วิกฤติหนี้มนุษย์เงินเดือน บ้าน-รถยนต์-บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ยอดรวมสูงกว่า 10 ล้านล้านบาท ปัญหาใหญ่และหนักสุดของหนี้ในระบบเศรษฐกิจไทย จากอัตราดอกเบี้ยมหาโหด ไร้หน่วยงานกำกับดูแลจริงจัง เจอวิกฤติจากโควิดระบาดซ้ำเติม ขณะแบงก์ชาติปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์เป็นเสือนอนกิน มุ่งแต่รักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารจนเกินเหตุ กลายเป็นรักษาความมั่งคั่งให้แบงก์พาณิชย์ มากกว่าช่วยแก้ความเดือดร้อนให้ประชาชน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้ชำแหละถึงปมปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกประเภท ที่ถือได้ว่าใกล้ตัวที่สุด ที่ผู้ที่มีรายได้รายเดือน หรือมนุษย์เงินเดือนรู้จักกันดี นั่นก็คือ สินเชื่อบ้าน เช่าซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล
ปัจจุบันยอดรวมหนี้ก้อนนี้ ณ ปัจจุบันพบว่าสูงถึงกว่า 10 ล้านล้านบาท โดยหนี้เหล่านี้เมื่อเจาะเข้าไปดูในรายละเอียด ก็ต้องบอกว่า โหดจริงๆ
ยกตัวอย่าง เช่น “สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์” นั้นขาดกฎหมายคุ้มครองสิทธิลูกหนี้อย่างรุนแรง ทำให้เมื่อขาดผ่อน 3 งวด ลูกหนี้ก็โดนบีบยึดรถขายไม่มีผ่อนปรน บวกกับคิดดอกเบี้ย เงินกู้แบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) ซึ่งจะคำนวณดอกเบี้ยที่ลูกค้าต้องชำระจากเงินต้นทั้งก้อนที่คงที่ตลอดอายุของสัญญาแม้ว่าลูกหนี้จะได้ทยอยผ่อนชำระเงินต้นบางส่วนไปเรื่อย ๆ แล้วก็ตาม แทนที่จะคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอก ทำให้ลูกหนี้แบกดอกเบี้ยเกินจำเป็น
ส่วน “หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล” ก็มีการ เปิดช่องให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยสูงถึง 25% กลายเป็นหนี้เสียแล้วกว่า 6 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3 แสนล้านบาท
ขณะที่ “คลินิกแก้หนี้” ที่เริ่มมา 4-5 ปี ช่วยลูกหนี้ได้แค่ 110,000 บัญชี หรือแค่ 1.69% เท่านั้น
“สินเชื่อบ้าน” นั้นคือตัวร้าย และเป็นที่รับรู้กันมานานว่าถูกแบงก์โขกดอกเบี้ยสูงลิบ
ณ วันนี้ใครที่ผ่อนบ้านรู้ดี ดอกเบี้ยลอยตัวแบงก์คิดที่ 5.8% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยบ้าน-ดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านถึง 4.72% !?!
นอกจากนี้ยังมีปัญหาลูกหนี้จ่ายค่างวดก็เหมือนจ่ายแต่ดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นนั้นไม่ลด พร้อมกับแบงก์คิดทุกเม็ด หากผิดนัดชำระจะนำไปคำนวณเป็นยอดสุดท้ายของเงินกู้ทั้งหมด พอต้องชำระต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มหลายเท่า
คำถามก็คือ แบงก์ชาติ ปล่อยให้แบงก์พาณิชย์ทำตัวเป็นเสือนอนกินเรื่องนี้มายาวนานเท่าไหร่แล้ว และ ไม่คิดจะทำอะไรสักอย่างเลยหรือ?
