MGR Online : นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ร่วมกับนายกรัฐมนตรีจีน วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสถานีรถไฟกอมบัค โครงการทางรถไฟอีสต์ โคสต์ เรล ลิงก์ (ECRL) จากโกตาบารู รัฐกลันตัน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า LRT ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ คาดแล้วเสร็จ ธ.ค. 70 ด้าน รมว.คมนาคมมาเลเซียเล็งเชื่อมต่อเครือข่ายระบบรางของไทย
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมด้วย นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟกอมบัค (Gombak) ในโครงการทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันออกมาเลเซีย หรืออีสต์โคสต์เรลลิงก์ (East Coast Rail Link) ที่อาคารศูนย์การขนส่งกอมบัค (Gombak Integrated Terminal) รัฐสลังงอร์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย
โดยพื้นที่ก่อสร้างตั้งอยู่ริมแนวสันเขากอมบัค มีพื้นที่รวม 8.73 เฮกเตอร์ มีชานชาลายกระดับและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่จอดรถ จุดจอดรถรับส่ง ทางเดินที่มีหลังคาคลุม ที่พักพนักงาน และพื้นที่ภูมิทัศน์ ซึ่งคาดว่าจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้ากอมบัคของรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) สายเกอลานา จายา (Kelana Jaya Line) ไปยังปลายทางสถานีปุตราไฮต์ (Putra Heights) ระยะทาง 46.4 กิโลเมตร มีสถานีรวม 37 สถานี ซึ่งผ่านสถานี KLCC และสถานี KL Sentral
ทั้งนี้ การก่อสร้างดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ECRL ซึ่งเป็นทางรถไฟสายใหม่ ระยะทาง 665 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสถานีโกตาบารู (Kota Bharu) รัฐกลันตัน พาดผ่านรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐปะหัง และรัฐสลังงอร์ ปลายทางสถานีจาลัน คาสตัม (Jalan Castam) ย่านพอร์ตแคลง (Port Klang) มีสถานีรถไฟทั้งหมด 20 สถานี เป็นสถานีสำหรับรับ-ส่งผู้โดยสาร 10 สถานี และสถานีสำหรับรับ-ส่งผู้โดยสารควบคู่ไปกับการขนส่งสินค้าอีก 10 สถานี โดยการก่อสร้างเส้นทางระหว่างกอมบัคกับพอร์ตแคลง (Port Klang) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2570
นายอันวาร์กล่าวว่า โครงการ ECRL ถือเป็นถือเครื่องพิสูจน์ถึงมิตรภาพอันแข็งแกร่งและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างมาเลเซีย-จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งสายทาง (BRI) มั่นใจว่าโครงการจะนำผลประโยชน์มากมายมาสู่ประชาชน โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพิ่มการมีส่วนร่วมของซัปพลายเออร์ ผู้รับเหมาในท้องถิ่นและชาวภูมิบุตร ตนเชื่อว่าโครงการ ECRL ซึ่งมีต้นทุนการก่อสร้าง 5 หมื่นล้านริงกิต และเส้นทางที่กว้างขวางข้ามสี่รัฐ จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยการันตีการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลระหว่างชายฝั่งตะวันออกกับตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซีย
นายแอนโทนี ลก รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย เปิดเผยว่า โครงการ ECRL จะเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อสำหรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าระหว่างชายฝั่งตะวันออกกับตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซีย เมื่อเปิดให้บริการ คาดหวังว่าจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการขนส่งสินค้าจากทางรถยนต์ไปยังทางรถไฟ ซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งทางเลือกที่ปลอดภัยในระยะทางไกล อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคุ้มต้นทุน พร้อมกันนี้ กระทรวงคมนาคมกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการขยายเส้นทางโครงการ ECRL เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายระบบรางของไทย ปูทางให้โครงการ ECRL เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระบบรางทั่วเอเชียที่สามารถเชื่อมโยงมาเลเซียกับจีน บรรลุวิสัยทัศน์ของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า การที่รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซียระบุว่าจะเชื่อมต่อโครงการ ECRL กับเครือข่ายระบบรางของไทย คาดว่าเป็นการเชื่อมกับทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และข้ามไปยังสถานีรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ระยะทางประมาณ 1,144 กิโลเมตร รวมทั้งยังมีแนวเส้นทางรถไฟเก่าจากสถานีรันเตาปันจัง ไปเชื่อมกับทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก สถานีปาซีร์มัส (Pasir Mas) ของการรถไฟมาลายา (KTMB) รัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย
ก่อนหน้านี้ ที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. คณะทูตจากประเทศมุสลิม 8 ประเทศ และผู้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มมุสลิม ประจำปี 2567 เดินทางมายังด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมบริเวณจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 เชื่อมระหว่างด่านสุไหงโก-ลก กับฝั่งมาเลเซียที่ด่านรันเตาปันจัง (Rantau Panjang) เมืองปาซีร์มัซ รัฐกลันตัน เพื่อรับฟังการบรรยายและรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมการค้าชายแดนต่างๆ โดยเฉพาะการยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองคู่แฝด (Twin Cities) กับเมืองสำคัญต่างๆ ทางด้านเหนือของมาเลเซีย
ในตอนหนึ่ง ได้มีการบรรยายในประเด็นเส้นทางรถไฟเชื่อมจังหวัดนราธิวาสไปยังเมืองตุมปัต (Tumpat) รัฐกลันตัน โดยระบุว่า การขนส่งทางรางระหว่างสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ประเทศไทย กับสถานีรันเตาปันจัง ประเทศมาเลเซีย ได้มีการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า กระทั่งหยุดการเดินรถในปี 2544 และไม่มีการกลับมาเดินรถนับจากนั้นเป็นต้นมา โดยมีเส้นทางที่การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบฝั่งประเทศมาเลเซียประมาณ 2 กิโลเมตร สิ้นสุดที่หลักกิโลเมตรที่ 1144+380.00 ซึ่งทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีรางขนาด 100 ปอนด์ ไม้หมอนคอนกรีต และสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อรองรับน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา (U-20) ทำให้ขบวนรถสามารถข้ามสะพานเข้าสู่ประเทศมาเลเซียได้
แหล่งข่าวจากตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยรายหนึ่งเปิดเผยว่า การรถไฟฯ มีความพร้อมที่จะพัฒนาทางรถไฟเชื่อมไปยังฝั่งประเทศมาเลเซีย โดยได้มีการพูดคุยกับการรถไฟมาลายา (KTMB) เป็นระยะ แต่โครงการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานับตั้งแต่หยุดการเดินรถ และฝั่งประเทศมาเลเซียเคยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ถึงบัดนี้ ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบสภาพทางรถไฟฝั่งประเทศมาเลเซียในปัจจุบันได้
อนึ่ง โครงการ ECRL ใช้รางรถไฟขนาดความกว้าง 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge เช่นเดียวกับทางรถไฟในประเทศจีน และทางรถไฟลาว-จีน ขณะที่ทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลมาเลเซียตะวันออก ช่วงตุมปัตถึงเกอมัส (Tumpat-Gemas) ของ KTMB และทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้รางรถไฟขนาดความกว้าง 1 เมตร หรือ Meter Gauge