รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในวันเสาร์ (20 เม.ย.) กล่าวหาบรรดามหาอำนาจตะวันตกในข้อตกลงด้านความมั่นคง AUKUS กำลังโหมกระพือความแตกแยก และเสี่ยงแพร่กระจายนิวเคลียร์ในแถบทางใต้ของแปซิฟิก
ระหว่างเดินทางเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับปาปัวนิวกินีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ตำหนิข้อตกลง AUKUS ที่เปิดทางให้สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจัดหากองเรือดำน้ำติดอาวุธธรรมดาแต่ใช้พลังงานนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย
"ข้อตกลง 3 ฝ่าย AUKUS สวนทางกับสนธิสัญญาแปซิฟิกใต้ฉบับหนึ่งที่แบนอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค" หวัง อี้ กล่าวระหว่างแถลงข่าวในเมืองหลวงของปาปัวนิวกินี หลังจากพบปะกับจัสติน คัตเชนโก รัฐมนตรีต่างประเทศปาปัวนิวกินี "นอกจากนี้ AUKUS ยังเพิ่มความเสี่ยงร้ายแรงของการแพร่กระจายทางนิวเคลียร์"
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปักกิ่งพยายามเบี่ยงกระแสอิทธิพลออกจากสหรัฐฯ และออสเตรเลียทั่วทั้งทางใต้ของแปซิฟิก ในนั้นรวมถึงปาปัวนิวกินี
หมู่เกาะในแปซิฟิกแห่งนี้มีประชากรเพียงเล็กน้อย แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและตั้งอยู่ ณ ชุมทางภูมิยุทธศาสตร์ ที่อาจมีความสำคัญยิ่งในทางยุทธศาสตร์ในความขัดแย้งทางทหารใดๆ เกี่ยวกับไต้หวัน
จนถึงตอนนี้ออสเตรเลียคือผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของปาปัวนิวกินี แต่บรรดาบริษัทจีนหลั่งไหลบุกเข้าสู่ตลาดประเทศยากจนแต่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติแห่งนี้
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้พาดพิงถึงถ้อยแถลงเมื่อเร็วๆ นี้ของประเทศต่างๆ ในข้อตกลง AUKUS ที่บอกว่าพวกเขากำลังพิจารณาร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีทางทหาร ในขณะที่ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว พันธมิตรทั้ง 3 ชาติ มีแผยพัฒนาศักยภาพล้ำสมัยในการทำสงคราม อย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์ โดรนใต้ทะเล และขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก
"ความพยายามเมื่อเร็วๆ นี้ในการลากประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าร่วมในโครงการริเริ่มหนึ่งที่โหมกระพือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ และโหมกระพือความแตกแยก ไม่สอดคล้องโดยสิ้นเชิงกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ต้องการ" รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าว
นอกจากนี้ หวัง อี้ ยังเหน็บแนมไปยังความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ กับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งจัดการเลือกตั้งไปเมื่อวันพุธ (17 เม.ย.) โดยที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มานาสเซห์ โซกาวาเร อ้าแขนรับจีน ส่วนบรรดาคู่แข่งหลักของเขา มองอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่งด้วยความคลางแคลงใจและเป็นกังวล
ทั้งนี้ บรรดาสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกเข้ามา ยังคงอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
"เราเชื่อว่าประชาชนชาวหมู่เกาะโซโลมอน มีความเฉลียวฉลาดและความสามารถในการตัดสินอนาคตของประเทศตนเอง ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้เป็นของประชาชนของพวกเขา" หวัง อี้ กล่าว "พวกเขาไม่ได้เป็นสนามหลังบ้านของประเทศไหนๆ" อ้างอิงการรับรู้ในอดีต ที่ออสเตรเลียมองทางใต้ของแปซิฟิกว่าเป็นสนามหลังบ้าน
บรรดาสื่อมวลชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐจีน พากันรายงานว่าอเมริกาอาจบงการก่อจลาจล เพื่อขัดขวาง โซกาวาเร กลับเข้าสู่อำนาจ อย่างไรก็ตาม แอนน์ แมรี ยาสติสชอค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำหมู่เกาะโซโลมอน กล่าวว่าข่าวลือต่างๆ เหล่านี้ เป็นการชี้นำผิดๆ
(ที่มา : เอเอฟพี)