xs
xsm
sm
md
lg

‘บะลาโกล’ คืนสู่ป่าทับลาน ทีมวิจัยปลื้ม! พบร่องรอยล่าหมูหริ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพด้านขวา กระจุกขนหมูหริ่ง หลุดร่วงในพื้นที่ตรวจพบ

ทีมติดตาม ตรวจสอบร่องรอยเท้า เทียบกับสัญญาณจากปลอกคอ จนมั่นใจว่า เป็นฝีมือบะลาโกลแน่นอน
วานนี้ (20 มิ.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ Thailand Tiger Project DNP กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยแอดมินซึ่งเป็นนักวิจัยเสือโคร่ง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า แจ้งข่าวความคืบหน้าของเสือโคร่งวัยรุ่น “บะลาโกล” หลังจากถูกปล่อยกลับสู่ผืนป่าทับลาน ว่า

“มื้อแรก ที่รู้ได้” “เสือหลามล่าได้แล้ว” นับเป็นข่าวดีที่สุดของสองสัปดาห์ เมื่อพบกระจุกขนที่หลุดร่วงอยู่ในที่เกิดเหตุ ทำให้ระบุในเบื้องต้นจากรอยตีนที่พบในพื้นที่ตรวจสอบว่า บะลาโกล ล่า "หมูหริ่ง"

“การล่าครั้งนี้ เหมือนกับพฤติกรรมการล่าของเสือโคร่งตัวอื่นๆ ที่มักไม่ห่างจากลำห้วย ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกตำแหน่งที่พบเส้นขน พร้อมทั้งมีการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการต่อไป”


สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รายงานว่าหลังจากที่เสือโคร่งบะลาโกลได้ดีดตัวออกจากกรงเคลื่อนย้ายเมื่อเช้ามืดวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา มันก็ตั้งหน้าตั้งตาตระเวนไพร โดยเริ่มต้นออกเดินจากทับลาน ขึ้นเขา เลาะห้วย จนข้ามเขตไปยังปางสีดา

บะลาโกลไปไหน ทีมนุดวิจัยติดตาม (ทีมงานวิจัยเสือโคร่ง) ก็ต้องห่อข้าวเดินตามไปด้วย ในช่วงแรกนอกจากห่อเผื่อปากท้องตัวเองแล้ว ยังมีใจห่อเผื่อบะลาโกลด้วย

ในทุกๆ กลุ่มพิกัดการเคลื่อนที่ที่มาจากสัญญาณดาวเทียม ทีมติดตามจะเดินเท้าเข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณนั้นๆ เสมอ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีกลุ่มพิกัดเกิดขึ้น 4 กลุ่ม เมื่อเข้าตรวจสอบไป 3 กลุ่ม พบเจอเป็นรอยนอน รอยลับเล็บ และเจอะเจอรอยตีนที่ทำให้รู้ถึงทิศทางการมุ่งหน้าของบะลาโกล

เช้าวันที่ 19 มิ.ย.2567 ทีมติดตามได้เดินเท้าเข้าหากลุ่มพิกัดลำดับที่สี่ ซึ่งเกิดขึ้นล่าสุด ถ้าดูตามแผนที่แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการเดินลงเข้าหาพื้นที่หุบซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทาง ซึ่งเส้นทางนี้ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ทั้งเสือโคร่งและผู้ติดตาม ทีมติดตามเงียบหายไปจนกระทั่งเวลา 18:48 น.

"จากพิกัดที่ได้มา พบรอยนอน 5-6 ที่ บริเวณใกล้เคียงกันมีการกินเหยื่อ แต่ระบุไม่ได้ว่าตัวอะไรกันแน่ครับ รับสัญญาณไม่ได้ครับ" คือข้อความที่รายงานให้หัวหน้าทีมทราบในทันทีที่มีสัญญาณ แล้วตามด้วยภาพถ่ายเส้นขนชนิดเหยื่อต้องสงสัย
เมื่อนำภาพถ่ายเส้นขนปรึกษากับผู้ที่เคยมีประสบการณ์ด้านวิเคราะห์เส้นขนจากมูลเสือโคร่งก็ระบุในเบื้องต้นว่า “ขนหมูหริ่ง” หลังจากนี้จะได้ส่งเส้นขนไปวิเคราะห์ละเอียดในห้องปฏิบัติการต่อไป ส่วนบริเวณที่พบกระจุกขนนั้นเมื่อนำพิกัดมาตรวจสอบก็พบว่าห่างจากตำแหน่งของดาวเทียมเพียง 10 เมตรเท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่า เป็นฝีมือบะลาโกลแน่นอน

