ราคาน้ำมันแพงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ แต่ ประเทศไทยยังเหนียมอาย ที่จะซื้อน้ำมันอิหร่านและรัสเซียที่โดนชาติตะวันตกคว่ำบาตร ทั้งๆ ที่บรรดาชาติตะวันตกเหล่านั้น ต่างก็ซื้อน้ำมันของอิหร่าน-รัสเซียแบบอ้อมๆ
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มจะขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์สงครามในรัสเซีย และสงครามอิสราเอลกับปาเลสไตน์ จะไม่จบลงง่าย ๆ ถึงแม้ว่า สงครามจะสู้รบกันไป แต่ประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มหาทางหนีทีไล่เรื่องของพลังงานกันตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสงครามแล้ว และก็มีหลายประเทศที่ได้ประโยชน์ จนอาจจะไม่อยากจะให้สงครามจบลงอย่างง่าย ๆ
ข้อมูลอันดับประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบมากที่สุดในโลกปัจจุบัน ได้แก่ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย อิรัก สหรัฐอเมริกา แต่ว่า ถ้าหากดูประเทศที่ “ได้ดุลการค้าน้ำมัน” หรือ Export Surplus คือ เอามูลค่าน้ำมันที่ส่งออก กับมูลค่าน้ำมันที่นำเข้ามาลบกัน ประเทศที่ได้กำไรจากการค้าน้ำมันมากที่สุด คือ รัสเซีย
รัสเซียมีน้ำมันสำรองจำนวนมหาศาลกว่า 108,000 ล้านบาร์เรล คิดเป็นสัดส่วน 6%ของโลก ส่วนอิหร่านมีน้ำมันสำรองมากกว่า 158,000 ล้านบาร์เรล คิดเป็นสัดส่วน 9% ของโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก จะใช้ น้ำมัน เป็นเป้าหมายสำคัญในการคว่ำบาตรรัสเซียกับอิหร่าน เพื่อหวังจะตัดเส้นเลือดทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้
สหรัฐฯ และชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซีย เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน และคว่ำบาตรอิหร่านที่พัฒนาโครงการนิวเคลียร์ แต่ว่า มาตรการคว่ำบาตร ที่ว่านี้ ไม่ได้ห้ามรัสเซียกับอิหร่านส่งออกน้ำมันอย่างเด็ดขาด เพียงแต่ว่าจำกัดปริมาณการส่งออก และราคาที่ขาย โดยขอให้ประเทศพันธมิตรซื้อน้ำมันจากรัสเซียกับอิหร่านในปริมาณที่น้อยที่สุด และให้ซื้อในราคาไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับ การ “กรรโชกทรัพย์” ในนามของการ “คว่ำบาตร” นั่นเอง
ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการคว่ำบาตร แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น อินเดีย ชาติยุโรป รวมถึง สหรัฐฯ เองก็ซื้อน้ำมันจากรัสเซียและอิหร่านทั้งนั้น เพียงแต่ว่าทำกันอย่าง “อ้อม ๆ” เช่น
-ใช้กองเรือบรรทุกน้ำมันไม่ปรากฏสัญชาติ เรียกว่า “เรือผี” หรือ “ghost fleet / dark fleet" ขนน้ำมันไปยังประเทศเป้าหมาย โดยคาดว่าจะมี เรือผี ขนน้ำมันแบบนี้มากกว่า 2,000 ลำ
-ใช้เรือถ่ายน้ำมันกันกลางทะเล โดยเรือที่เกี่ยวข้องมีทั้งเรือของอินเดีย สหรัฐ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และยุโรปหลายประเทศ
-ขายผ่านคนกลาง โดยปกปิดแหล่งกำเนิด (เดิม สิงคโปร์ เป็นนายหน้าคนสำคัญ แต่ตั้งแต่มีสงครามยูเครน อินเดีย โกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยซื้อน้ำมันจากรัสเซียมาขายต่อ โดยแทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย เพียงแค่เปลี่ยนฉลากว่าเป็นน้ำมัน “produced in INDIA” แค่นั้น)
สหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย-อิหร่าน ก็รู้ดีว่ามีการซื้อขายน้ำมันแบบ “อ้อม ๆ” อย่างนี้อยู่ แต่ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะว่าตัวเองก็เป็น ลูกค้ารายหนึ่ง และก็รู้ดีว่า น้ำมันเหล่านี้ช่วยบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพงในบ้านของตัวเองด้วย
ในระหว่างสงครามยูเครน สหรัฐฯ ไม่เพียงแค่ยังคงซื้อน้ำมันจากรัสเซีย (อย่างอ้อมๆ) แต่ว่า สหรัฐฯ ก็ยังไม่ต้องการให้น้ำมันขึ้นราคา โดยเฉพาะช่วงก่อนการเลือกตั้ง ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐ ถึงกับขอให้ทางยูเครน อย่าโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซีย เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันในสหรัฐฯ
นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เตือนว่า การที่ยูเครนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซีย จะสร้างความเสี่ยงต่อตลาดพลังงานทั่วโลก และยังบอกว่า ยูเครนน่าจะพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการสู้รบในปัจจุบันมากกว่า
ส่วนนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ตอบคำถามอย่างเลี่ยงๆ ในกรณีที่ยูเครนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียว่า “สหรัฐฯ ไม่สนับสนุน หรือ อนุญาตให้ยูเครนทำการโจมตีออกนอกพรมแดนของตัวเอง”
สองรัฐมนตรีสหรัฐฯ ต้องออกมาสั่งเบรกยูเครน หลังจากยูเครนใช้โดรนบินไปโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียหลายแห่ง ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างน้อย 4% ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จนประธานาธิบดีโจ ไบเดน กลัวว่าตัวเองจะเสียคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง ถ้าราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ยังแพงไม่หยุด
สหรัฐฯ และชาติตะวันตก ใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อหนุนหลังยูเครน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง รวมทั้งต้องการให้เศรษฐกิจของตัวเองทำ soft-landing คือ ไม่เกิดหายนะจากวิกฤตราคาพลังงาน
จีนรับซื้อไม่อั้นน้ำมันอิหร่าน
ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ และชาติตะวันตกจะใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย-อิหร่าน แต่ว่าจีนไม่ได้สนใจแต่อย่างใด จีนรับซื้อน้ำมันจากอิหร่านอย่างไม่อั้น โดยน้ำมันจากอิหร่านราว 90% ขายให้กับจีน
อิหร่านให้ส่วนลดราคาน้ำมันกับจีนสูงถึง 15% หรือ คิดง่ายๆ ที่น้ำมันดิบตอนนี้ราคาเฉลี่ย 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ว่าจีนซื้อจากอิหร่านในราคาแค่ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น
ส่วนฝ่ายอิหร่าน ถึงแม้จะให้ราคาพิเศษกับจีน ลด 15% แต่ว่าก็ยังทำกำไรได้อย่างมหาศาล เพราะประเมินกันว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันของอิหร่านอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น !!
อิหร่านขายน้ำมันให้ลูกค้ารายใหญ่อย่างจีน เป็นเงินกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยในปีนี้ อิหร่านทำสถิติส่งออกน้ำมันสูงที่สุดในรอบ 6 ปี เกือบทั้งหมดส่งออกไปประเทศจีน
นอกจากจีนจะซื้อน้ำมันจากอิหร่านแล้ว จีนก็ซื้อน้ำมันจากรัสเซียด้วย
น้ำมันของรัสเซียขายให้จีนราว 48% ตามมาด้วยอินเดีย 35 % ส่วนสหภาพยุโรปที่หนุนยูเครนสู้รบกับรัสเซีย ก็ยังซื้อน้ำมันจากรัสเซียราว 7% ของปริมาณที่รัสเซียส่งออก
อินเดียรับทรัพย์ ซื้อน้ำมันรัสเซียเพิ่ม 13 เท่าตัว
อินเดีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากมาตรการคว่ำบาตร “ปลอมๆ” ของชาติตะวันตก โดยหลังเกิดสงครามในยูเครนเมื่อ 3 ปีก่อน อินเดียรับบทเป็น “ยี่ปั๊ว” ขายน้ำมันของรัสเซียให้กับบรรดาชาติตะวันตก ที่ไม่กล้าออกหน้าซื้อน้ำมันจากรัสเซียโดยตรง
3 ปีที่ผ่านมาของสงครามรัสเซียกับยูเครน อินเดียซื้อน้ำมันรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่าตัว
เฉพาะปีที่แล้ว อินเดียซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเป็นมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 37,000 ล้านดอลลาร์หรือราวๆ 1.36 ล้านล้านบาทอินเดียนำน้ำมันดิบรัสเซียมากลั่นและขายต่อ โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุดก็คือ สหรัฐอเมริกา ที่ซื้อน้ำมันรัสเซีย ที่“กลั่นในอินเดีย” เป็นมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
