“รมช.คมนาคม” ทดลองสายสีเหลืองเรียกเชื่อมั่นประชาชน ยันซ่อมเสร็จแล้วปลอดภัย สั่งเพิ่มความถี่และตรวจเช็กจุดเสี่ยงทุกอาทิตย์ เพิ่มกล้องตรวจสอบระบบล้อทำงานร่วม AI แบบเตือนก่อนเสีย ย้ำไม่ได้มาชี้ใครผิดใครถูก รฟม.มีหน้าที่กำกับและบังคับตามสัญญาทุกตัวอักษร เผยยอมเปลี่ยนรางใหม่ ค่าซ่อมรวมกว่า 170 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน ลงพื้นที่ตรวจสอบรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ที่กลับมาให้บริการตามปกติ โดยเดินรถได้สองฝั่งครบทั้ง 23 สถานี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2567 และได้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เพื่อตรวจเส้นทางจากสถานีหัวหมาก (YL11) ไปยังสถานีศรีเอี่ยม (YL17) พบว่าการเดินรถเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถให้บริการประชาชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยได้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ติดตามความคืบหน้าในการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชิ้นส่วนตัวยึดรางร่วงหล่นลงบนถนนศรีนครินทร์ ช่วงสถานีกลันตันถึงสถานีศรีอุดม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้ รฟม.กำกับผู้รับสัมปทานเร่งดำเนินการซ่อมบำรุงเส้นทางให้คืนสภาพสมบูรณ์และปลอดภัย ซึ่งการตรวจสอบทุกอย่างเป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย ล่าสุดได้ผ่านการับรองจนสามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ตามปกติแล้ว
รฟม.ได้รายงานว่าผู้รับสัมปทานได้ซ่อมแก้ไข และมีมาตรการ เช่น เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบอุปกรณ์รอยต่อและรางจ่ายไฟที่ติดยึดกับทางวิ่งตามคู่มือซ่อมบำรุงลงจากทุกรอบ 6 เดือน เป็นทุก 2 เดือน และในจุดที่เฝ้าระวังพิเศษจะมีการตรวจสอบทุก 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบป้องกันเพิ่มเติม ด้วยการติดตั้งกล้อง image processing ร่วมกับ AI เพื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับความผิดปกติของล้อและราง สามารถแจ้งเตือนมายังศูนย์ควบคุมได้ทันการณ์ เพิ่มเติมจากระบบรถตรวจการณ์ตามปกติ ซึ่งจะติดที่บริเวณล้อ ของทั้งสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเสียหาย ลดเวลาการซ่อมแซม เป็นการเพิ่มเติมระบบป้องกันล่วงหน้า จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่ใช้บริการ และผู้ที่สัญจรตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้นทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ และมีการป้องกันที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงในระยะยาว
“วันนี้ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นโมโนเรลสายแรกของไทยที่เพิ่งเปิดให้บริการเดินรถ เหตุที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ทั้ง รฟม. และผู้รับสัมปทานต้องสั่งสมความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการเดินรถด้วยมาตรฐานที่ดี ซึ่งเหตุแต่ละครั้งจะเป็น KPI ของกระทรวงคมนาคม กรมราง และรฟม.จะต้องไปดูว่าหากเกิดซ้ำอีกถือว่าบกพร่อง ตอนนี้ได้พยายามหาจุดในระบบที่จะไม่ปลอดภัยและป้องกันแก้ไขล่วงหน้าและศึกษาแบบอย่างจากต่างประเทศ และปิดจุดเสี่ยงโอกาสที่จะเกิดเหตุ ผมในฐานะรัฐมนตรีก็มาทดลองเพื่อให้ประชาชนมั่นใจระบบกลับมาปกติและมีระบบป้องกันเพิ่มขึ้น”
นายสุรพงษ์กล่าวถึงการลงโทษผู้ให้บริการกรณีเกิดอุบัติเหตุว่า รฟม.ในฐานะผู้กำกับและบังคับใช้สัญญาก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่เขียนไว้เป็นตัวอักษร ตนเองไปก้าวล่วงในสัญญาไม่ได้ ทุกคนต้องปฏิบัติตามทุกตัวอักษรที่เขียนในสัญญาอยู่แล้ว
