xs
xsm
sm
md
lg

SCC จับตาราคาพลังงานหวั่นฉุดรายได้พลาดเป้า แค่ต้นปี 67 ถูกปรับละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน-เลื่อนโครงการ LSP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การหั่นตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอยู่ที่ 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) จากประมาณการเมื่อเดือนมกราคมตั้งไว้ที่ 2.8% รั้งท้ายประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จากการส่งออกสินค้าและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาสที่ 1/2567 ขณะที่ภาคการเกษตรเองก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรอวันปะทุ ก็จะส่งผลต่อต้นทุนราคาพลังงานดีดตัวขึ้น

ปัญหาพลังงานที่ผันผวนในช่วงหลายปีนี้ ทำให้ภาคธุรกิจต่างพากันหาวิธีรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) หรือหากมีพื้นที่บ่อน้ำก็หันมาติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงแถมยังเป็นการใช้พลังงานสะอาดลดการปล่อยคาร์บอนช่วยให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แม้กระทั่งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเองก็มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันเพิ่มมากขึ้นหลังจากต้นทุนการติดตั้งลดลง ทำให้ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ย้ายจากช่วงเวลากลางวันเป็นช่วงกลางคืนต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยวางแผนปรับตัวรับมือเรื่องวิกฤตความผันผวนจากปัจจัยภายในและภายนอกมาตลอด มีการใช้พลังงานทางเลือก (ชีวมวล) มาทดแทนการใช้ถ่านหินในโรงปูนซีเมนต์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นเกือบ 50% รวมทั้งมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำเพื่อใช้เองในช่วงแรก แต่ปัจจุบันได้ตั้งบริษัท SCG Cleanergy ลุยธุรกิจด้านพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก โดยเป็นผู้ผลิตและจัดหาไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้บริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินและลอยน้ำมากกว่า 100 เมกะวัตต์และพลังงานลมในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า พร้อม ecosystem ล่าสุดได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้กับภาครัฐ รวม 5 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟรวม 367 เมกะวัตต์ ทำให้ช่วงที่ราคาพลังงานพุ่งสูง กลุ่ม SCC ได้รับผลกระทบน้อยกว่าคู่แข่ง

นอกจากนี้ SCC กำหนดธุรกิจเร่งวางเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อฉีกหนีการผลิตสินค้าทั่วไปเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างอัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าเน้นความเป็น green ทำให้แต่ละปี SCC ใช้งบในการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) สูง รวมทั้งปูฐานการผลิตธุรกิจหลักในประเทศแถบอาเซียนด้วย รวมไปถึงประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำหรือมีเทคโนโลยี

ประเดิมต้นปี ถูกปรับละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน

อย่างไรก็ดี คนทำมิสู้ฟ้าลิขิต แม้ว่า SCC จะมีการวางแผนบริหารจัดการมาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังโดนหางเลขจากกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน สืบเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไล่เช็กบิลบรรดาบริษัทที่ละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาเนิ่นนานหลายปีแล้วก็ตาม สุดท้าย SCC ก็ต้องยอมจ่ายค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเป็นเงินก้อนโต 20 ล้านเหรียญสหรัฐไปเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อยุติการพิจารณาข้อหาดังกล่าวที่ส่อจะลากยาว


สืบเนื่องมาจากบริษัทเอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCC เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ขายเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ที่ผลิตจากบริษัทที่ SCC ร่วมทุนในอิหร่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยการค้าขายมีการใช้หลายสกุลเงินตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ และช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เอสซีจี พลาสติกส์ได้หยุดการขาย PE ที่ผลิตในอิหร่าน ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาได้ประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน ก่อนจะกลับมาขายอีกครั้งในปี พ.ศ. 2557 เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศผ่อนผันการคว่ำบาตรดังกล่าว

จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เอสซีจี พลาสติกส์ตัดสินใจยุติการขาย PE จากบริษัทร่วมทุนอย่างถาวร ต่อมาสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (OFAC) เข้าตรวจสอบการขาย PE ของเอสซีจี พลาสติกส์ที่ค้าขายในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2561 ชี้ชัดว่าเอสซีจี พลาสติกส์ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แม้การขายสินค้าดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลสัญชาติอเมริกัน แต่มีการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการขายสินค้าที่ผลิตจากอิหร่านในช่วงนั้นทำให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นบุคคลอเมริกันมีส่วนร่วมในการชำระเงินด้วย

อย่างไรก็ดี นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) ออกมายืนยันว่าการจ่ายค่าละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านครั้งนี้จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานบริษัทในปี 2567 เนื่องจากบริษัทมีการตั้งสำรองล่วงหน้าในงบการเงินปี 2566 แล้ว

