ในสภาวการณ์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้โดยได้มีการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนจากหนี้นอกระบบ แต่ก็ยังมีหนี้ก้อนใหญ่ในระบบที่กดดันหนี้ครัวเรือนไทยให้อยู่ในระดับสูงกว่า 90% และมีหลายกลุ่มที่ออกอาการน่าเป็นห่วง ซึ่งในส่วนนี้ 'สุรพล โอภาเสถียร' ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) แหล่งรวมข้อมูลหนี้ของประเทศไทยได้มาอัปเดตข้อมูลไตรมาส 3 ปี 66 ให้ได้พิจารณากัน
นายสุรพล กล่าวว่า นอกเหนือจากแนวทางการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลแล้ว ยังมีคณะทำงานในเรื่องของการแก้หนี้ครัวเรือนอยู่ด้วย โดยปัจจุบันมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เป็นผู้ดูแล ซึ่งจะโฟกัสใน 3 กลุ่มหลักๆ คือ หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ข้าราชการที่อยู่ในระบบการหักหน้าซอง หนี้สถาบันการเงิน โดยแนวทางการดูแลในรอบนี้ จะมีความแตกต่างคือ หนึ่ง จะไม่เอาแบบมาตรการเดียวแล้วทำเหมือนกันทุกกลุ่ม สองวางเป้าหมาย แนวทางแยกเป็นกลุ่มๆ และสามต้องไปดูว่าแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะหรือมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันอย่างไร
เริ่มจากหนี้ กยศ.เจ้าภาพคือกระทรวงการคลัง เพราะเป็นเจ้าของกองทุน ดำเนินการไปแล้วโดยมีกฎหมายใหม่ออกมา หลักการมุ่งไปที่ดอกเบี้ยปรับกรณีค้างชำระ จากแต่ก่อนดอกเบี้ยปรับ 18% ลดลงมาเรื่อยเป็น 15% แล้วลดลงมาเหลือ 7.5% ให้เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ส่วนดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี หลักการคือลูกหนี้ที่ยังมีบัญชีเปิดอยู่ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมเป็นต้นมา ไม่ว่าจะถูกฟ้องหรือเป็นหนี้ปกติก็ตาม คนกลุ่มนี้ถือว่ายังเป็นลูกหนี้ของ กยศ.อยู่ ให้เอาหนี้ของเขาไปคำนวณตามกฎหมายใหม่ ที่ให้มีผลย้อนหลังคือคุณเคยค้างชำระหรือไม่ ถ้าเคยโดนเบี้ยปรับ 18% จะลดลงมาเหลือ 0.5% เวลาคำนวณจะคิดรวมมาทั้งหมด ที่จ่ายไประหว่างทาง เอายอดจ่ายระหว่างทางสะสมมาแล้วคิดหนี้ใหม่ แล้วจึงมาถามว่า ณ ปัจจุบันมียอดจ่ายเกิน หรือจ่ายขาดหรือไม่
วิธีการอย่างนี้เราเรียกว่าการคำนวณการชำระหนี้ใหม่ เมื่อใช้วิธีการนี้ สรุปยอดแล้วบางคนอาจจะจ่ายเกิน หากเขาจ่ายเบี้ยปรับหลายครั้ง ดังนั้น พอคำนวณเสร็จจะมีการหักลบกลบกันไป ทอนคืนกันไปบางส่วน ซึ่งวิธีนี้เมื่อนำมาใช้จะมีประโยชน์กับคนบางส่วน สมมติว่าถูกฟ้อง กำลังจะถูกบังคับคดี แต่ถ้าคำนวณด้วยวิธีใหม่ ผมอาจจะจ่ายหนี้หมดไปแล้วก็ได้ ถือว่าชำระหนี้เสร็จสิ้น จะออกจากระบบไปได้ เหมือนกดเข็มไมล์กันใหม่เลย จะมีประโยชน์กับลูกหนี้ที่ถูกฟ้องมาก เพราะมีคนที่อยู่ในวงเวียนตรงนี้ประมาณ 3-4 ล้านคน อาจจะไม่ได้ผ่านออกมาทุกคน แต่ส่วนหนึ่งจะจบได้
ก้อนที่ 2 หนี้ข้าราชการที่อยู่ในระบบการหักหน้าซอง คือข้าราชการที่มีหนี้ โดยเจ้าหนี้อาจจะเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือแบงก์รัฐ หรือใครก็ตามที่สามารถมีข้อตกลงกับนายจ้างว่าให้นายจ้างเป็นผู้หักเงินเดือนนำส่งเจ้าหนี้ ตรงนี้คือหนี้อะไรก็ตามที่มาฝากให้นายจ้างหักให้ พวกนี้ถือว่าเขาต้องเข้าไปแก้ หลักการคือ หนี้ก้อนนี้ ถือว่าเป็นหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะเจ้านายหักเงินให้ก่อน ดังนั้น ดอกเบี้ยจึงควรจะลดลงมา ทำไมมีคนเก็บหนี้ให้ แล้วทำไมคิดดอกเบี้ยปกติ อีกส่วนคือเมื่อหักชำระหนี้ แล้วต้องเหลือเงินให้ข้าราชการทั้งที่เกษียณแล้วและยังไม่เกษียณไม่ต่ำกว่า 30% คือต้องให้ดำรงชีพได้