“หมูหริ่ง” เป็นหนึ่งในหลายชนิดของสัตว์ที่เสือโคร่งฝั่งป่าตะวันตกล่าเป็นอาหาร และเป็นชนิดเหยื่อยอดนิยม ที่แม่เสือเลือกใช้เป็นเหยื่อฝึกประสบการณ์ให้กับลูกเสือ ดังนั้นการล่าหมูหริ่งได้เป็นมื้อแรกของการดำรงชีวิตในป่าอีกครั้งนั้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ฉลาดและดี ที่การันตีความไม่บาดเจ็บ หรือพลั้งพลาดจากการล่าเหยื่อ ซึ่งจากนี้ไปคาดว่าความมั่นใจในการล่าของบะลาโกลจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนสั่งสมเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้ไม่พลาดในการล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ภาพ เมื่อ 6 มิ.ย.67 เจ้าหน้าที่ ใส่สร้อย (ปลอกคอ) ตรวจสอบสุขภาพ ก่อนปล่อยคืนป่า (อดีต-อยู่ป่าตะวันตก ปัจจุบัน-อยู่ทับลาน ป่าด้านตะวันออก

🐅🌳 เช้าวันที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 04:30 น โดยประมาณ เสือวัยรุ่นบะลาโกลคำรามขู่แล้วกระโจนสู่ป่าทับลาน
เครดิตคลิป : ผ้าขาวม้าติ่งป่า

ทำไมยังติดตามศึกษา เสือโคร่ง “บะลาโกล” หลังปล่อยคืนป่า

นักวิจัยเสือโคร่ง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เผยว่าสุดท้ายแล้วเสือโคร่งบะลาโกลที่มีบ้านเกิดในพื้นที่ป่าตะวันตกแต่มีชะตาชีวิตที่ผกผันจนเป็นเหตุให้มนุษย์ตัดสินใจเลือกถิ่นอาศัยให้ใหม่เป็น กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งมีอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นจุดเริ่มต้นของการเหยียบย่างลงบนผืนป่าฝั่งตะวันออกของไทย จนเป็นที่มาของการเรียนรู้

การเคลื่อนย้ายสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่จากป่าสู่ป่า ซึ่งการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งเพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติได้มีการดำเนินการแล้วในบางประเทศที่เป็นถิ่นการกระจายของเสือโคร่งในธรรมชาติเช่น รัสเซีย อินเดีย แต่สำหรับประเทศไทยแล้วเป็นการดำเนินการครั้งแรกโดยเป็นการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งวัยรุ่นที่เกิดจากป่าธรรมชาติฝั่งตะวันตกไปสู่ป่าธรรมชาติด้านตะวันออกของประเทศ

ด้วยความเหมาะสมที่พิจารณาจากการเป็นพื้นที่ที่มีการฟื้นตัวของประชากรเสือโคร่งอินโดจีนและมีระดับประชากรเป็นรองกลุ่มป่าตะวันตกซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นสูงกว่า นัยยะของการฟื้นตัวหมายความว่า พื้นที่นั้นมีประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่ออาศัยอยู่พอสมควรเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเสือโคร่ง การมีระบบการดูแลพื้นที่ที่เข้มแข็งและเป็นระบบมากขึ้น จึงทำให้จำนวนเสือโคร่งเพิ่มพูนขึ้นได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

การติดตามหลังการปล่อยสู่ธรรมชาติ ในการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งบะลาโกลครั้งนี้ได้มีการสวมปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเพื่อประโยชน์ในการติดตามพฤติกรรมหลังการปล่อย ซึ่งจะช่วยทำให้รู้ความเป็นไปในการดำเนินชีวิตของมันในถิ่นอาศัยใหม่ ซึ่งต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างเสือและคน

ท้ายสุดการเตรียมการที่ดีและการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้นำบะลาโกลสู่ปลายทางด้วยความสำเร็จเรียบร้อย จนอาจกล่าวได้ว่า กรมอุทยานฯได้ดำเนินการสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้สำเร็จได้อย่างดียิ่ง อีกทั้งได้สร้างประสบการณ์และการเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และคงกล่าวได้ว่าบะลาโกลเป็นปฐมบทของการเรียนรู้


กำลังโหลดความคิดเห็น