ปมปัญหา สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์-สินเชื่อบ้าน-บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลนี่เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ และหนักหนาที่สุดของเรื่อง “หนี้ระบบเศรษฐกิจไทย” เวลานี้ก็ว่าได้ เรามาเจาะลึกทีละเรื่องกัน
หนี้เช่าซื้อรถยนต์
“หนี้เช่าซื้อรถยนต์” ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแลเป็นการเฉพาะ โดยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566มีจำนวนรวม 6.5 ล้านคัน มูลหนี้รวม 2.61 ล้านล้านบาท
ในช่วงวิกฤติโควิด ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เดือดร้อนมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง นั่นเพราะที่ผ่านมาสินเชื่อเช่าซื้อไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ที่เป็นหน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เมื่อเกิดวิกฤติโควิดส่งผลกระทบทำให้รายได้ของประชาชนลดลงในวงกว้าง ส่งผลทำให้ไม่สามารถผ่อนจ่ายงวดรถได้
โครงสร้างของสินเชื่อเช่าซื้อนี้ เจ้าหนี้ยังเป็นเจ้าของรถซึ่งตามข้อกฎหมาย ถ้าเกิดการผิดนัดชำระติดต่อกัน 3 งวด เจ้าหนี้สามารถยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 ได้ แม้ว่าลูกหนี้ได้จ่ายชำระหนี้มามากแล้วจนเหลือเพียงไม่กี่งวด บางรายเหลืองวดผ่อนเพียง 2-3 งวด แต่ก็ถูกยึดรถออกขายโดยไม่มีการผ่อนปรน ซึ่งประเทศไทยไม่มีข้อกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ที่ได้ผ่อนจ่ายค่างวดมามากแล้วเช่นเดียวกับประเทศอื่น
ประเด็นสำคัญอีกประการคือการคิดอัตราดอกเบี้ย แม้กฎหมายจะให้คิดลดต้นลดดอก แต่ในทางปฎิบัติมีช่องว่างให้เจ้าหนี้เอาเปรียบลูกหนี้ เช่น หากชำระก่อนก็ไม่ลดดอกเบี้ยหรือ ถ้าเอาเงินมาโปะยอดที่เหลือเพื่อปิดบัญชี ก็ยังคิดดอกเบี้ยส่วนที่เหลือทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องคิดก็ได้
ปี 2566 ที่ผ่านมา ณ ไตรมาส 3 พบว่า จำนวนลูกหนี้เช่าซื้อรถที่ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกัน 3 งวดและกลายเป็นหนี้เสีย จนถูกเจ้าหนี้ยึดคืนมีสูงถึง 694,088 ราย หรือคิดเป็นรถเกือบ 7 แสนคันมูลหนี้รวม 207,440 ล้านบาท
ขณะที่ ตัวเลขล่าสุดของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ณ เดือนมีนาคม 2567 ชี้ให้เห็นปัญหาประชาชนที่ถูกยึดรถรุนแรงขึ้น โดยข้อมูลตัวเลขประชาชนที่ผิดนัดชำระหนี้เป็น NPL เข้าข่ายที่จะถูกยึดรถจาก 7 แสนบัญชี เพิ่มขึ้นสูงไปถึง 770,000 บัญชีหรือ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 20.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลหนี้ที่เป็น NPL ก็ปรับเพิ่มจาก 207,000 ล้านบาท ขึ้นเป็น สูงถึง 238,000 ล้านบาท(หรือเพิ่มขึ้นกว่า 31,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน)
จนปัจจุบันแม้จะผ่านมาถึงเกือบครึ่งทาง ปี 2567 แล้ว แต่ วันนี้สถานการณ์สินเชื่อเช่าซื้อรถก็ไม่ได้ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่เปราะบางของครัวเรือนไทย เพราะโดยปกติแล้วครัวเรือนจะไม่ปล่อยให้หนี้เช่ารถมีงวดค้างชำระเช่นนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล
ประเภทหนี้ถัดมา เรามาดู ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หนี้กลุ่มนี้ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับประชาชนรายย่อยจำนวนมาก
ข้อมูลจากเครดิตบูโรชี้ว่าปัจจุบันคนไทยมีการใช้บัตรเครดิต 23.8 ล้านบัญชีมูลหนี้ 546,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 6 ล้านบัญชีที่ไม่ได้เปิดใช้
ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันมี 31.7 ล้านบัญชีมูลหนี้ 2.58 ล้านล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ถ้ารวมหนี้ 2 ประเภทเข้าด้วยกันจะมีจำนวนบัญชีรวม 55.5 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3.12 ล้านล้านบาท
หนี้บัตรเครดิต และ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล คือ ศูนย์กลางของปัญหาที่ทำให้คนไทยจำนวนมากนับล้านคนติดอยู่ใน “กับดักหนี้” และเป็น “ขนมหวาน” ที่แบงก์ชอบมาก
