รายงานพิเศษ
จากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์ที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะจัดเป็นปลานักล่าที่รุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นหมดสิ้น รวมทั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร
กระแสสังคมและนักเคลื่อนไหวพุ่งเป้าไปที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวหาว่าเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด โดยมีการปล่อยภาพลงบนโซเชียลมีเดีย ทั้งภาพถ่ายทางอากาศที่โยงไปว่าเป็นบ่อเลี้ยงปลาหมอคางดำ ภาพที่อ้างว่าเป็นสภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สาร และภาพที่อ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ
ซึ่งทางบริษัทฯ แถลงข่าวไปครั้งหนึ่งแล้ว ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และสำนักกฎหมายของซีพีเอฟได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้ภาพและข้อมูลเท็จไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อปกป้องชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของบริษัทฯ
แต่เนื่องจากการแถลงข่าวเพียงอย่างเดียว สื่อมวลชนและสังคมอาจไม่เห็นภาพมากพอ ทำให้เมื่อวันก่อน ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ "ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ" และคณะ จึงได้เชิญสื่อมวลชนแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดโครงการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลเมื่อปี 2553 พร้อมกับนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร (ฟาร์มยี่สาร) ด้วยตัวเอง
สาระสำคัญของการแถลงข่าวในวันนั้น เน้นย้ำว่าปลาหมอคางดำที่นำเข้าจากประเทศกานาเมื่อปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว ตายและเสียหายทั้งหมดในขั้นตอนกักกันโรค ในระยะเวลาเพียง 16 วัน โดยที่ยังไม่ได้เริ่มทำการวิจัยด้วยซ้ำ เมื่อไปต่อไม่ได้เพราะปลาที่รอดเหลือเพียงแค่ 50 ตัวและอ่อนแอเกินไป ไม่พอกับการวิจัย จึงไม่ไปต่อและแจ้งยกเลิกโครงการไปตั้งแต่ปี 2554
สำหรับศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร ซีพีเอฟ หรือฟาร์มยี่สาร ตั้งอยู่เลขที่ 78 หมู่ที่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ปัจจุบันกลายเป็น ศูนย์วิจัยการเลี้ยงกุ้งและเทคโนโลยีชีวภาพ ยี่สาร บนพื้นที่ 480 ไร่ โดยมีลำคลองธรรมชาติไหลผ่าน ได้แก่ คลองบางยาว คลองหลวง และคลองดอนจั่น รับน้ำจากแม่น้ำแม่กลองใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
แต่เดิมศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลา คือ ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล 2. พื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง และ 3. ระบบบ่อพักน้ำ ที่สูบน้ำจากคลองดอนจั่นและคลองหลวงมากักเก็บไว้เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีค่าความเค็มของน้ำมากพอที่จะนำมาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ปัจจุบันพื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลาได้ปรับปรุงให้เป็น "พื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง" ประมาณ 95% มีเพียง "พื้นที่งานวิจัยปลา" เป็นพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 5% เท่านั้นที่ยังคงอยู่ โดยจุดที่เคยกักกันโรคลูกปลาหมอคางดำเดิม ที่นำเข้าจากประเทศกานา จะอยู่ที่โรงเรือนเล็กๆ ด้านในเป็นบ่อซีเมนต์ ขณะที่ระบบบ่อพักน้ำจากเดิมเป็นบ่อพักขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้ถูกแบ่งย่อยสำหรับฟาร์มกุ้ง
จุดแรกที่ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟแนะนำ คือ "ระบบบ่อพักน้ำ" ลึก 2.5 เมตร ปูด้วยพื้นยางหนา 0.75 ถึง 1 มิลลิเมตร ป้องกันการรั่วซึมไปยังน้ำผิวดิน และมีระบบรองรับ ที่หากพบว่ามีน้ำรั่วก็สามารถสูบน้ำออกไปยังบ่อข้างเคียงเพื่อทำการซ่อมแซมพื้นยางได้ เมื่อสูบน้ำจากคลองเข้ามาที่ระบบบ่อพักน้ำแล้ว การนำน้ำมาใช้จะมีการเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่เรียกว่า ไบโอบอลล์ (BIOBALL) เพื่อบำบัดน้ำเสียและปรับสภาพน้ำก่อนการเพาะเลี้ยง
เมื่อนำน้ำไปใช้ และกลายเป็นน้ำเสียหลังการเพาะเลี้ยง จะมีการเติม คลอรีน 50 ppm ก่อนนำเข้าสู่บ่อบำบัดแล้วนำกลับมาใช้หมุนเวียน โดยไม่มีการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใดๆ แต่น้ำอาจจะระเหยไปในอากาศ เนื่องจากอากาศร้อนตามธรรมชาติ จึงต้องมีการสูบน้ำในคลองเข้ามาใช้ในฟาร์มยี่สารทดแทน
ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟกล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบบ่อพักน้ำเคยมีคณะของกรมประมง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำการเก็บตัวอย่างในบ่อพักน้ำ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำตามที่ถูกกล่าวหา
สำหรับลูกปลาหมอคางดำ 600 ตัวที่รอดชีวิตแต่มีสภาพอ่อนแอ ขณะนั้นนำไปกักกันโรคในถังซีเมนต์ ภายในโรงเรือนเล็กๆ บนพื้นที่งานวิจัยปลา จำนวน 1 บ่อ บรรจุน้ำ 8 ตัน มีกำหนดในการกักกันโรค 2 เดือน แต่ปรากฏว่าลูกปลาหมอคางดำเสียหายทั้งหมดในเวลาเพียง 16 วัน จึงได้ปิดโครงการไปตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 และไม่มีการวิจัยใดๆ อีก
ยืนยันว่าปลาหมอคางดำยังไม่ได้เพาะเลี้ยงในบ่อดินตามที่ถูกกล่าวหา เพราะในเวลานั้นพื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลามีแต่ปลาทับทิม ปลานิล และปลาทะเล เลี้ยงในกระชังเท่านั้น
ส่วนลูกปลาที่ตายอีก 1,400 ตัว ได้แช่ ฟอร์มาลิน เป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อฆ่าเชื้อโรค กำจัดพาราสิต ก่อนฝังกลบด้วยปูนขาวอีกครั้งที่ลานฝั่งตรงข้ามโรงเรือน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารวิจัยปลาอีกหลังหนึ่ง ส่วนน้ำที่ผ่านการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ในขณะนั้นทางซีพีเอฟเติมคลอรีนสูงกว่าปกติถึง 100 ppm จึงมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างแน่นอน
สำหรับข้อกังวลที่ว่าลูกปลาที่ตายไปยังมีไข่อยู่ในตัวปลาหรือไม่ ทางซีพีเอฟ ยืนยันว่าลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้ามาเพื่อวิจัยเป็นปลาตัวเล็ก จึงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งโดยปกติปลาหมอคางดำวางไข่ได้จะต้องมีอายุประมาณ 4-6 เดือน ส่วนข้อกังวลถึงลูกปลาหมอคางดำที่ถูกฝังไปแล้วนั้น ได้ผ่านการแช่ฟอร์มาลินและโรยปูนขาวก่อนทำการฝัง และเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี จึงย่อยสลายไปตามธรรมชาติแล้ว
ปัจจุบันโรงเรือนที่เคยเป็นจุดกักกันโรคลูกปลาหมอคางดำยังคงอยู่ พร้อมกับถังซีเมนต์ และถังบรรจุไบโอบอลล์ โดยที่ผ่านมาได้ปรับปรุงถังซีเมนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ส่วนพื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลา ถูกแทนที่ด้วยพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งระบบปิด ที่ชื่อว่า ระบบไบโอฟล็อก (BIOFLOC) โดยใช้บ่อกลมแบบยกสูงลอยจากพื้น ขนาด 800 ตารางเมตร พร้อมกับหลังคาคลุมคล้ายโรงเรือนปลูกพืช เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้ง และไม่ให้น้ำฝนชะล้างน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง เพื่อให้คุณภาพน้ำยังคงที่ และอัตราการรอดสูง
โดยน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งก็เป็นระบบหมุนเวียน โดยมีระบบเปลี่ยนถ่ายน้ำ มีการเพิ่มออกซิเจนและจุลินทรีย์ ช่วยลดการใช้น้ำลงได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการเลี้ยงกุ้งแบบปกติ ที่ผ่านมาได้ผลผลิต 10-15 ตัน มีการนำไปใช้แล้วกับฟาร์มกุ้งกว่า 20 แห่ง
สำหรับภาพบนสื่อโซเชียลที่ระบุว่าปลาหมอคางดำมีการเลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ปี 2553-2560 นั้น จากการสำรวจโดยรอบฟาร์มยี่สารพบว่าบรรยากาศแตกต่างจากภาพบนสื่อโซเชียลฯ โดยเฉพาะริมบ่อพักน้ำฝั่งริมคลองยังมีแนวต้นไม้ริมคลอง ซึ่งจากการสอบถามกับประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟยืนยันว่า ภาพที่ถูกเผยแพร่ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และไม่มีการเลี้ยงปลาหมอคางดำต่อเนื่องตามที่กล่าวอ้าง
เช่นเดียวกับภาพที่อ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์ ผสมพันธุ์ แล้วนำไปอนุบาลในกระชัง ในฟาร์มยี่สารนั้น ซีพีเอฟยืนยันว่าไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำอย่างที่กล่าวอ้าง และไม่ใช่ฟาร์มยี่สารอีกด้วย
ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟย้ำว่า เรื่องปลาหมอคางดำ มีการให้ข่าวและใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่มีนโยบายที่จะไปแจ้งความใคร แต่เมื่อข้อมูลถูกบิดเบือนไปพอสมควร จึงต้องขอความเป็นธรรมจากการที่ชื่อเสียงเสียหาย ด้วยการแจ้งความดำเนินคดี เพราะถ้าไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจน ก็ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย
อ่านประกอบ : CPF ย้ำไม่ใช่ต้นตอหมอคางดำ เผยลูกปลาเสียหายใน 16 วัน คลอรีน-ฟอร์มาลินกำจัดหมดสิ้น