xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” คัมแบ๊ก “เซเลนสกี” จบเห่! พันธมิตรอเมริกาเตรียมโดนกรรโชกทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเมืองโลกส่อพลิกอีกรอบ หาก “ทรัมป์” กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สงครามเครนจะยุติ ชาติสมาชิกนาโต้ต้องพึ่งพาตัวเอง เพราะอเมริกาจะตัดเงินช่วยเหลือ เพื่อเอาไปแก้ปัญหาในประเทศตัวเอง ส่วนพันธมิตรอเมริกาในเอเชีย-แปซิฟิกจะถูกกรรโชกทรัพย์เรียกค่าคุ้มครอง ขณะเดียวกันสหรัฐฯ จะลุยเดี่ยวฟาดฟันกับจีนเต็มรูปแบบ แต่ก็คงไม่ง่าย เพราะจีนเคยมีประสบการณ์สู้กับทรัมป์มาแล้ว




ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ว่าถึงนาทีนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสสูงยิ่งที่จะชนะเลือกตั้ง หวนคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง และจะทำให้สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ในหลายพื้นที่ของโลกเปลี่ยนเกมไปอย่างสิ้นเชิง

ยุติสงครามยูเครน "เซเลนสกี" จบเห่

คนที่ “กินไม่ได้ นอนไม่หลับ” มากที่สุด เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะหวนคืนสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ก็คือ นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพราะว่า นายทรัมป์เคยประกาศไว้ว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่ให้เงินสนับสนุนยูเครนแม้แต่สตางค์แดงเดียว และจะทำให้สงครามยุติลงภายใน 24 ชั่วโมง !

นายเซเลนสกี จึงพยายามต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย ด้วยการขอให้นาโต้ เปิดทางให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลถล่มรัสเซีย


ในการประชุมผู้นำของประเทศสมาชิกนาโต้ ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม นายเซเลนสกีบอกว่า การอนุญาตให้กองทัพยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลเพื่อโจมตีเป้าหมายในรัสเซีย จะเป็น“ตัวเปลี่ยนเกม”

ตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม ชาติตะวันตกยุให้ยูเครนสู้กับรัสเซีย โดยส่งแค่อาวุธมาให้ยูเครน “ป้องกันตัวเอง” ห้ามโจมตีเข้าไปในพรมแดนโจมตีรัสเซีย เพราะนาโต้ไม่ต้องการเปิดศึกโดยตรงกับรัสเซีย ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีทหารชาติตะวันตกตายในสงครามครั้งนี้แม้แต่คนเดียว มีเพียงแค่ชาวยูเครนเป็นแสน ๆ คนที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความบ้องตื้นของนายเซเลนสกี ที่หลงคารมชาติตะวันตกว่าจะช่วยเหลือยูเครนให้รอดพ้นการคุกคามของรัสเซีย

ตอนนี้ยูเครนอยู่ในสภาพ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” เพราะสถานการณ์แตกต่างจากช่วงเริ่มต้นเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้วอย่างมาก

ยูเครนสิ้นความฮึกเหิม ประชาชนปฏิเสธการเรียกเกณฑ์ทหารเพิ่มเติม ปฏิบัติการตอบโต้กลับที่เคยคุยไว้ก็พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ตอนนี้ทำได้เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เสียดินแดนมากไปกว่านี้ และเรียกร้องให้ชาติตะวันตกส่งขีปนาวุธพิสัยไกล และระบบป้องกันภัยทางอากาศมาให้

ส่วนฝ่ายรัสเซียกลับรุกคืบพื้นที่ในยูเครนได้มากยิ่งขึ้น จนประธานาธิบดีปูตินมั่นใจในชัยชนะ ถึงขนาดที่ตั้งเงื่อนไขหยุดยิงว่า เงื่อนไขสำหรับการหยุดยิงคือ การถอนกองกำลังยูเครนออกจาก 4 ภูมิภาคของยูเครนที่รัสเซียผนวกไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว


เงื่อนไขเช่นนี้บ่งชี้ว่า ปูตินมั่นใจมากขึ้นว่ารัสเซียสามารถคว้าชัยชนะได้ด้วยการรุกคืบอย่างต่อเนื่อง และดำเนินสงครามได้ยาวนานกว่าการสนับสนุนยูเครนที่มาจากประเทศตะวันตก รวมถึงมีกำลังพล กำลังอาวุธในการยืนหยัดจนชนะสงครามกับกองทัพยูเครนในที่สุด

นายโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศว่า เขาจะยุติสงครามยูเครนให้ได้ก่อนที่จะสาบานตัวเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และเอาเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่เคยให้กับยูเครน กลับมาใช้ในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้มีสารพัดปัญหา และนายทรัมป์ต้องทำให้ได้ตามที่เคยประกาศไว้ว่าMake America Great Again!

และนี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นายทรัมป์ถูกลอบสังหาร เพราะถ้านายทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว ไม่ใช่เรื่องปัญหายูเครนทางตะวันตกจะเสียเปรียบ อุตสาหกรรมอาวุธ Military–Industrial Complex ที่ร่ำรวยมหาศาลจากสงครามในยูเครน และต้องการให้ต่ออายุสงครามในยูเครนต่อไปอีกนานๆ จะเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์ เพราะอาวุธไม่สามารถจะขายให้ยูเครนได้อีกต่อไปแล้ว รายได้เสียไปมาก


ทั้งนี้ หากจะยุติสงครามยูเครน นายทรัมป์จะต้องคุยกับประธานาธิบดีปูติน ซึ่งปูตินน่าจะตั้งเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ คือ
-พื้นที่ซึ่งรัสเซียยึดไว้ได้แล้ว จะไม่คืนให้กับยูเครน
-ให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย
-ห้ามนาโต้ขยายตัว เพิ่มจำนวนสมาชิกอย่าง “ยูเครน”

ถึงเวลานั้น ยูเครนจะตกอยู่ในสภาพที่ถูก “ลอยแพ” เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะยืนหยัดทำสงครามต่อไป โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติยุโรปในนาโต้ก็จะไม่กล้าให้ความคุ้มครองยูเครนต่อไปอีก เพราะถ้านายทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ นาโต้อาจจะต้องแตกสลาย


ส่วนนายเซเลนสกีคงจะต้องไปลี้ภัยในประเทศยุโรปที่ใดที่หนึ่ง และจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนที่ทำให้ยูเครนเกือบ สิ้นชาติ

“ทรัมป์” มา นาโต้แตก

นาโต้เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่อาจถึงคราวต้องปั่นป่วน จนอาจถึงขั้นแตกสลาย ถ้าหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ เพราะในสมัยที่นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีครั้งแรกนั้น เขาก็เคยพูดไว้แล้วว่า “เกือบทุกประเทศในโลกนี้เอาเปรียบสหรัฐอย่างมหาศาล”และยังเคยขู่ว่าจะถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกนาโต้ หากสมาชิกประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมให้ถึงเป้า 2% ของ GDP ตามที่ตกลงกันไว้

ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ นายทรัมป์ยังกล่าวในการหาเสียงเลือกตั้งว่า จะไม่ช่วยปกป้องประเทศที่ "ไม่จ่ายเงิน" และจะไม่สนใจว่าว่ารัสเซียทำอะไรกับประเทศสมาชิกนาโต้


นอกจากนาโต้จะสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญสถานการณ์ การ “ถูกทิ้ง” จากสหรัฐฯ แล้ว บรรดาชาติสมาชิกนาโต้ยังแตกร้าวอย่างหนักจากเรื่องของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ผู้นำหลายประเทศในนาโต้สร้างวาทกรรมที่ว่า“ถ้าไม่ช่วยยูเครน ยุโรปก็จะถูกรัสเซียรุกราน”

