโมง การเดินทางแสนไกลเช่นนี้ ถึงเป็นมนุษย์ตัวใหญ่ยังเหนื่อยและเพลียไม่น้อย ดังนั้น เมื่อสภาพลูกปลาตัวจิ๋วเหล่านี้มาถึงจึงดูแทบไม่ได้ ซากศพปลาลอยปะปนกันอยู่ในถุงเป็นจำนวนมากถึง 70% ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ณ ด่านกักกันสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว บรรดาลูกปลาทั้งหมดก็ถูกนำไปยังฟาร์มวิจัยที่ จ.สมุทรสงคราม ทันที
เวลาประมาณ 23.00 น. เมื่อลูกปลา 2,000 ตัวมาถึงฟาร์ม นักวิจัยจึงทำการแยกปลาที่ยังมีชีวิตออกจากปลาที่ตายแล้ว โดยนำปลาที่รอดชีวิตซึ่งเหลืออยู่ราว 600 ตัว ปล่อยลงสู่ “บ่อซีเมนต์” ขนาดความจุน้ำ 8 ตันในระบบปิด เพื่อทำการกักกันโรคเป็นระยะเวลา 60 วัน กระบวนการนี้เป็นช่วงเวลาของการกักกันโรค (Quarantine) ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-Securities) ส่วนปลาที่ตายแล้วนำแช่ฟอร์มาลีนเข้มข้นไว้รอการทำลายต่อไป
16 วัน ลาโลกตายหมดล็อต
นับตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2553 ลูกปลาในบ่อกักกันทยอยตายเพิ่มทุกวัน กระทั่งถึงวันที่ 6 มกราคม 2554 เหลือจำนวนสุดท้ายเพียง 50 ตัว เรียกว่าลูกปลาไม่แข็งแรงพอที่จะกักกันโรคให้ครบ 60 วันตามกำหนด ทำให้ไปไม่ถึงขั้นตอนตามแผนวิจัย เอกชนรายนี้จึงต้องล้มเลิกการวิจัยตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม เนื่องจากตัวอย่างประชากรปลาไม่เพียงพอ นักวิจัยของบริษัทจึงขออนุญาตทำลายลูกปลาและยุติโครงการ นับเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 16 วันเท่านั้นที่กลุ่มลูกปลาตัวจิ๋ว (ล็อตขออนุญาตนำเข้า) ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย
วิธีการทำลายปลาที่เหลือ 50 ตัวในบ่อกักกัน ก็ทำโดยใส่คลอรีนเข้มข้น 100 ppm ลงไปในบ่อและแช่ทิ้งไว้นานข้ามวัน ลำพังแค่ 50 ppm ก็ทำให้นิ้วมนุษย์ถลอกลอกเป็นสีขาวซีดไปได้ทั้งนิ้วแล้ว นี่ใส่ลงไปถึง 100 ppm เป็นชั่วโมงๆ จึงไม่มีทางที่ลูกปลาตัวจิ๋วจะรอดตาย เมื่อได้ซากปลาตายแล้วขั้นตอนต่อไปก็เก็บซากปลาทั้งหมดออกมาแช่ฟอร์มาลีน และทำการฝังกลบโดยขุดหลุมลึกประมาณ 50 ซม. โรยปูนขาวที่ก้นหลุมก่อน จากนั้นใส่ซากปลาลงไป แล้วโรยปูนขาวปิดตัวปลาอีกครั้ง สุดท้ายก็เอาดินกลบเป็นอันเสร็จสิ้น จบชีวิตลูกปลาทั้ง 2,000 ตัวในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์
กระบวนการตั้งแต่เข้ามาไทยจนถึงการทำลาย เป็นช่วงชีวิตสั้นๆ ที่ลูกปลาเหล่านี้อยู่ภายใต้การประคบประหงมของเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อสภาพอ่อนแอ ไม่เอื้อให้มีชีวิตรอด ก็ผ่านการดำเนินการทุกขั้นตอนภายใต้เงื่อนไขของความปลอดภัยทางชีวภาพ ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกปลาล็อตนี้ไม่มีทางหลุดรอดออกไปสร้างผลกระทบใดๆต่อสิ่งแวดล้อมได้เลย