ถ้ามองย้อนกลับไปที่ปฐมบทการเกิดขึ้นของบัตรเครดิต สินเชื่อประเภทนี้มีลักษณะคล้าย“เงินทดรองจ่าย” ที่มีวัตถุประสงค์ช่วยให้ไม่ต้องใช้เงินสด จะเหมาะสมสำหรับผู้ที่สามารถชำระหนี้คืนทั้งก้อน หรือทั้ง 100% เมื่อมีบิลเรียกเก็บมาเพราะถ้าไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ครบทั้งจำนวน หรือสามารถชำระหนี้เพียงอัตราขั้นต่ำ จะถูกคิดดอกเบี้ยบนจำนวนเงินทั้งก้อน
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ลูกหนี้กลุ่มที่ชำระหนี้ได้เพียงบางส่วนนี้อาจมีจำนวนมากถึง 50% ของทั้งหมดหรือนับเป็นสิบ ๆ ล้านบัญชี
ในต่างประเทศเช่นในอังกฤษ Regulator FCA กำหนดเกณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีเช่นนี้เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้บัตร (Persistent debt) โดยกรณีที่ลูกหนี้จ่ายอัตราขั้นต่ำเป็นระยะเวลา 18 เดือน เจ้าหนี้จะต้องแปลงหนี้บัตรเป็น Term Loan หรือ เงินกู้ที่มีอายุการกู้ที่แน่นอน มีระยะเวลาผ่อนชำระ 3-4 ปี และปรับลดดอกเบี้ยลง
ปัจจุบันพบว่า มีลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ไปแล้วจำนวนรวม 6.41 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 319,000 ล้านบาท
ปัญหาสำคัญของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่เผชิญอยู่ก็คือ เมื่อแรกขอสินเชื่อ ขอในฐานะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน แต่ในทางปฎิบัติหลังจากเป็นหนี้เสียแล้วพบว่า เจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้เป็นจำนวนมากเพื่อยึดบ้านและที่ดิน ซึ่งจริง ๆ แล้วในกรณีที่ต้องการจะยึดบ้านหรือที่ดิน เจ้าหนี้จะไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงถึง 25% ต่อปี แต่จะต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลงให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของสินเชื่อ (Risk-based Pricing)
“โครงการคลินิกแก้หนี้” ที่ริเริ่มโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและมีเจ้าหนี้ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเข้าร่วมกว่า 35 แห่ง ว่าไปแล้วก็เป็นโครงการที่ดีเป็น sandbox ต้นแบบการไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่จะช่วยตอบโจทย์ของเจ้าหนี้และลูกหนี้
แต่ประเด็นคือข้อจำกัดในทางปฏิบัติของโครงการคลินิกแก้หนี้ คือ หลังเริ่มโครงการมา 4-5 ปีสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพียงแค่ 110,000 บัญชีเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียง 1.69% ของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจำนวนรวมกว่า 6.5 ล้านบัญชีมูลหนี้ 3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน !
หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ มีเงินเดือน หรือ รายได้เดือนละ 20,000 บาท แต่กลับมีบัตรเครดิตคนละ 4 ใบ วงเงินรวม 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท
ข้อเท็จจริงในส่วนนี้เป็น “สัญญาณเตือน” ที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ต้องทบทวนถึงความเหมาะสมของกรอบการกำกับดูแลในภาพรวม คือการส่งเสริมในฝั่งของลูกหนี้ให้มีวินัยมีความรู้ทางการเงินมีความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือการกำกับดูแลในฝั่งของเจ้าหนี้
ซึ่งที่ผ่านมา ในการพิจารณาสินเชื่อส่วนนี้ เจ้าหนี้จะดูเงินเดือนของลูกหนี้เป็นหลัก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอัตราการปรับขึ้น 3-5% ต่อปี สมมติลูกหนี้รายหนึ่งมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมากถึง 25 เท่าของเงินเดือน หรือ กู้หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลขนาดใกล้เคียงกับเงินเดือนที่จะหาได้ใน 2 ปี และถ้าหนี้นั้นมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 25% ต่อปี คือ 4 ปีถ้าไม่ใช้หนี้ที่มีจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ตรงนี้ชัดเจนว่าการกู้ยืมที่เกิดขึ้นเป็นการกู้ยืมที่เกินกว่าศักยภาพ