และถ้ารวมบรรดาชาติพันธมิตรที่ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซียเข้าไปด้วย ประเทศเหล่านี้ซื้อน้ำมันรัสเซียจากอินเดีย เป็นมูลค่าสูงกว่า 9,100 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
วิธีการที่รัสเซียขายน้ำมันให้กับอินเดีย มีทั้งขนจากรัสเซียไปอินเดียโดยตรง โดย ”กองเรือผี” หรือ “ghost fleet ที่เป็นกองเรือบรรทุกน้ำมันไม่ปรากฏสัญชาติ
นอกจากนี้ ก็มีการขนถ่ายน้ำมันแบบเรือต่อเรือกันกลางทะเล โดยทุก ๆ สัปดาห์จะมีเรือบรรทุกน้ำมันจากรัสเซียแล่นมาที่อ่าวลาโคเนียน ในประเทศกรีซ จากนั้นก็จะมีเรืออีกลำหนึ่งแล่นเข้าไปประกบ และถ่ายน้ำมันระหว่างเรือ หลังจากนั้นเรือที่บรรทุกน้ำมันที่ถ่ายแล้วก็จะแล่นผ่านคลองสุเอช มุ่งหน้าไปยังอินเดียต่อไป มีข้อมูลระบุว่า ในปีที่แล้ว มีเรือขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลแบบนี้มากกว่า 200 เที่ยว
อินเดียไม่เพียงแค่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย มาขายต่ออย่างไม่ต้องเคอะเขิน เพราะว่าอินเดียไม่ได้ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย หนำซ้ำอินเดียยัง “เคลมผลงาน” ด้วยว่า มีคุณูปการต่อโลก ที่ช่วยพยุงราคาน้ำมันไม่ให้แพง
นายฮาร์ดีพ ซิงค์ ปูรี Hardeep Singh Puri รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของอินเดีย บอกว่า “อินเดียซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ทำให้ไม่ต้องไม่แย่งซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลางกับบรรดาชาติตะวันตก โดยถ้าอินเดียซื้อน้ำมันจากชาติตะวันออกลางด้วยแล้ว ราคาน้ำมันจะพุ่งไปเป็น 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่ใช่ 75 ดอลลาร์เหมือนตอนนี้”
ไทยยังมะงุมมะงาหรา นำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางกว่าครึ่ง
ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจาก 3 แหล่งผลิตหลัก คือ ตะวันออกกลาง (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย การ์ตา คูเวต และอื่นๆ ) ประมาณ 50% ตะวันออกไกล (อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และอื่นๆ) ประมาณ 16% แหล่งอื่นๆ (สหรัฐอเมริกา แองโกลา รัสเซีย) ประมาณ 34%
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ไทยนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแค่ราว 5% ส่วนอิหร่านแทบจะไม่มีการนำเข้า
ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันแพงขนาดนี้ ประชาชนและภาคธุรกิจเดือดร้อน ประเทศไทยสมควรจะพิจารณา ซื้อน้ำมันจากรัสเซียและอิหร่านให้มากขึ้น และที่สำคัญคือ เราไม่ต้องไป กระมิดกระเมี้ยน หรือ ซื้ออ้อมๆ ผ่านยี่ปั๊วอื่นๆ เพราะว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องร่วมคว่ำบาตรอิหร่านและรัสเซีย เพราะเราไม่ได้อะไรจากการคว่ำบาตร ไปคว่ำบาตรเขาก็เท่ากับเราเดินตามก้นชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา
“นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นได้ว่าทั้งอิหร่าน และรัสเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เขายินดีขายน้ำมันในราคาพิเศษให้ไทย เหมือนกับให้จีนและอินเดีย
“นักการเมืองหลายคนเคยพูดไว้ไม่ใช่หรือว่า ประเทศไทยจะต้องยืนตัวตรงบนเวทีโลก มีจุดยืนที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยมากที่สุด ไม่ต้องไปแอบอิงมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อสงครามกับพลังงานก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของบรรดาชาติตะวันตกที่เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ปากพร่ำบอกว่าจะพิทักษ์ความเป็นธรรม แต่ก็อยากได้ประโยชน์จากคนที่ตัวเองประณามว่าเป็นภัยคุกคามต่อโลก
“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยต้องทบทวนจุดยืนในทางสากลของตัวเองเสียใหม่ โดยเอาผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เที่ยวทำตัวเป็นพรมเช็ดเท้าให้กับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออียู” นายสนธิกล่าว