แต่ผู้นำชาติสมาชิกนาโต้ประเมินผิดพลาดว่า รัสเซียไม่กล้าทำสงครามเต็มรูปแบบกับยูเครน ทั้งยังพลาดอีกครั้ง ที่มาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ นั้น ไม่ได้ส่งผลต่อรัสเซียมากมายเท่าไหร่ แผนของนาโต้ ที่ต้องการใช้ยูเครนเพื่อบ่อนเซาะรัสเซียให้อ่อนแอลง และหวังจะให้รัสเซียแตกสลายเหมือนกับสหภาพโซเวียต จึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ล่าสุด การเลือกตั้งในหลายประเทศยุโรป แสดงให้เห็นว่า บรรดาชาติยุโรปไม่ได้เป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” ในการสนับสนุนยูเครน เพราะบรรดาผู้นำที่สนับสนุนยูเครนแพ้เลือกตั้งกันอย่างยับเยิน ไม่ว่าจะเป็น นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หรือ การเลือกรัฐสภายุโรป ฝ่ายขวาก็ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังมีการประท้วงในวงกว้างของประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาล ช่วยพลเมืองของตัวเอง ก่อนที่จะไปช่วยเหลือชาวยูเครน


ถ้านาโต้แตก ยุโรปจะต้องพึ่งพาตัวเองด้านความมั่นคง แต่ทุกวันนี้ หลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี, เบลเยี่ยม, อิตาลี, บัลกาเรีย, เอสโตเนีย, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, โปรตุเกส, โรมาเนีย ประเทศเหล่านี้พึ่งพาการคุ้มครองจากนาโต้ และฐานทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งในประเทศ ประเทศเหล่านี้จะต้องเลือกว่าจะยอมจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ให้กับสหรัฐฯ หรือว่าจะต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดผวาว่า รัสเซียจะ“เอาคืน”

พันธมิตรอเมริกาเตรียมถูกทรัมป์ “กรรโชกทรัพย์”

หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดี นอกจากชาตินาโต้แล้ว บรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิก อย่างเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือล่าสุด คือ ฟิลิปปินส์ก็จะถูกนายโดนัลด์ ทรัมป์“กรรโชกทรัพย์”เรียกค่าคุ้มครองเพิ่มเติม อย่างแน่นอน

หนักที่สุด คือ ญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีกองทัพเป็นของตัวเอง มีแค่ “กองกำลังป้องกันตนเอง” และต้องพึ่งพาการคุ้มครองจากสหรัฐฯ


ทั่วประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน มีฐานทัพสหรัฐฯ อยู่16 แห่ง มีทหารสหรัฐประจำการราว 55,000 นาย ฐานทัพเหล่านี้นอกจากใช้น้ำ-ไฟฟ้าฟรีแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังต้องจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนค่าใช้จ่ายให้ด้วย เรียกว่า “โอโม อิยาริ โยะซัน” ความหมายตรงตามตัวอักษรก็คือ “สินน้ำใจ” หรือ “เงินกำนัล”

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว บรรดาประเทศต่าง ๆ ที่มีฐานทัพสหรัฐฯ ต้องจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ให้กับสหรัฐฯ ก็มีอีกเพียบเช่นซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ ลักเซมเบิร์ก คูเวต อิตาลี เกาหลีใต้และเยอรมนี ก็ต้องจ่ายเช่นกัน แต่ว่า ญี่ปุ่นรับภาระหนักที่สุด คือ มากกว่า 75% ของค่าใช้จ่ายของฐานทัพสหรัฐฯ


ทั้งนี้ ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เคยเรียกร้องให้ญี่ปุ่น จ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าตัว จากปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 8,000 ล้านดอลลาร์

