รายงานพิเศษ
ทุกครั้งที่ฝนตกลงมาที่ชุมชนหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กลุ่มควันสีขาวคล้ายหมอกหนาๆ ยังคงลอยขึ้นมาจากเศษซากอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ไปตั้งแต่ 3 เดือนก่อน
มันเป็นภาพเดียวกันกับช่วงที่เปลวไฟเพิ่งถูกดับลงไปใหม่ๆ ... ราวกับว่า เหตุไฟไหม้สิ่งที่เคยถูกเรียกว่า “โรงงาน” เมื่อ 22 เมษายน 2567 เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้
“ที่กองอลูมิเนียมดอส ถ้าเราเข้ามาดูในวันที่ฝนตก เราก็จะเจอควันสีขาวลอยขึ้นมาเหมือนเดิมทุกครั้ง” สนิท มณีศรี ชาวบ้านหนองพะวา พูดขึ้นระหว่างพาคนเข้าไปดูซากโรงงานในวันที่ฝนเพิ่งเบาบางลงไป หลังตกลงมาอย่างหนัก
แม้เวลาจะผ่านไปแล้วถึง 3 เดือน แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เข้าไปสำรวจในเศษซากอาคารของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ก็จะพบภาพกองกากอุตสาหกรรมที่ถูกไฟไหม้เกือบหมด เป็นภาพดียวกับในช่วงที่ไฟเพิ่งดับลงไปใหม่ๆ ทุกอย่าง ...
โครงสร้างอาคารที่พังยับเยิน ไม่พบเครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียวมี่บ่งบอกว่าที่นี่เป็นโรงงาน, หลังคาเปิดกว้างและมีร่องรอยจากแรงระเบิดขึ้นฟ้าของถังสารเคมีจำนวนมาก, ถัง 200 ลิต่ที่ปลิวขึ้นไปคาอยู่บนหลังคาโกดัง ก็ยังอยู่เช่นเดิม, โครงเหล็กบิดเบี้ยวที่เคยเป็นสิ่งห่อหุ้มของถังสารเคมีขนาด 1,000 ลิตร ที่ไม่เห็นแม้แต่ซากของถังเหลืออยู่, กองซากตะกรันอลูมิเนียมสูงพอๆ กับอาคารขนาด 3 – 4 ชั้น ที่กองอยู่ในอาคารด้านหน้า, ซากกองขยะไหม้ไฟที่มีทั้งเศษเข็มฉีดยา ถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์อีกมากมาย ซึ่งถูกเก็บไว้ในโกดังใกล้สวนยางพาราที่ยืนต้นตายของชาวบ้าน, บ่อน้ำสีดำสนิท เต็มไปด้วยคราบสารเคมีลอยบนพื้นผิว และซากต้นไม้ตายอยู่ในบ่อ และแน่นอน ควันสีขาวที่ลอยขึ้นมาจากซากอลูมิเนียมดอสทุกครั้งที่ฝนตก
ทั้งหมดนี้ ยังคงเหมือนเดิม ... เพียงเพราะต้องรอ “งบกลาง” จากรัฐบาล ซึ่งเป็นเพียงหนทางเดียว ณ ขณะนี้ที่จะถูกใช้เพื่อจัดการกับกองกากอุตสาหกรรมที่ถูกเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทยได้
“นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เคยลงมาในพื้นที่แล้วตั้งแต่วันที่ไฟยังไม่ดับสนิท รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมก็มาแล้ว ทุกหน่วยงานที่เราพอจะนึกออกก็ลงพื้นที่มาดูวิน โพรเสส กันทั้งหมดแล้ว ... มีคำสั่งจากผู้บริหารสูงสุดของประเทศให้ขนย้ายกากอุตสาหกรรมพวกนี้ออกไปกำจัด แต่ผ่านไป 3 เดือนแล้ว กลับยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย .. ผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ ยังคงเหมือนวันแรกตั้งแต่เริ่มเป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2563” สนิท ตั้งคำถาม
ในเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่วัดหนองพะวา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นเวทีชี้แจงความคืบหน้าถึงสิ่งที่ทำไปแล้ว และแนวทางที่จะทำต่อไปเกี่ยวกับการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิน โพรเสส ทำให้ชาวหนองพะวา ได้พบกับข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่ทำไปแล้ว มีเพียงไม่กี่อย่าง คือ การตรวจสุขภาพเบื้องต้นครั้งเดียว การแจกถุงยังชีพ การทำคันกั้นน้ำชั่วคราวไม่ให้น้ำในบ่อของเสียที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ่อดำ” ล้นออกมาในช่วงนี้ที่ฝนตกเกือบทุกวัน และการตรวจสอบที่ทำให้ได้รับคำยืนยันว่าพบการปนเปื้อนของสารเคมีนับ 10 ชนิดในน้ำใต้ดินบางจุดที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อมาจากวิน โพรเสส ...
ส่วนสิ่งที่ชาวหนองพะวา ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การเคลียร์พื้นที่ ส่งของเสียอันตรายออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง กลับยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นเลย
“มีรายงานในคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอของบประมาณ งบกลาง 397 ล้านบาทไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งเป็นงบที่จะต้องนำมาใช้ขนย้ายกากอุตสาหกรรมออกไปกำจัด ขั้นตอนต่อไปคือกระทรวงอุตสาหกรรมต้องนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ... แต่กลับยังไม่พบการบรรจุวาระพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเลย ... ไม่แน่ใจว่ามีปัญหาอะไร ทั้งที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการเอง” นี่เป็นคำถามที่ชาวหนองพะวาต่างพูดเหมือนกัน
ทุกคนต่างเข้าใจดีว่า ตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” หน่วยงานของรัฐก็จะต้องนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับให้ “บริษัท วิน โพรเสส จำกัด” โดยเจ้าของคือ “โอภาส บุญจันทร์” เป็นผู้จ่ายเงินในการนำกากของเสียอันตรายเหล่านี้ไปกำจัด ซึ่งชาวบ้านออกมาต่อสู้ให้มันเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่การประท้วงจนโรงงานประกาศปิดตัวลงไปเอง ,การฟ้องแพ่ง โดยชาวบ้าน 15 ราย ได้คำพิพากษาให้โรงงานต้องชดใช้เป็นเงินรวม 20.8 ล้านบาท ,การฟ้องคดีอาญาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,รวมไปถึงการรอคำพิพากษาที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากวิน โพรรเสส รวม 1,700 ล้านบาท ซึ่งจะมีคำตัดสินในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ... แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้ชวยให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย เพราะวิน โพรเสส อ้างว่า “ไม่มีเงิน” ... และเจ้าของโรงงาน ถูกจับกุม
“ไม่มีเงิน ก็ทำอะไรไม่ได้ ... ถ้ารัฐบาลไม่อนุมัติงบกลางมาช่วยขนกากของเสียอันตรายพวกนี้ไปกำจัดก่อน ...พวกเราชาวบ้าน ก็คงต้องรับเคราะห์จากกรรมที่พวกเราไม่ใช่ผู้ก่อขึ้นต่อไปครับ” ... สนิท มณีศรี น่าจะพูดประโยคนี้กับสื่อมวลชนหลายสำนักมาหลายร้อยครั้งแล้ว
“ชาวบ้านต้องรับกรรมที่ไม่ได้ก่อ ... ส่วนคนที่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นและได้ผลประโยชน์ไป ยังไม่ต้องรับกรรมอะไรเลย”