สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.) อ้างการเปิดเผยของสภาทองคำโลก (WGC) ว่า อุตสาหกรรมเหมืองทองคำกำลังประสบปัญหาในการรักษาระดับการเติบโตด้านการผลิต เนื่องจากการค้นหาแหล่งแร่ทองคำเริ่มยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจากสภาทองคำโลก พบว่ากำลังผลิตเหมืองทองคำเพิ่มขึ้นแค่ 0.5% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ขณะที่ในปี 2022 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.35% หากเทียบเป็นรายปี เช่นเดียวกับปี 2021 ที่มีอัตราการเติบโตถึงระดับ 2.7%
"สิ่งที่เราพบเห็นคือกำลังผลิตเหมืองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี" จอห์น รีด หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดของสภาทองคำโลกกล่าวกับซีเอ็นบีซี "แต่ถ้ามองในภาพกว้างๆ ผมคิดว่ากำลังผลิตเหมืองทองคำ อยู่บนจุดสูงสุดแถวปี 2016 ถึง 2018 และเราไม่พบเห็นการเติบโตนับตั้งแต่นั้น"
รีด กล่าวว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะค้นพบแหล่งทองคำใหม่ๆ ทั่วโลก เนื่องจากหลายพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะพบแร่ทองคำนั้นได้ถูกสำรวจไปหมดแล้ว
"สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ในช่วงเวลา 10 ปีหลังจากการผลิตทองคำพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2008 นั้น อุตสาหกรรมเหมืองทองคำประสบกับความยากลำบากในการรักษาอัตราการขยายตัวด้านการผลิตทองคำ เนื่องจากแหล่งแร่ทองคำใหม่ๆ ทั่วโลกหายากขึ้น และหลายพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะพบแร่ทองคำนั้นได้ถูกสำรวจไปหมดแล้ว" รีดกล่าว
เขาชี้ว่าเหมืองทองคำขนาดใหญ่ต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก อีกทั้งต้องมีการสำรวจและการพัฒนาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 10-20 ปีก่อนที่เหมืองจะมีความพร้อมในการผลิต
รีด กล่าวต่อว่า และต่อให้เหมืองเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการสำรวจ แต่โอกาสในการค้นพบแร่ทองคำที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาได้นั้น อยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยรายงานระบุว่าทองคำทั่วโลกที่ถูกพบว่ามีแร่ทองคำในปริมาณมากพอที่จะได้รับการรับรองให้ทำเหมืองทองคำได้นั้น มีเพียงแค่ราว 10% เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเหมืองทองคำทั้งหลาย อาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้รับใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นจากรัฐบาล ถึงจะเริ่มปฏิบัติการได้ ยังไม่นับรวมกรณีที่โครงการเหมืองจำนวนมากมักตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างเช่นถนน ไฟฟ้าและน้ำประปา เสียก่อน
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการขุดทองคำไปแล้วประมาณ 187,000 เมตริกตัน อ้างอิงรายงานของสภาทองคำโลก ด้วยยังมีแหล่งทองคำสำรองที่ยังคงไม่ได้มีการขุดอีก 57,000 ตัน
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประมาณการว่าทองคำทั่วโลกเหลืออยู่ประมาณ 57,000 ตัน ซึ่งหากเทียบจากปริมาณการขุดทองคำเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ตัน จะเท่ากับเหลือทองคำให้ขุดได้อีกเพียง 19 ปี หากไม่มีการสำรวจพบสายแร่ทองคำใหม่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ USGS เป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้น โดยอ้างอิงจากอัตราการขุดทองคำในปัจจุบันและปริมาณทองคำสำรองที่พิสูจน์แล้วเท่านั้น ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อระยะเวลาการหมดลงของทองคำ เช่น การค้นพบแหล่งแร่ทองคำใหม่ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลทองคำจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของใช้ต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
(ที่มา : ซีเอ็นบีซี)