สินเชื่อบ้าน
มาถึงเรื่องใหญ่ หนึ่งในปัจจัยสี่ คือที่อยู่อาศัย หรือ “สินเชื่อบ้าน” กันบ้าง ปัจจุบัน สถานการณ์ของ “สินเชื่อบ้าน” นั้นมีจำนวนบัญชีรวม 3.5 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 4.9 ล้านล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีมูลหนี้สูงที่สุดในบรรดาหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
โดยสถานการณ์หนี้บ้าน ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า1.ลูกหนี้กลุ่มที่มีค่างวดค้างชำระ 1 ถึง 2 งวด แต่ยังไม่กลายเป็นหนี้เสียมูลหนี้รวม 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 37.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.หนี้ค้างชำระที่เพิ่มส่วนใหญ่เป็นบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งก็คือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง
ตัวเลขและสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น ณ จุดนี้ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลใจว่า ถ้าไม่มีมาตรการแก้ไขแนวโน้ม NPL ในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีก และ
ประเด็นปัญหาใหญ่ของสินเชื่อบ้านคือ ค่างวดบ้านที่ปรับตามอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว
โดยหากอยู่ใน ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือ ช่วงที่วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง ค่างวดที่จ่ายจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะช่วงดอกเบี้ยขาลง เมื่อดอกเบี้ยลดลงเจ้าหนี้จะนำเงินที่จ่ายชำระหนี้จะถูกนำไปหักเงินต้นมากขึ้น
แต่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นดังเช่นในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบหลายปี ก็จะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศปรับขึ้น
ถ้าข้อตกลงกู้บ้านถูกผูกไว้กับอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ก็จะส่งผลทำให้ค่างวดที่ครัวเรือนต้องจ่ายปรับสูงขึ้น
เท่าที่ทราบจากคนใกล้ตัวทีมงาน คุยทุกเรื่องกับสนธิ ให้ข้อมูลมาว่า ณ วันนี้ ลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว แบงก์คิดที่ 5.8 % แล้ว !!!
ดังนี้เอง ตัวเลขหนี้ค้างของสินเชื่อบ้านที่ปรับสูงขึ้น ส่วนสำคัญก็น่าจะมาจากเรื่องนี้ด้วย เพราะ ถ้าเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ของ 5 ธนาคารใหญ่ปัจจุบันกับช่วงกลางปี 2565 พบว่า ปรับสูงขึ้นประมาณ 1.4%
หากเทียบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับดอกเบี้ยสินเชื่อเงินกู้ที่อยู่อาศัยของไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยสูงสุดถึง 4.72%
กล่าวคือ ประเทศไทย ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน 7.22%ส่วนต่าง 4.72%
ขณะที่ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบาย กับ ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านของประเทศอื่น ๆ นั้นอยู่ที่ราว 1.33% ถึง 3.34% เท่านั้น คือ มาเลเซีย ส่วนต่าง 1.33% อินเดีย ส่วนต่าง 2.38% ฟิลิปปินส์ ส่วนต่า ง2.50% อินโดนีเซีย ส่วนต่าง 3.34%
เพราะฉะนั้น จึงเกิดคำถามว่า ทำไมแบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงปล่อยให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้บ้านกับดอกเบี้ยนโยบายต่างกันมากขนาดนั้น เป็นการเปิดช่องให้สถาบันการเงินเอาเปรียบลูกค้าหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น จะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างลูกหนี้ที่เป็นข่าวดังใน social media ช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน 2566 ที่ลูกหนี้จ่ายค่างวด 10,900 บาท แต่หักจ่ายเงินต้นเพียง 5.50 บาท ขณะที่ตัดจ่ายดอกเบี้ย 10,894.5 บาท โดยยอดเงินต้นยังคงเหลือสูงถึงกว่า 2,140,000 บาท
