xs
xsm
sm
md
lg

ม.แม่โจ้แนะสารพัดวิธีทั้งหว่านแห ช็อตไฟ และเพิ่มนักล่าเร่งกำจัด "ปลาหมอคางดำ" ก่อนทำปลาไทยสูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - นักวิชาการ ม.แม่โจ้ แนะเร่งกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ก่อนวิกฤติถึงขั้นทำปลาไทยสูญพันธุ์ เสนอในระยะเร่งด่วนจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางทั้งหว่านแห ลงอวน รวมทั้งการช็อตไฟฟ้า พร้อมเพิ่มจำนวนปลานักล่าในธรรมชาติ ให้มากพอ และที่สำคัญต้องเป็นตัวเต็มวัยที่สามารถหากินได้ทั้งไข่ปลาและลูกปลา รวมทั้งกล้าบุกตะลุยฝูงปลาหมอคางดำ


จากกรณีที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา “ปลาหมอคางดำ” แพร่ระบาดในแหล่งน้ำพื้นที่ต่างๆ เป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง รวมถึงพื้นที่แม่น้ำ ลำคลอง ปากแม่น้ำต่างๆ ตั้งแต่แถบจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ลงใต้เรื่อยไปจนถึงจังหวัดสงขลา เหมือนกองทัพปีศาจที่คืบคลานแบบไม่สิ้นสุด และหากยังนิ่งนอนใจ คาดว่าปลาหมอคางคำจะยึดเต็มพื้นที่แม่น้ำในประเทศไทย สร้างความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และทรัพยากร อย่างมหาศาลนั้น

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า ปลาหมอคางดำ ยังมีสัญชาตญาณดิบของสัตว์ป่าที่เป็นนักล่า ปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และน้ำเน่า รวมทั้งสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมาก ตลอดจนเกิดง่ายตายยาก และรุกคืบแย่งชิงพื้นที่ปลาท้องถิ่นด้วยพฤติกรรมการรวมฝูง โดยเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจะทำการรุกราน เริ่มจากการกิน กินทุกอย่าง กินทั้งวัน ในพื้นที่ ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ก็กินอาหารของอาหารสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ซึ่งเมื่อกินแล้วก็สร้างอาณาจักรปิดกั้นการเข้ามาของปลาชนิดอื่น ทำให้ปลาอื่นต้องถอยร่นออกไปจากพื้นที่

นอกจากนี้ยังรุกต่อไป จากชายฝั่ง ปากแม่น้ำ รุกเข้าปากคลอง รุกคืบลึกเข้าไปในแผ่นดิน จนปลาน้ำกร่อยไม่มีที่อยู่หนีหายไป ส่วนปลาน้ำจืดก็ต้องถอยลึกเข้าไปอีก ทำให้ปลาหมอคางดำเพิ่มจำนวนประชากรเป็นทวีคูณจนเต็มพื้นที่ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจจะส่งผลเลวร้ายถึงขั้นทำให้พันธุ์ปลาท้องถิ่นหรือพันธุ์ปลาไทยสูญพันธุ์ได้ในที่สุด จากการที่ปลาหมอคางดำเป็นปลานักล่า ซึ่งนอกจากการรวมกลุ่มกันเพื่อประสิทธิภาพของการล่าแล้ว ยังสร้างตัวเองให้ดูใหญ่ เปลี่ยนสีสันให้เข้มข้นจนดูน่ากลัว เช่น สีน้ำเงินเข้ม ข่มขู่ปลาที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อสร้างความน่าเกรงขามและเพิ่มประสิทธิภาพการล่าได้มากขึ้น


ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งกำจัดโดยใช้วิธีใดก็ได้ เช่น หว่านแห อวนรุน (มีข้อจำกัดทำได้เฉพาะกลางแม่น้ำ) หรือแม้กระทั่งไฟฟ้าช็อต (แต่ต้องให้กรมประมงอนุญาต) เพื่อเอาปลาหมอคางดำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และทำทุกวิถีทางที่จะนำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสิ่งที่สำคัญต้องเพิ่มจำนวนปลานักล่าในธรรมชาติให้มากๆ และเพียงพอกับการลงล่าปลาหมอคางดำเป็นเหยื่อ โดยบริเวณปากแม่น้ำ น้ำกร่อย ให้เพิ่มจำพวก ปลากดทะเล ปลาริวกิว ปลาเก๋า ปลากดหัวผาน ปลาดุกทะเล ปลากะพง เป็นต้น ส่วนในแม่น้ำลำคลองที่เป็นน้ำจืด เพิ่มกลุ่มปลาชะโด ปลาช่อน ปลาหมอ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปลานักล่าที่ปล่อยนั้น ต้องเป็นระยะตัวเต็มวัย ที่สามารถหากินเองได้แล้ว เพราะปลานักล่าธรรมชาติเหล่านี้ สามารถหากินไข่ปลา ลูกปลา และกล้าบุกเข้าหากินปลาที่มีพฤติกรรมรวมฝูงของปลาหมอคางดำได้ ช่วยให้ธรรมชาติปรับสมดุลธรรมชาติตามที่ควรจะเป็น และเมื่อสามารถจัดการปลาหมอคางดำไปหมดแล้ว หากยังคงเหลือจำนวนปลาไทยนักล่าในแหล่งน้ำ ถ้าเป็นปลาใหญ่ก็สามารถช่วยกันจับกินและนำมาใช้ประโยชน์ได้

โดยปลากลุ่มนี้วางไข่แค่ปีละครั้ง จึงทำให้ประชากรถูกควบคุมโดยอัตโนมัติและสัมพันธ์กับปลาไทยที่เป็นเหยื่อ เป็นโครงสร้างประชากรของปลาที่เหมาะสมในแต่ละลุ่มน้ำ แต่ละช่วงของแม่น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติควบคุมกันมาหลายล้านปีจนสามารถดูแลกันเองได้ อยู่ในระบบนิเวศที่เหมาะสมและทำให้ปลาท้องถิ่นกลับคืนมา ส่วนเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหานั้น ในช่วงแรกอาจจำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนในการทรีตน้ำเตรียมบ่อ ฆ่าเชื้อ โดยใช้ด่างทับทิม กากชา คลอรีน ฟอร์มาลีน และเพิ่มระบบกรองน้ำด้วยผ้า เพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าจะไม่มีการเล็ดลอดของไข่ปลาหมอคางดำ


ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อภินันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางน้ำกันอย่างจริงจัง มีทั้งทำลายต้นน้ำลำธาร เปลี่ยนทางน้ำ สร้างสิ่งกีดขวาง ขยะ น้ำเสีย มลพิษ พลาสติก และปล่อยสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำ ทำให้สูญเสียระบบนิเวศ ปลาท้องถิ่นตามธรรมชาติลดจำนวนลง ดังนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาให้ความสำคัญ และทุกภาคส่วนต้องมาตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมต้องมาร่วมมือกันบริหารจัดการเชิงระบบ สร้างความตระหนักในทรัพยากร ด้วยการใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีโครงการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหารและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาระบบนิเวศทางน้ำลุ่มน้ำยม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ หวงแหน ใช้ประโยชน์ สร้างคุณค่าปลาไทยในท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะขยายผลโครงการให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำในประเทศไทย เพราะเมื่อปลาไทยเจ้าถิ่นมีจำนวนมากพอ ก็เป็นเหมือนด่านหน้า ที่จะป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ปลาต่างถิ่นรุกล้ำเข้ามาจนเกิดปัญหาเหมือนเช่นปลาหมอคางดำในเวลานี้






กำลังโหลดความคิดเห็น