อีกทั้งในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการขายเติบโตสูงขึ้นถึง 20% จากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายรวม 499,646 ล้านบาท แม้ว่าโครงการปิโตรเคมีครบวงจรลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals: LSP) ที่ประเทศเวียดนามประกาศเลื่อนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จากต้นปีนี้เป็นไตรมาส 3/2567 ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในช่วงการตรวจสอบเครื่องจักรอย่างถี่ถ้วนเพื่อเตรียมพร้อมกลับมาเดินเครื่องทดสอบทั้งโรงงานในไตรมาส 3 นี้ รวมทั้งบริษัทได้ส่งพนักงานคนไทยไปร่วมสอนงานให้กับพนักงานเวียดนามด้วย เพื่อให้โครงการ LSP เดินหน้าผลิตได้อย่างราบรื่น


โครงการ LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของเวียดนามที่ SCC ใช้เวลานานนับ 10 ปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างดังเช่นทุกวันนี้ โครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.35 ล้านตันต่อปี และกำลังผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายอย่างโพลีเอทิลีน และโพลีโพรพิลีน 1.4 ล้านตันต่อปี มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกสูง ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ปัจจุบัน SCC มีฐานธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในอาเซียนทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

นายธรรมศักดิ์กล่าวมั่นใจว่าการเลื่อนโครงการ LSP ครั้งนี้จะไม่กระทบต่อเป้าหมายการเติบโตของยอดขายที่บริษัทตั้งไว้ 20% แม้ว่ากำลังการผลิตหายไป 3-4 เดือน แต่บริษัทคำนึงเรื่องอัตราการทำกำไรมากกว่าปริมาณการผลิต โดยมองว่าช่วงไตรมาส 3 นี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อโครงการ LSP เดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์แล้วย่อมทำกำไรได้ดี ประกอบกับทุกกลุ่มธุรกิจในเครือก็มีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ขณะที่ภาพรวมตลาดปิโตรเคมีมีสัญญาณเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 เป็นไปตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวมทั้งจีน กอปรกับกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยลง และโรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) กลับมาเดินเครื่องอีกครั้งหลังปิดซ่อมบำรุง ทำให้บริษัทมีปริมาณการขายดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2567

จากภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมีที่อยู่ในช่วงวัฏจักรขาลงมาตลอดหลายปี แม้ว่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังมีปัจจัยความท้าทายอยู่จากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เป็นตัวแปรกระทบต้นทุนพลังงานและราคาวัตถุดิบ ดังนั้น จึงไม่ใช่จังหวะที่ดีในการนำ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงนี้ SCC ตัดสินใจเลื่อนเวลาออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากเดิมที่ได้ยื่นไฟลิ่งและจะเข้าตลาดในปี 2566

ธุรกิจปูนซีเมนต์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในครึ่งหลังปีนี้ หลังจากมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเร่งเดินหน้าโครงการภาครัฐ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ส่อแววฟื้น หนุนความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน

ส่วนธุรกิจแพกเกจจิ้ง ก็มีสัญญาณการเติบโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง มีผลทำให้ค่าระวางเรือและค่าพลังงานปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนวัตถุดิบอย่างเศษกระดาษก็ปรับราคาสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP สามารถปรับราคาขายสินค้าได้ กอปรกับบริษัทมั่นใจว่าจะปิดดีลการควบรวมและร่วมมือกับพันธมิตร (Merger & Partnership:M&P) ให้ได้อย่างน้อย 1 โครงการในครึ่งปีแรก ทำให้ปีนี้ SCGP มีโอกาสบรรลุเป้าหมายรายได้รวมเติบโตขึ้น 15% อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท


ปีนี้อัดงบ 4 หมื่นล้านบาท

นายธรรมศักดิ์กล่าวว่า ในปี 2567 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 40,000 ล้านบาท เน้นใช้เพิ่มประสิทธิภาพโครงการต่างๆ ของบริษัท โดยในไตรมาส 1/2567 มีการใช้งบลงทุนไปแล้วประมาณ 9,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด

ด้านผลประกอบการ SCC ในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้รวมที่ 1.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 2,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,559 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาส 1/2566 มีรายการพิเศษจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics มูลค่า 11,956 ล้านบาท อีกทั้งไตรมาส 1/2567 ผลประกอบการของธุรกิจเคมิคอลส์ลดลงด้วย

กล่าวได้ว่า ไตรมาส 1/2567 ผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น แม้ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงอ่อนตัว แต่สามารถบริหารต้นทุนได้ดี ทำให้ไตรมาสนี้พลิกกลับมามีกำไรสุทธิเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเคมิคอลส์ประเมินว่าอาจเห็นการฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังมีปัจจัยความท้าทายอยู่ และสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงต่ำกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลก็ตาม โดยมองว่าปัจจัยเสี่ยงความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จะมีความรุนแรงมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อซัปพลายเชน จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น