xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ธรรมชาติ นกเงือกกรามช้างปากเรียบหากินว่อนเขาน้ำค้าง-สงขลากว่า 1,500 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบนกเงือกกรามช้างปากเรียบอพยพจากป่าตะวันตก ออกหากินอยู่ในและรอบๆ ป่าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มากกว่า 1,500 ตัว ตามฤดูกาล ทำเอาตื่นตาตื่นใจไปทั้งอุทยานฯ

วันนี้ (28 ก.ค.) เฟซบุ๊ก "อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง-Khaonamkhang National Park" ของอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง อ.นาทวี จ.สงขลา โพสต์ภาพนกเงือกจำนวนมาก พร้อมข้อความระบุว่า "เพราะรักจึงมาพบกัน นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ผู้มาเยือน ปัจจุบันคาดว่ามีนกเงือกกรามช้างปากเรียบหากินอยู่ในและรอบๆ ป่าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างมากกว่า 1,500 ตัว นับยอดล่าสุด ณ วันที่ 26 ก.ค. 2567 บ้านช่อนทอง ต.ทับช้่าง อ.นาทวี 400-500 ตัว บ้านนาปรัง ต.คลองกวาง อ.นาทวี 600-700 ตัว และกระจายย่อยๆ ใน อ.นาทวี และ อ.สะเดา อีกหลายจุด

สำหรับนกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) ข้อมูลจากสวนสัตว์สงขลา ระบุว่า มีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับนกเงือกกรามช้างมาก จะแตกต่างกันตรงที่นกเงือกกรามช้างปากเรียบมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ปากสีเหลืองหรือสีออกเหลือง โคนปากไม่มีรอยบั้ง ถุงใต้คางไม่มีแถบสีดำ ตัวผู้ถุงใต้คางสีเหลือง ส่วนของตัวเมียเป็นสีฟ้า ช่วงปลายเดือน พ.ค.ของทุกปีนกเงือกชนิดนี้จะบินอพยพจากป่าตะวันตกลงไปแถวบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย และจะบินกลับขึ้นเหนือในช่วงเดือน พ.ย. พบกระจายพันธุ์ในพม่า ไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตรา หมู่เกาะโมลุกกะ และหมู่เกาะโซโลมอน พบตามป่าดงดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งระดับเชิงเขา

นกเงือกชนิดนี้ชอบกินผลไม้สุก สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ตามป่าเป็นอาหาร ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ โดยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้สูง ชอบอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ ประมาณ 6-20 ตัว หรือมากกว่า เป็นนกที่บินได้ดี บินในระดับที่สูงพอสมควร มักออกบินเป็นฝูงในตอนเช้าและตอนเย็น และบินออกจากรังไปหาอาหารไกลๆ นกเงือกกรามช้างปากเรียบทำรังอยู่ในโพรงไม้บนต้นไม้ใหญ่บริเวณหุบเขา วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน หรือระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. ทำรังตามโพรงของต้นไม้ ซึ่งเป็นโพรงที่เกิดตามธรรมชาติ หรือโพรงของสัตว์อื่นๆ ทำทิ้งไว้ โดยเฉพาะโพรงของนกหัวขวานใหญ่สีเทา










กำลังโหลดความคิดเห็น