เชื่อว่าเกือบ 60% ของบรรดาธนาคารกลางชาติร่ำรวยจะเพิ่มสัดส่วนในการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 38% ของปีที่แล้ว ตามผลสำรวจรายปีที่จัดทำโดยสภาทองคำโลก และเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ผลสำรวจพบว่าในบรรดาชาติพัฒนาแล้วมีราว 13% ที่มีแผนเพิ่มการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 8% ในปีที่แล้ว และถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจมา ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของบรรดาธนาคารกลางชาติพัฒนาแล้วมีขึ้นตามหลังความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันของบรรดาธนาคารกลางชาติตลาดเกิดใหม่ ซึ่งกลายเป็นผู้ซื้อทองคำของโลกมาตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2008
ขณะเดียวกัน ก็มีสัดส่วนบรรดาเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเพิ่มมากขึ้น จากระดับ 46% ของปีที่แล้ว เป็น 56% ในปีนี้ ที่คิดว่าสัดส่วนการถือครองดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกจะลดลงในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ในบรรดาธนาคารกลางชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีสัดส่วนมุมมองแบบเดียวกันนี้มากถึง 64% เลยทีเดียว
อุปสงค์ที่แข็งแกร่งของทองคำ ซึ่งมีขึ้นแม้ราคาโลหะมีค่าชนิดนี้พุ่งขึ้นอย่างแรงในปีนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่าสัดส่วนการถือครองดอลลาร์สหรัฐกำลังลดลง ในขณะที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ กำลังหาทางกระจายการถือครองผ่านสกุลเงินและทรัพย์สินทางเลือกอื่นๆ แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสหรัฐฯ ใช้สกุลเงินของตนเองเป็นอาวุธในการคว่ำบาตรรัสเซีย
"ในปีนี้ เราพบเห็นการบรรจบกันอย่างน่าทึ่ง บรรดาชาติพัฒนาแล้วทั้งหลายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะถือครองทองคำเพิ่มมากขึ้นในทุนสำรองระหว่างประเทศ และจะถือดอลลาร์น้อยลง" เซาไก ฟาน หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลกของสภาทองคำโลกกล่าว "มันไม่ใช่ว่าบรรดาชาติตลาดเกิดใหม่ประเมินปัจจัยต่างๆ เหล่านี้น้อยกว่า แต่ตลาดพัฒนาแล้วกำลังไล่ตามความรู้สึกของตลาดเกิดใหม่เกี่ยวกับทองคำเช่นกัน"
ผลสำรวจพบว่า มีธนาคารกลางประเทศต่างๆ สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจเมื่อ 5 ปีก่อน ที่มีความตั้งใจเพิ่มทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของพวกเขาในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 29% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ขณะที่หากนับเฉพาะผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นตลาดเกิดใหม่ มีเกือบ 40% ที่บอกว่ามีแผนเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำ
เหตุผลหลักที่ธนาคารกลางต่างๆ อ้างเหตุผลของการถือครองทองคำ นั่นก็คือมูลค่าในระยะยาวของโลหะมีค่าชนิดนี้ เช่นเดียวกับศักยภาพของมันระหว่างวิกฤตหนึ่ง และบทบาทของทองคำในฐานะตัวกระจายความเสี่ยงที่ทรงประสิทธิภาพ
จากข้อมูลของสภาทองคำโลกพบว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพิ่มเติมทองคำเข้าไปในทุนสำรองมากกว่า 1,000 ตัน ทั้งในปี 2022 และ 2023 โดยมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่กำหนดเล่นงานทรัพย์สินที่เป็นดอลลาร์ของรัสเซีย กระตุ้นให้สถาบันการเงินอย่างเป็นทางการทั้งหลายที่ไม่ใช่ของตะวันตก หันถือครองทองคำ เนื่องจากมูลค่าของมันไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรัฐบาลหรือธนาคารไหนๆ ต่างจากสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลแต่ละประเทศ
การเข้าซื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องมาหลายปี และยังคงร้อนแรงต่อเนื่องในปีนี้ เป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการพุ่งทะยานของราคาทองคำ ที่แตะระดับเกือบ 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อเดือนที่แล้ว ในขณะที่ราคาทองคำโลกดีดตัวขึ้นมาเกือบ 42% นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม
ขณะเดียวกัน สัดส่วนการถือครองดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศของโลก ไม่นับรวมทองคำ ดิ่งลงจากระดับมากกว่า 70% ในปี 2000 เหลือราว 55% ในปีที่แล้ว ผลจากความชื่นชมในดอลลาร์น้อยลง จากการสำรวจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปีนี้ ทั้งนี้หากนับรวมทองคำ สัดส่วนของดอลลาร์ลดลงไม่ถึงครึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศของโลก
(ที่มา : ไฟแนนเชียลไทม์ส)