นายทรัมป์ยังเคยฉีกหน้านายชินโซ อาเบะ อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางมาประชุม G20 ที่ญี่ปุ่นในปี 2562 ว่า “ถ้าหากญี่ปุ่นถูกโจมตี เราจะก่อสงครามโลกครั้งที่ 3 เราจะเข้าไปและปกป้องญี่ปุ่นด้วยชีวิตของพวกเรา แต่ถ้าสหรัฐฯ ถูกโจมตี ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องช่วยเราแม้แต่น้อย พวกเขาสามารถจะชมการโจมตีผ่านโทรทัศน์ของโซนี่”เป็นการแดกดันว่าถ้าสหรัฐฯ โดนโจมตี ญี่ปุ่นก็นั่งดูข่าวเฉยๆ แต่ถ้าญี่ปุ่นโดนโจมตี สหรัฐฯ ต้องเข้าไปช่วยญี่ปุ่นเต็มที่

ประเทศเกาหลีใต้ ก็เช่นเดียวกัน ทรัมป์เคยประกาศว่าเกาหลีรวยแล้ว ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าประจำการทหารสหรัฐฯ


นายทรัมป์บอกว่า ในเกาหลีใต้มีทหารสหรัฐราว 32,000 นายประจำการอยู่ และสหรัฐฯ ได้สนับสนุนเกาหลีใต้มากว่า 80 ปี แต่ได้รับการตอบแทนน้อยมาก

เวลานั้นรัฐบาลญี่ปุ่น กับ เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการคุ้มครองจากสหรัฐฯ ต้องล็อบบี้กันหัวปั่น แต่เคราะห์ดีที่ในการเลือกตั้ง 2020 ทรัมป์พ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน ทว่าหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้หวนคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง บรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ จะต้องถูก “รีดไถ”มากขึ้นอย่างแน่นอน

ยุติทุกแนวรบ มุ่งเป้าไปที่ “จีน”

นายโดนัลด์ ทรัมป์ คือ คนที่เปิดสงครามการค้า-สงครามเทคโนโลยีกับจีน โดยตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน, สั่งแบนอุปกรณ์เครือข่าย 5G ของหัวเว่ย และแอปพลิเคชั่นของจีนอย่าง ติ๊กต๊อก วีแชท และอาลีบาบา โดยยุคของนายโจ ไบเดน สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เปลี่ยนนโยบายแต่อย่างใด


และถ้านายทรัมป์ได้กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้ง เขาได้ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 60% และขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เป็น 10%

สหรัฐฯ ระบุชัดเจนเลยว่าจีนเป็น “ภัยคุกคามอันดับ 1”และไม่ว่าจะอยู่ภายใต้พรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับบลิกัน นโยบายต่อต้าน-ปิดล้อม-กีดกันจีนก็จะไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าในยุคของพรรคเดโมแครตนั้น มีนโยบายที่จะรวมกลุ่มกับชาติพันธมิตรเพื่อปิดล้อมจีน แต่ว่าในยุคของนายทรัมป์ สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะสู้กับจีนแบบตัวต่อตัวมากกว่า เพราะนายทรัมป์ เป็นเจ้าของนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งก็คือการถือประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นใหญ่ ปฏิเสธพันธมิตร ปฏิเสธการรวมกลุ่มต่าง ๆ

ในช่วงเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก นายทรัมป์ถอนตัวจากความร่วมมือระหวางประเทศมากมาย เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP , ข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน, ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดยังประกาศถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกด้วย

แต่การที่สหรัฐถอยห่างจากความร่วมมือระหว่างประเทศ กลับเปิดทางให้จีนมีบทบาทมากขึ้นผู้แทนของจีนได้ตำแหน่งผู้นำขององค์กรในสหประชาชาติเกือบทั้งหมด ในเวทีสากล จีนก็ได้ภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ที่เคารพกฎเกณฑ์ ส่วนสหรัฐฯ คือจิ๊กโก๋ ที่พอสู้ไม่ได้ก็ระรานแบบขี้แพ้ชวนตี


ตั้งแต่ยุคของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก นโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ถูกกำหนดโดย“สายเหยี่ยว”อย่าง นายจอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และ นายไมค์ ปอมเปโอ อดีตผู้อำนวยการซีไอเอ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ในสมัยทรัมป์เป็นผู้นำ โดยปอมเปโอนั้นเคยประกาศว่า “ไต้หวันเป็นประเทศ” และเรียกขาน นายสี จิ้นผิงว่าเป็น “เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน” แทนที่จะเป็น “ประธานาธิบดี”

