xs
xsm
sm
md
lg

CPF ย้ำไม่ใช่ต้นตอหมอคางดำ เผยลูกปลาเสียหายใน 16 วัน คลอรีน-ฟอร์มาลีนกำจัดหมดสิ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีพีเอฟเผยข้อมูลละเอียดยิบ โครงการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลปี 53 ระบุ ขอนำเข้าลูกปลาจากกานา 2,000 ตัว พัฒนาให้ลดการเลือดชิด ถึงไทยตายแล้ว 1,400 เหลือ 600 ตัวอ่อนแอมาก กักกันโรค 60 วันในบ่อซีเมนต์ แต่เพียงแค่ 16 วันตาย-เสียหาย จึงไม่ทำวิจัยต่อ เผยขั้นตอนทำลายทั้งคลอรีนเข้มข้น แช่ฟอร์มาลีน 24 ชั่วโมง แล้วฝังโรยปูนขาวดับสนิท มั่นใจไม่ใช่ต้นเหตุแพร่กระจายปลาหมอคางดำ พร้อมเอาผิดคนให้ข้อมูลเท็จเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และคณะ แถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดโครงการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลเมื่อปี 2553 สืบเนื่องมาจากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่มีการพาดพิงถึงบริษัทฯ โดยมีรายละเอียดว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2549 บริษัทฯ ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าลูกปลาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorotherodon melanotheron และชื่อสามัญว่า Blackchin Tilapia จากประเทศกานา จำนวน 5,000 ตัว ขณะนั้นในปี 2549 กรมประมงใช้ชื่อว่าปลานิล เพื่อทดลองปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ลดการเกิดเลือดชิดของสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ แต่เนื่องจากในปี 2549 ผู้รวบรวมปลาในประเทศกานาจัดหาลูกปลาไม่ทัน จึงได้ขออนุญาตนำเข้าในปี 2553






ในปี 2553 บริษัทฯ นำเข้าปลาดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นกรมประมงใช้ชื่อว่า ปลาหมอเทศข้างลาย เพียง 2,000 ตัว เพราะผู้รวบรวมปลาในประเทศกานาหามาได้เท่านี้ โดยตามแผนงานหลังจากขออนุญาตจากกรมประมง เข้าที่ประชุมคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพ (IBC) แล้ว จึงออกใบอนุญาตและแต่งตั้งคณะกรรมการย่อยเพื่อติดตามโครงการตามขั้นตอน จากนั้นจึงนำไปสู่กระบวนการนำเข้า โดยขนส่งทางเครื่องบิน ตรวจสภาพปลา แล้วนำไปไว้ในบ่อกักกันโรคเป็นระยะเวลา 60 วัน ประเมินความแข็งแรงก่อนการทำวิจัย ปรากฎว่าเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 22 ธ.ค. 2553 บริษัทฯ ไปรับลูกปลาหมอเทศข้างลาย ขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว ที่ด่านตรวจสัตว์น้ำสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลูกปลาได้รับความเสียหายจากการขนส่ง คาดว่าใช้ระยะเวลาขนส่งจากประเทศกานา มายังประเทศไทย ประมาณ 35 ชั่วโมง

จากนั้นจึงนำลูกปลาทั้งหมดไปที่ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร (ฟาร์มยี่สาร) หมู่ที่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มาถึงฟาร์มยี่สารเวลาประมาณ 23.00 น. ตรวจสอบพบว่ามีลูกปลาตายในถุงประมาณ 1,400 ตัว คงเหลือลูกปลาที่อ่อนแอประมาณ 600 ตัว จึงนำลูกปลาไปกักกันโรคในบ่อซีเมนต์ภายในโรงเรือนขนาดเล็ก ขนาด 8 ตัน 1 บ่อ ในระบบปิด ส่วนลูกปลาที่ตาย 1,400 ตัว ได้แช่ฟอร์มาลีน ก่อนนำไปทำลายโดยการฝังกลบ ส่วนลูกปลาที่เหลือทยอยตายลงจาก 600 ตัว ผ่านไป 2 วันเหลือ 400 ตัว สัปดาห์แรกเหลือ 200 ตัว สัปดาห์ที่สองเหลือ 150 ตัว และสัปดาห์ที่สามเหลือ 50 ตัว

