xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแชมป์อนุรักษ์เสือโคร่งอาเซียน สำรวจปีนี้ 178-223 ตัว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ออส.)
ในโอกาสวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (29 ก.ค.ของทุกปี) ในปีนี้ กรมอุทยานฯ จัดสัปดาห์วันเสือโคร่ง (25-31 ก.ค.67 ที่ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต) เผยรายงานการประเมินประชากรเสือโคร่งปี 2567 พบว่ามีเสือโคร่งตัวเต็มวัยในธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 179-223 ตัว จากเดิมที่ได้สำรวจในปี 2565 มีเพียง 148-189 ตัว อธิบดีกรมอุทยานฯ แจงเดินหน้าต่อพร้อมชูต้นแบบ “การจัดการเสือโคร่งในอนาคต” จากกรณีการปล่อยเสือโคร่งบะลาโกลข้ามกลุ่มป่า

ประชากรเพิ่มเป็น 178-223 ตัว ปี 2567


กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้ามาศึกษาวิจัยและสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพจำนวนกว่า 1,200 จุด และมีรายงานการสำรวจพบถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 19 แห่ง 5 กลุ่มป่า ประกอบด้วย กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน–กุยบุรี กลุ่มป่าฮาลาบาลา–บางลางและกลุ่มป่าชุมพร

เมื่อนำข้อมูลการถ่ายภาพประกอบกับการประเมินความหนาแน่นประชากรของเสือโคร่งด้วยเทคนิคทางสถิติ (SECR) พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179 – 223 ตัวซึ่งการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งจะเห็นได้ชัดในกลุ่มป่าตะวันตกซึ่งเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่มีการเดินทางออกไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ

นั่นแสดงว่าประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่ง จากช่วงเริ่มต้น 41 ตัว ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 100 ตัว ในปี พ.ศ. 2565 ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร–ห้วยขาแข้ง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในรูปแบบภูมิทัศน์เชิงนิเวศ และการทำงานเพื่อเอาชนะความท้าทายในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ การติดตามการบังคับใช้กฎหมายการปรับปรุงพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ วางโครงสร้างการบริหารจัดการตามระบบนิเวศ การเพิ่มศักยภาพพัฒนาทักษะด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองของหัวหน้าหน่วยงาน และการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่วมบริหารจัดการพื้นที่”


เสียงชื่นชม “แชมป์อนุรักษ์เสือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

วานนี้ (25 ก.ค. 2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวในวันเปิดงานวันเสือโคร่งโลก (Global Tiger Day 2024) “Go Goal Tigers ก้าวต่อไป…Tigers” ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ปทุมธานี

“เดือนเมษายนที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่ออนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่งณอาณาจักรภูฏานซึ่งเป็นการประชุมเพื่อระดมทุนและความร่วมมือด้านอนุรักษ์เสือโคร่งกับกลุ่มประเทศถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยประเทศไทยได้รับการยกย่องชื่นชมให้เป็นแชมป์เปี้ยนด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แสดงถึงประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในความมุ่งมั่นการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติและเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจนสามารถนำมาเป็นต้นแบบตัวอย่างสำหรับการดำเนินงานของประเทศถิ่นอาศัยเสือโคร่งประเทศอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี”


“ประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศ ที่มีถิ่นอาศัยของเสือโคร่งในผืนป่า และได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำด้านอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซียในปี 2553 หลังจากนั้นเราประสบความสำเร็จอย่างมาก ถือว่าเราได้ก้าวเดินตั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งได้กำหนดให้มีวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันเสือโคร่งโลก เนื่องจากเสือโคร่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ” นายอรรถพลกล่าว


เสวนาและแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ“ส่องทาง...มองมุมเสือโคร่งคืนถิ่น”
เดินหน้าต่อ “เพิ่มประชากร 5 กลุ่มป่าเป้าหมาย”

“การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในปี 2567 อยู่ในช่วงของแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้น ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย ด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว–น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง–เขาสก

ภายใต้การบูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว

“ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2565 ถึง 2577 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นไปที่

1. การบำรุงรักษาและยกระดับการคุ้มครองในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ 18,000 ตารางกิโลเมตรประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง 17 แห่ง

2. ยกระดับการติดตามประชากรและฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ภูมิทัศน์เสือโคร่งอื่น ๆ อีก 4 แห่ง

3. การเสริมสร้างการจัดการความรู้ และการพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ การสร้างจิตสำนึกส่งเสริมการศึกษา และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและประชาชน

กรมอุทยานฯ เผยภาพแรก หลังปล่อย เสือโคร่ง บะลาโกล ในป่าทับลาน Go Go Balagol: ก้าวต่อไปบะลาโกล
เริ่มทดลองปล่อยข้ามกลุ่มป่า เพื่อขยายพันธุ์


นายอรรถพล กล่าวว่า “ปีนี้ได้มีเหตุการณ์ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญให้ได้เรียนรู้เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการเสือโคร่งในอนาคตจากกรณีการปล่อยเสือโคร่งบะลาโกลซึ่งเป็นเสือโคร่งจากอุทยานแห่งชาติคลองลานกลุ่มป่าตะวันตกได้นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่

ซึ่งมีความหมายต่อการเพิ่มทางพันธุกรรมของเสือโคร่งให้คงอยู่คู่ผืนป่าไทยอย่างยั่งยืน และถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการปล่อยเสือโคร่งข้ามกลุ่มป่า นับเป็นอีกความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์เสือโคร่งฉบับที่ 2 ที่ต้องการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในกลุ่มป่าเป้าหมาย และจะเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์เสื่อโคร่งต่อไป””

อธิบกรมอุทยานฯ ย้ำว่า “กรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งฉบับที่ 2 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติมากขึ้น ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย ด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่เป้าหมาย อีกทั้งที่มีการดำเนินการกระจายตัวของประชากรเสือโคร่งไปยังพื้นที่ป่าเป้าหมาย”


กำลังโหลดความคิดเห็น