ต่อมาในยุคของนายโจ ไบเดน สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เปลี่ยนนโยบายสกัดกั้นจีน เพียงแต่เปลี่ยน “วิธีการ” มาใช้การรวมกลุ่มปิดล้อมจีนแทน

ยิ่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้ที่ไร้น้ำยา หนุนหลังยูเครนให้ชนะสงครามไม่ได้ ก็หันไปกล่าวโทษจีนว่าเป็น “แนวร่วมคนสำคัญ” ของรัสเซีย ทั้ง ๆ ที่จีนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง และไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงเลย

ถ้าหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง แน่นอนที่สุดว่า จะต้องมีนโยบายที่กดดันจีน และอาจจะหนักข้อ-ไร้หลักการ มากกว่ายุคของนายโจ ไบเดนแต่ว่าการกดดันจีนรอบใหม่ของนายทรัมป์ จะไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะเหตุผลหลายอย่าง เช่น

-ปัญหาภายใน-ภายนอกของสหรัฐฯ หนักหนาสาหัสมาก จนในยุคของนายไบเดน ต้องให้ประเทศพันธมิตร มาร่วมกัน “แบกภาระ”

- สงครามยูเครน ให้นาโต้ออกหน้า, ให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนกระสุนปืนใหญ่ให้ยูเครน

-ยุยงให้ ไต้หวัน ร่วมปิดล้อมจีน โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ ไต้หวันเป็น “ยูเครน 2”

-ในอินโดแปซิฟิก เสี้ยมให้ ฟิลิปปินส์ รับหน้าเสื่อยั่วยุ จีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้

- ในด้านเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อกดเงินเฟ้อ โดยไม่สนใจว่า ประเทศอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

มีคำถามว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะ “ลุยเดี่ยว” ให้สหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ จะมีกำลังเพียงพอที่จะรับมือกับสารพัดปัญหาที่ว่านี้ได้หรือ ?

นอกจากนี้ ฝ่ายจีน ก็มีพัฒนาการไปมาก เมื่อเทียบกับสมัยแรกที่ทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ คือ

- จีนเคยมีประสบการณ์กับนายทรัมป์มาแล้ว 4 ปี จนเริ่ม “จับไต๋” ได้


- จีนได้พัฒนา “กำลังการผลิตคุณภาพใหม่” โดยบูรณาการนวัตกรรมข้ามอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ เอไอพลัส เครือข่ายการสื่อสาร 6G บิ๊กดาต้า บล็อกเชน และ ควอนตัม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมชั้นสูงรูปแบบใหม่ ที่แซงหน้าสหรัฐฯ และชาติตะวันตกในหลายอุตสาหกรรม

-อุตสาหกรรมใหม่ของจีนหลายอย่าง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม และ แผงโซลาร์เซลล์ ล้วนครองสัดส่วนทั่วโลกอย่างสูงมาก จนไม่มีประเทศไหนปฏิเสธสินค้าจีนได้ และหากใช้การตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าจากจีน คนที่จะรับเคราะห์ก็คือ ผู้บริโภคในประเทศนั้นเอง


ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้ง แต่การจะทำให้“อเมริกาต้องยิ่งใหญ่อีกครั้ง”นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ หรือ ภูมิรัฐศาสตร์ เพราะ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่เรียกว่า Global South รวมถึงกลุ่ม BRICS ที่ต้องการให้ขั้วอำนาจโลกมีความสมดุลและหลากหลาย มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

กลุ่มเหล่านี้มี “เสียงดัง” มากขึ้นในเวทีโลก และกล้าที่จะแสดงบทบาทว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เป็น “เจ้าโลก” อีกต่อไป และชาติตะวันตกก็ไม่ใช่ คนกำหนดเกม ในเรื่องต่าง ๆ แต่เพียงฝ่ายเดียวอีกแล้ว!


กำลังโหลดความคิดเห็น