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวรายงานการดำเนินการซ่อมบำรุงเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ช่วงสถานีกลันตัน (YL12)-สถานีสวนหลวง ร.๙ (YL15) โดยผู้รับสัมปทานได้ทำการรื้อถอนรางจ่ายกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ยึดจับรางฯ ที่เสียหายออกจากระบบ เปลี่ยนแผ่นเชื่อมคานทางวิ่ง (Finger Type Expansion Joint) ที่ชำรุด ณ จุดเกิดเหตุเป็นชุดใหม่ และนำรางจ่ายกระแสไฟฟ้าชุดใหม่ขึ้นติดตั้งแทนของเดิม จากนั้น รฟม.ได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ติดตามการทดสอบระบบต่างๆ และตรวจประเมินความพร้อมของระบบ ก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะกลับมาเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ตามปกติครบทั้ง 23 สถานี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
โดยรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เปิดให้บริการระหว่างเวลา 06.00-00.00 น. ด้วยความถี่ทุก 10 นาทีต่อขบวน นอกช่วงเวลาเร่งด่วน และความถี่ทุก 5 นาทีต่อขบวน ในช่วงเวลาเร่งด่วน (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 07.00-09.00 น. และเวลา 17.00-20.00 น.) และหลังจากนี้ รฟม.จะติดตามคุณภาพในการให้บริการและความเชื่อมั่นในการใช้บริการของผู้โดยสารต่อไป ทั้งนี้ รฟม.ยังได้กำชับผู้รับสัมปทานปรับปรุงคู่มือซ่อมบำรุงให้ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และอยู่ในสภาวะที่พร้อมสำหรับการให้บริการเดินรถแก่ประชาชน
@EBM เผยผู้โดยสารลดเหลือ 3 หมื่นกว่าคน/วัน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กล่าวว่า หลังเกิดเหตุทำให้ต้องปรับลดความถี่การให้บริการ ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 3 หมื่นกว่าคน/วัน จากก่อนหน้ามีกว่า 4 หมื่นคน/วัน ขณะที่เป้าของสายสีเหลืองประเมินว่าจะมีผู้โดยสารที่ 2 แสนคน/วัน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ส่วนสายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 6 หมื่นคน/วัน เคยสูงสุดที่ 7 หมื่นคน /วัน โดยเป้าผู้โดยสารสายนี้ คือ 2 แสนคน/วันเช่นกัน โดยปี 2568 จะเปิดส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ก็คาดหมายว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มอีก 3-4 หมื่นคน/วัน
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นผู้รับสัมปทาน ผู้โดยสารก็ยังไม่กลับมาเท่าเดิม โดยมีเฉลี่ย 6 แสนคน/วัน หรือประมาณ 80% ของจำนวนก่อนเกิดโควิด (มีประมาณ 7 แสนคน/วัน) ปัจจัยที่ทำให้ไม่เพิ่มเท่าเดิมเพราะพฤติกรรมการเดินทาง การทำงาน ที่ปรับเปลี่ยนไป สามารถประชุมออนไลน์ได้ ทำงานที่บ้าน ส่วนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งเห็นว่าการจัดระบบฟีดเดอร์เข้าสู่รถไฟฟ้าได้สะดวกจะกระตุ้นการเดินทางด้วยระบบรางให้เพิ่มขึ้นได้
@ย้ำสัญญากำหนด KPI คุมมาตรฐานการทำงาน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในสัญญามีระบุถึงมาตรฐานการให้บริการเป็น KPI กรณีเกิดเหตุหรือไม่สามารถดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา รฟม.จะประเมินการทำงานเป็นรายปี หากไม่ผ่านเกณฑ์ KPI ก็จะหักเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่รัฐต้องจ่ายตามสัญญาร่วมทุน 5% ซึ่งสายสีเหลืองวงเงินอดหนุน 25,050 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 ปีเฉลี่ยปีละ 2,505 ล้านบาท หรือหักประมาณ 125 ล้านบาท ซึ่งบริษัท มีหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อยและรฟม.ต้องตรวจรับรอง หากผ่านเกณฑ์ก็คืนเงินจำนวนนั้นให้บริษัท ซึ่งสายสีชมพู รัฐอุดหนุนปีละ 2,500 ล้านบาท เงื่อนไขสัญญาเหมือนกัน
ทั้งนี้ KPI จะกำหนดมาตรฐานการทำงานไว้หลายระดับ การหักเงินอุดหนุนเป็นระดับหนึ่ง กรณีที่ผิดพลาดมากโทษสูงสุดคือ บอกเลิกสัญญา
@ค่าซ่อมกว่า 170 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า จากเหตุอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าเคลื่อนหลุดไปกระแทกรางนำไฟฟ้าหลุดตกลงมาค้างบนทางเดินฉุกเฉิน และมีชิ้นส่วนร่วงลงสู่พื้นด้านล่างถนนนั้น EBM ตัดสินใจเปลี่ยนรางช่วงสถานีกลันตันถึงสถานีศรีอุดม ระยะทางกว่า 5 กม.ใหม่ทั้งหมด รวมถึงตรวจสอบรอยต่อคานทางวิ่ง (expansion joint) ทั้งโครงการ และตรวจเช็กมาร์กหัวนอต เพื่อสังเกตการคลายตัวของนอต การเคาะแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) ซึ่งมูลค่าซ่อมบำรุงประมาณ 170-180 ล้านบาท โดยยังอยู่ในระยะประกันของบริษัท อัลสตอม และมีบางส่วนที่บริษัทต้องรับผิดชอบเอง