โดยระหว่างวันที่ 24 ธ.ค. 2553 ถึง 2 ม.ค. 2554 ผู้ดูแลได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมงว่า ลูกปลาไม่แข็งแรงและไม่เพียงพอต่อการวิจัย เจ้าหน้าที่กรมประมงจึงแนะให้เก็บลูกปลาที่ตายใส่ขวดโหล แช่ฟอร์มาลีน มาส่งที่กรมประมง มาถึงสัปดาห์ที่สอง ได้เก็บตัวอย่างปลา 50 ตัวที่ตายแล้วดองฟอร์มาลีนเข้มข้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน และสัปดาห์ที่สาม นำตัวอย่างปลาไปส่งและแจ้งปิดโครงการแก่เจ้าหน้าที่กรมประมง ในวันที่ 6 ม.ค. 2554 โดยสรุปก็คือในช่วงนำลูกปลาไปไว้ในบ่อกักกันโรค 60 วัน ลูกปลาเสียหายทั้งหมดในระยะเวลา 16 วัน บริษัทฯ จึงไม่ได้เริ่มทำการวิจัย ส่วนน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงลูกปลาจะมีการหมุนเวียนตลอดเวลา ไม่มีการปล่อยออกจากฟาร์ม น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะกลับมาที่บ่อพักน้ำ และจะสูบน้ำจากคลองเข้ามาที่บ่อพักน้ำ เพื่อนำมาใช้เลี้ยงปลาในช่วงเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม ที่ระดับความเค็มของน้ำเพียงพอ

"ตอนที่เอาลูกปลามา 2,000 ตัวเป็นลอตเดียวกันหมด ลูกปลา 2 ใน 3 ตาย ลูกปลาที่เหลือค่อนข้างอ่อนแอ บอบช้ำ ต้องรีบประคบประหงม ก็ลุ้นว่าจะรอดหรือไม่รอด ถ้าจะรอดจะเพียงพอกับการทำวิจัยหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาวิจัย 3-5 ปี คนที่เคยเลี้ยงปลาจะทราบดีว่าปลาที่เหลือไม่น่าจะแข็งแรงนัก" นายประสิทธิ์ กล่าว












ส่วนเงื่อนไขในการนำเข้าลูกปลา หลังจากเริ่มมีการวิจัย ในการประชุมคณะกรรมการ IBC เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2553 กำหนดใน กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ปลาตายอย่างน้อย 3 ตัว แต่การเก็บครีบปลาจะทำต่อเมื่อปลามีขนาดโตเหมาะสมแล้วเท่านั้น ปลาที่นำเข้ามาเสียหายในขณะกักกันเพียง 16 วัน จึงไม่สามารถเก็บครีบปลาโดยที่ไม่ทำให้ปลาตายได้ ส่วนหน้าที่การเก็บครีบปลาเป็นหน้าที่ของกรมประมง เข้าใจว่าเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการตัดครีบปลาจากปลาชนิดที่ถูกต้อง และเป็นโอกาสดีที่เจ้าหน้าที่กรมประมงจะได้ไปเห็นสถานที่จริงใช้ในการวิจัย

ส่วนอีกเงื่อนไขหนึ่ง คือ เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้ผู้นำเข้าแจ้งผลการทดลองต่อกรมประมง แต่เนื่องจากปลาเสียหายทั้งหมดในขณะกักกันเพียง 16 วัน จึงถือว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และบริษัทฯ ไม่ประสงค์จะทำการศึกษาต่อ จึงได้ทำลายปลาชุดดังกล่าวทั้งหมดตามวิธีการและได้แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2554 บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยได้แจ้งกรมประมง ส่งซากปลาจำนวน 50 ตัวให้กรมประมงเพื่อทำการตรวจสอบ และได้ทำลายปลาที่เสียหายทั้งหมด โดยเริ่มจากใส่คลอรีนความเข้มข้น 100 ppm ในบ่อเลี้ยง เก็บซากปลาทั้งหมดออกมาแช่ฟอร์มาลีน ฝังกลบโดยขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร โรยปูนขาวที่ก้นหลุมแล้วใส่ซากปลาลงไป แล้วโรยปูนขาวปิดตัวปลาก่อนที่จะเอาดินกลบ

"การฝังกลบปลาทยอยทำเป็นช่วงๆ ช่วงแรกนำเข้าปลา 2,000 ตัว ตาย 1,400 ตัว ได้หมักฟอร์มาลีนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เสร็จแล้วเอาไปฝังกลบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเลี้ยงต่อมาปลาก็ทยอยตายเรื่อยๆ เอาไปหมักฟอร์มาลีนแล้วเอาไปฝังกลบ อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ให้กรมประมง รอบสุดท้ายเหลือ 50 ตัว นักวิจัยยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะปริมาณน้อยมากและยังอ่อนแอ ก็เลยทำเรื่องขอหยุดโครงการ สิ่งที่ต้องทำคือ กำจัดเชื้อที่อาจจะมีอยู่ในน้ำโดยใส่สารคลอรีนเข้มข้น 100 ppm ถือว่าเข้มข้นมาก เพื่อทำลายเชื้อในน้ำและปลา แล้วนำซากปลาไปหมักฟอร์มาลีน ดองเสร็จก็นำมาฝังกลบเพื่อไม่ให้มีเชื้อต่างๆ อย่าลืมว่าสถานที่ตรงนี้เป็นที่พัฒนาสายพันธุ์ ไม่ใช่ฟาร์มเลี้ยงด้วยซ้ำ จึงมีกระบวนการภายในที่ดูแลอย่างดี" นายประสิทธิ์ กล่าว








นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีบุคคลบางกลุ่มให้ข้อมูลเท็จผ่านสื่อหลายเรื่อง อาทิ แผนผังกระบวนการเลี้ยงปลาที่ฟาร์มยี่สาร จุดที่อ้างว่าเป็นบ่อเลี้ยงปลา ความจริงเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง และจุดที่อ้างว่าเป็นบ่อผสมพันธุ์และบ่ออนุบาลปลา ความจริงเป็นบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล ส่วนภาพที่อ้างว่าปลาหมอคางดำมีการเลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ปี 2553-2560 นั้น ภาพที่นำมาใช้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และไม่มีการเลี้ยงปลาหมอคางดำต่อเนื่องตามที่กล่าวอ้าง ส่วนภาพที่อ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์ ผสมพันธุ์ แล้วนำไปอนุบาลในกระชัง ในฟาร์มยี่สารนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำอย่างที่กล่าวอ้าง และไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร ซึ่งบริษัทฯ เคยแถลงข่าวอธิบายมาแล้วครั้งหนึ่ง

"เราก็เป็นห่วงว่าข้อมูลที่เอาไปโพสต์ในทางสาธารณะ ให้คนทั่วไปเชื่อว่าเราทำผิดพลาดอะไรบางอย่าง ต้องบอกว่าสิ่งที่เขาไปอ้างอิงถึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเยอะมากแทบทุกภาพที่โพสต์ออกมา เป็นสิ่งที่เรากังวลพอสมควร" นายประสิทธิ์ กล่าว






ในการแถลงข่าวมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการส่งออกปลาหมอคางดำ เพราะในปี 2556-2559 มีการส่งออกปลาในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorotherodon melanotheron แต่ใช้ชื่อทางการในขณะนั้นว่า "ปลาหมอเทศข้างลาย" ก่อนที่ในปี 2560 เปลี่ยนชื่อว่า "ปลาหมอคางดำ" โดยพบว่าในปี 2556-2559 ส่งออกแล้วกว่า 323,820 ตัว ไปยัง 17 ประเทศ โดยประเทศต่างๆ ต้องรับปลาเข้าด้วยชื่อภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorotherodon melanotheron และชื่อสามัญว่า Blackchin Tilapia แต่กรมประมงอ้างว่าบริษัทนำเข้า-ส่งออกสินค้า (ชิปปิ้ง) กรอกข้อมูลผิด ไม่ใช่ปลาหมอคางดำ โดยข้อมูลดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์ของกรมประมงว่ามีการส่งออก มีความเป็นไปได้ว่ามีการหลุดออกมาหรือไม่ จึงเป็นข้อสงสัยว่าปลาเหล่านี้มาจากไหน ส่งออกได้อย่างไร โดยกรรมาธิการชุดใหญ่ได้เชิญบริษัท 11 แห่งไปสอบถาม ก็อาจมีความผิดพลาดเรื่องการกรอกข้อมูลในวันนั้น ชื่อภาษาไทยอาจมีความสับสนบ้าง แต่ชื่อภาษาอังกฤษไม่เคยผิด และเป็นชื่อเดียวกับที่บริษัทฯ ใช้ในการนำเข้าลูกปลา

"บริษัทฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการเอามาจากไหน และฟาร์มที่เลี้ยงหรือดูแลมีลักษณะอย่างไร เพราะบริษัทฯ มีการจัดการอย่างเป็นระบบ คนดูแลไม่ใช่คนงานทั่วไป เป็นคนที่เรียนการพัฒนาสายพันธุ์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ และบริษัทฯ บริหารจัดการปลาแค่ 2,000 ตัวด้วยซ้ำ เทียบกับจำนวนปลาของซีพีเอฟถือว่าจำนวนน้อยมาก แต่เนื่องจากเป็นโครงการหนึ่งจึงต้องมีนักวิชาการเป็นคนดูแลเฉพาะ ส่วนที่เหลืออีก 10 บริษัท เราไม่ทราบจริงๆ ว่าตกลงเป็นอะไรกันแน่ และการนำเข้ามาในประเทศไทยมีการดูแลอย่างไรก่อนส่งออก ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เมื่อปี 2559 ซึ่งมีการเลิกทำแล้ว มีการส่งออกกว่า 9 หมื่นตัว ปลาที่เหลือค้างอยู่จัดการอย่างไร มีการทำลายปลาหรือไม่" นายประสิทธิ์ กล่าว




นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอบัตเตอร์ ซึ่งเป็นเอเลียนสปีชีส์เช่นกัน ทั้งที่เป็นปลาที่ห้ามนำเข้าหรือเพาะเลี้ยง เฉกเช่นล่าสุดเกิดขึ้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งปลาหมอคางดำ ปลาหมอบัตเตอร์ และเอเลียนสปีชีส์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทั้งปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอมายัน และปลาหมอคางดำอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ในปี 2553-2554 ทางการไม่ได้ถือว่าเป็นเอเลียนสปีชีส์ สามารถนำเข้ามาได้แต่ต้องขออนุญาต ซึ่งปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอมายัน ไม่ได้ถูกขออนุญาตแต่นำเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก และเมื่อไม่มีใครนำเข้ามาเลย เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างไร

ทั้งนี้ ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดและเกิดการรับรู้อย่างเป็นระบบในปี 2560 จากการแพร่กระจายจำนวนมากและมีผู้ร้องเรียน คณะของกรมประมงและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มาที่บริษัทฯ จากนั้นการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมประมงมีการศึกษาวิจัย 2 ครั้ง ในปี 2563 และ 2565 โดยงานวิจัยของกรมประมงในปี 2563 ศึกษาโดยใช้เครื่องหมายพันธุกรรมไมโครแซทเทิลไลท์ดีเอ็นเอ 5 ตำแหน่ง พบว่าประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2-3 กลุ่มย่อยที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมสูง โดยประชากรจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรม มากกว่าประชากรจากจังหวัดระยอง ซึ่งมีความแตกต่างทางพันธุกรรมจากประชากรอื่นๆ อย่างชัดเจน

ส่วนงานวิจัยของกรมประมงในปี 2565 ศึกษาโดยวิเคราะห์ความแปรปรวนโมเลกุล (AMOVA) พบว่าประชากรปลาหมอคางคำไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมากนัก และประชากรที่พบการแพร่กระจายในพื้นที่ 6 จังหวัด มีการแบ่งเป็นประชากรย่อยหรือมีความแตกต่างระหว่างประชากรสูง โดยพบว่าคู่ประชากรจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กันมีระยะห่างทางพันธุกรรมสูงสุด ส่วนประชากรจังหวัดชุมพรกลับมีระยะห่างทางพันธุกรรมน้อยกว่า ไม่แปรผันตามระยะห่างทางภูมิศาสตร์ จึงเห็นว่ากลไกการแพร่กระจายน่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มากกว่าการแพร่กระจายเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะโดยตั้งใจนำไปทดลองเพาะเลี้ยงแล้วหลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือติดไปกับสัตว์น้ำพันธุ์อื่นโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างหนาแน่น การอ้างอิงถึงเอกสารทั้ง 2 ฉบับนั้น เพื่อเป็นการให้ข้อมูลตามผลการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้ต้องการจะสรุปประเด็นการศึกษา ความหลากหลายพันธุกรรมของประชากรปลาหมอคางดำ และการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ








นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องปลาหมอคางดำ มีการให้ข่าวและใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นความจริง บริษัทฯ ไม่มีนโยบายที่จะไปแจ้งความกับใครทั้งสิ้น แต่การที่ข้อมูลส่วนใหญ่ถูกบิดเบือนไปมากพอสมควร ทางบริษัทฯ ก็ต้องขอความเป็นธรรมจากการที่ชื่อเสียงเสียหาย ในครั้งนี้ต้องมีการแจ้งความเพื่อปกป้องชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของบริษัทฯ ซึ่งได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ขอเรียนว่าความจริงเราไม่ได้มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตอนนี้ถ้าไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจน ก็ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายพอสมควร ก็เลยต้องดำเนินการแจ้งความ

นายสรรพีระ นิลขำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักกฎหมาย ซีพีเอฟ กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินคดี ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการของตำรวจในการหาตัวผู้ต้องสงสัยต่อไป ทราบว่าข้อมูลที่ออกมาไม่ถูกต้องตามที่ชี้แจง เพราะฉะนั้นบริษัทฯ จะต้องปกป้องสิทธิของบริษัทฯ เพื่อปกป้องความเสียหาย เพราะฉะนั้นสื่อต่างๆ ในการนำภาพต่างๆ ไปเผยแพร่จะต้องทำการตรวจสอบก่อนนำไปเผยแพร่ ส่วนจะแจ้งความไปยังองค์กรสื่อหรือผู้ใช้โซเชียลมีเดียนั้น ขอให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ และขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม




กำลังโหลดความคิดเห็น