กรณีข่าวดังอันนี้ไม่ใช่ “ค่างวดผ่อนบ้านปกติ” แต่ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น 1.4% จากเงินต้นคงค้าง 2.14 ล้านบาทจะทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ถ้าเทียบกับช่วงกลางปี 2565 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,498 บาท หรือถ้าบ้านราคา 3 ล้านบาทดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มจะอยู่ที่ 3,500 บาท
เรื่องนี้ เจ้าหนี้ หรือ สถาบันการเงินมีทางเลือก คือ (1) ส่งผ่านดอกเบี้ยที่ขึ้น คงส่วนที่ตัดเงินต้นเท่าเดิม และปรับขึ้นค่างวดเป็น 10,900+2,498 = 13,398 บาท ซึ่งประชาชนกลุ่มหนึ่งก็เดือดร้อนจากกรณีเช่นนี้ หรือ (2) จะเลือกดำเนินการอย่างกรณีที่เป็นข่าวคือ คงค่างวดที่เรียกเก็บไว้เท่าเดิม แต่จะลดส่วนที่หักเงินต้น และนำส่วนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นแทนจนส่วนของเงินต้นเหลือให้หักชำระเพียงแค่ 5.50 บาทดังที่เป็นข่าว
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดคำถามถึงกระบวนการกำหนดค่างวดบ้านอย่างที่ควรจะเป็นเช่นไร? เพราะตามหลักการแล้ว ค่างวดที่เรียกเก็บจะต้องสอดคล้องกับศักยภาพการผ่อนชำระของผู้กู้
ดังที่ปรากฏในแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมของ ธปท.ที่ระบุว่า ...“กำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการผ่อนชำระที่สอดคล้องกับรายได้...อยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้”
แต่ประเด็นก็คือ ความสามารถของผู้กู้ไม่ได้ปรับขึ้นตามดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น
ทั้งหมดนี้ นี่เป็นภาพสะท้อนของหนี้ครัวเรือน กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้เช่นซื้อรถยนต์ ถือบัตรเครดิต ขอสินเชื่อบุลคล และ กู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ปัจจัยการก่อหนี้ก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ซึ่งก่อนจะทำสัญญาทั้งหมดย่อมมีเงื่อนไข กรอบปฎิบัติตามกฎหมาย
แต่ในทางปฎิบัติ สถาบันการเงิน หรือ เจ้าหนี้ใช้ช่องซิกแซก จะเรียกว่า เล่ห์กลในทางธุรกิจเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ทุกท่า ไม่ยอมเสียเปรียบ ไม่ยอมเสียผลประโยชน์ ตามปรัชญาของการทำธุรกิจต้องกำไรสูงสุด
คำถามก็คือบนหลักของแบงก์พาณิชย์การทำกำไรสูงสุดนั้นทำให้ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยกลายสภาพจากลูกหนี้ชั้นดีต้องเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลโดยที่ไม่ได้มีเจตนา กลายเป็นปัญหาของภาพรวม ?
ดังที่เคยยกตัวอย่างให้เห็นในภาพรวมว่า แม้กระทั่งมาตรการ “พักหนี้” ช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด แบงก์พาณิชย์ก็ยังซ่อนดาบเอาไว้ในรอยยิ้ม รอเชือดภายหลัง เพราะเอาเข้าจริง ๆ พักการชำระให้จริง แต่ดอกเบี้ยไม่พัก แล้วผลักงวดที่พักชำระไปไว้ท้ายสุด คิดทบต้นทบดอกอีกต่างหาก จนกำไรแบงก์พาณิชย์ในปี 2566 ทั้งระบบสูงถึง 220,000 ล้านบาท
ในความเป็นจริงแล้วมีคนวงในแบงก์พาณิชย์บอกว่า ช่วงวิกฤตโควิด ประชาชน และผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็ก SME หรือ บริษัท โรงงานขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบ ตกงาน ไม่มีรายได้ ปิดกิจการ ขาดส่งค่างวด ค้างชำระหนี้ จำนวนมาก มูลค่าหนี้เสียพุ่งสูงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งหายเท่า ถ้าช่วงนั้นรัฐบาลไม่ออกมาตรการ“พักหนี้”แบงก์บางแห่งมีสิทธิ์ถึงขั้นล้มละลายได้
มาตรการพักหนี้ ที่ดูเหมือนดี ช่วยประชาชน-เจ้าของธุรกิจ แต่จริงๆ ก็คือ พยุงแบงก์ไม่ให้ล้ม วันนั้นนอกจากแบงก์จะไม่ล้ม ยังโกยกำไรท่ามกลางกองทุกข์ของลูกหนี้
แบงก์ชาติแต่ไหนแต่ไรมาอุ้มแบงก์พาณิชย์ ตามปรัชญาว่า สถาบันการเงินจะล้มไม่ได้ ลูกหนี้จะเป็นตายก็ช่างมันของแบงก์มีกำไร แบงก์ชาติมีผลงานรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของสถาบันการเงิน แต่ในความเป็นจริงที่เจ็บปวดก็คือ แบงก์ชาติวันนี้เลยคำว่ามั่นคงไปแล้ว แต่กำลังรักษาเสถียรภาพ “ความมั่งคั่ง” ให้แบงก์ มากกว่าจะยืนอยู่ข้างประชาชน
ประชาชนที่เป็นหนี้ที่ถูกเอาเปรียบจะมีทางเลือก-ทางออกหรือไม่ หรือ จะต้องใช้ “สวัสดิ์โมเดล” คือ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ดีมั้ย?