xs
xsm
sm
md
lg

“พี่ศรี” ร้องศาลปกครองฟันอธิบดีประมง-รมว.เกษตรฯ ปล่อยนายทุนนำเข้าปลาหมอคางดำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ” รับมอบอำนาจจากเกษตรกรผู้เสียหาย ฟ้องศาล ปค.เอาผิดอธิบดีประมง-รมว.เกษตรฯ ฐานปล่อยนายทุนนำเข้าปลาหมอคางดำ ขอสั่งหน่วยงานเอาผิดแพ่ง-อาญา นายทุน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ



วันนี้ (30 ก.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นฟ้องอธิบดีกรมประมง คณะกรรมการความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (ไอบีซี) และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฐานใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่กรณีอนุญาตให้บริษัทนายทุนชื่อดังนำปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เข้ามาในประเทศไทย จนเกิดการแพร่ระบาด โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดีกรมประมง และคณะกรรมการด้านความหลากหลาย และความปลอดภัยทางชีวภาพ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ บังคับใช้กฎหมายด้วยการฟ้องแพ่ง ฟ้องอาญา กับบริษัทเอกชนที่เป็นต้นเหตุปัญหาเหล่านี้ และให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทััง 3 คน ไปดำเนินการให้บริษัทเอกชนฟื้นฟูสภาพทรัพยากรในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดให้กลับคืนมาภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากชาวบ้านผู้เลี้ยงปลา และกุ้ง ที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่หน่วยงานของรัฐได้อนุญาตให้เอกชนรายใหญ่ชื่อดังนำปลาหมอคางดำเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ และเล็ดลอดออกมาในแหล่งน้ำธรรมชาติ จนเกิดการแพร่ระบาด และทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์น้ำในพื้นที่รอบอ่าวไทยกว่า 25 จังหวัด โดยภาครัฐต้องใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กรมประมงรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ที่มีการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เพชรบุรี ตั้งแต่ปี 2555 แต่กลับเพิกเฉยในการแก้ไขปัญหา และการป้องกันปัญหา แม้ชาวบ้านจะไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อปี 2560 และกรมประมงก็ได้รับทราบเรื่องนี้มาโดยตลอดแต่กลับเพิกเฉย จนกระทั่งปลาหมอคางดำแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง จนเป็นข่าวดัง จนวันนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการเอาผิดบริษัทเอกชนที่นำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานา ทวีปแอฟริกาได้
ทั้งนี้ หากปล่อยไปไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ก็จะทำให้ชาวประมงได้รับความเสียหายยิ่งกว่านี้ ทั้งที่ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 97 ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะไปฟ้องร้องบุคคลที่ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ก็คือบริษัทต้นเหตุโดยสามารถเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ เป็นพันล้าน หมื่นล้าน

ส่วนทางอาญานั้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 ประกอบมาตรา 56 ก็สามารถเอาผิดทางอาญากับบุคคลที่เป็นต้นเหตุในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กรมประมงกลับเพิกเฉยในเรื่องนี้มาโดยตลอด แม้ว่าเอกชนจะยืนยันว่าได้ทำลายปลาเหล่านี้ไปหมดแล้ว แต่เมื่อปี 2560 กรมประมงได้เข้าไปตรวจสอบ และจับปลาหมอคางดำในศูนย์วิจัยของเอกชน ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน แต่กรมประมงกลับไม่ดำเนินการใดๆ

“วันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อปลา การจับปลาซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ปลาเหล่านี้ อยู่ได้ทั้งน้ำจืดน้ำกร่อย และน้ำทะเล ทำให้การกำจัดเป็นเรื่องยาก ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นในวันนี้จำเป็นจะต้องให้ผู้ประกอบการที่เป็นต้นเหตุของการนำปลาเหล่านี้เข้ามาปรับปรุงพันธุ์และเกิดการแพร่กระจายมารับผิดชอบโดยตรง อย่านำเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศมาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง มิเช่นนั้นเอกชนต่างๆก็ย่ามใจในการที่จะทำอะไรก็ได้ แล้วผลักภาระให้กับรัฐเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งเห็นว่าไม่ควรเกิดขึ้น”

ส่วนที่บริษัทเอกชนที่นำเข้าปลายืนยันว่าได้ทำลายปลาหมอคางดำไป เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการลักลอบนำเข้าจากรายอื่น นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การที่บริษัทเอกชนพยายามนำหลักฐานมายื่นต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าได้ทำลายหลักฐานหมดไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 แต่กรมปรมงได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจในบ่อภายในศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชน ก็ยังพบปลาหมอคางดำอยู่ แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการกำจัดไม่จริง เป็นการสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จยื่นต่อกรรมาธิการหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ในชั้นศาลปกครองต่อไป

นายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะยื่นเพิ่มเติมขอให้ศาลไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว โดยวันนี้เป็นการยื่นคำร้องหลักก่อน ส่วนบริษัทเอกชนไม่ปรากฏอยู่ในการฟ้อง เนื่องจากศาลปกครองยื่นฟ้องได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ แต่เป็นอำนาจของศาลที่จะเรียกเอกชนเข้ามาในคดีได้ เชื่อว่า ศาลจะเรียกบริษัทนายทุนเข้ามาในคดี หลังจากที่ศาลประทับรับฟ้องเรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น