แต่ปัญหาคือ หน่วยงานต่างๆ ความหลากหลาย อย่างกระทรวงการศึกษามีประกาศคุมเรื่องนี้ แต่บางกระทรวงไม่มี บางกระทรวงเป็นนโยบายแต่ไม่บังคับ แล้วจะทำอย่างไรให้ระบบตรงนี้เป็นระบบที่มั่นใจว่าดอกเบี้ยแฟร์ และเมื่อหักชำระแล้วไม่เหลือน้อยเกินไปต้องเท่ากับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ คือ 30%
"เรื่องที่ยังเป็นประเด็นคือ ดอกเบี้ยที่แฟร์ อย่างถ้ากรณีของสหกรณ์ สมมติผมเอาเงินไปฝากแล้วผมกู้กับสหกรณ์ มันก็มีเงินฝากของผมอยู่ในนั้น โดยหลักแล้วดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับเงินฝากบวกนิดหน่อย อย่างถ้าผมเอาเงินไปฝาก 2 แสน กู้มา 3 แสน เพราะฉะนั้น อัตราดอกเบี้ยส่วนที่เป็น 2 แสนควรจะถูก ส่วนที่เกินไม่ควรจะแพงเกินไป เพราะค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดคือค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการตามหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ไม่ต้องจ่ายตรงนี้ควรจะคิดให้สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งเรียกง่ายๆ คือมาที่จุดที่เราเรียกว่าแฟร์น่ะ คือเรื่องคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดคำถามว่า กรมนี้ได้อยู่ 4.5% แล้วทำไมกรมนี้ 6.5% ต้องมีหลักแล้วคิดเป็นสูตรออกมา ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนต่อไป แต่เนื่องจากว่าเป็นหน่วยงานข้าราชาการ เขาจะมีกติกาของเขา ไล่ดูกันไป ซึ่งหนี้ก้อนนี้เฉพาะของครูอาชีพเดียวอยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ 8 แสนล้าน อยู่แบงก์อื่นอีก 6 แสนล้าน คร่าวๆก็ 1.4 ล้านล้าน"
อีกส่วนเป็นหนี้ภาคเอกชน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ทั้งระบบมีสินเชื่อรวม 16 ล้านล้านบาท อยู่ในฐานข้อมูลเครดิตบูโร 13.8 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้กลุ่มสหกรณ์ หนี้ กยศ.ที่ไม่คิดรวมในฐานข้อมูลเครดิตบูโร ที่โฟกัสคือ ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด หรือบัญชีรหัส 21 แต่ลูกหนี้รหัส 21 แบ่งเป็น 2 ขา คือ รายย่อยจริงๆ เลย กับอีกขาคือ ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หนี้บัตรเครดิตเติบโตไม่สูงแค่ 3.2% มีความอิ่มตัวอยู่บ้างจากจำนวนรวม 23.8 ล้านใบ ในนั้นมี 6 ล้านใบไม่เคยใช้เลยใน 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นบัตรเกิน ปัจจัยจีดีพีโตต่ำ รายได้โตต่ำ การเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงหนี้ครัวเรือนปัจจุบันที่สูงอยู่แล้ว แม้ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะต่ำลงมาเหลือ 16% แล้ว ดังนั้น จะไม่แปลกใจเลยที่ทำไมเอชเอสบีซีไม่ทำธุรกิจนี้ สแตนชาร์ดไม่ทำ ล่าสุดซิตี้แบงก์ เพราะปัจจัยหนุนการเติบโตมีน้อย แล้วยังมีการแข่งขันสูงอย่าง Buy Now Pay Later เข้ามาอีกดอกเบี้ยที่ได้ก็สูงกว่า เพราะฉะนั้นบัตรเครดิตจะขึ้นอยู่ประมาณนี้ 5 แสนล้านบาท
ถัดไปเป็นสินเชื่อบุคคล อันนี้เป็นตัวที่แบงก์ชาติมองว่าเป็นประเด็น มีอยู่ 31.7 ล้านบัญชี วงเงิน 2.58 ล้านล้านบาท เติบโต 3.1% เป็นกลุ่มที่แบงก์ชาติพุ่งเป้าไปที่คำว่า "หนี้เรื้อรัง" จะมาทั้งการกู้ยืมเป็นวงเงินผ่อน แล้วผ่อนเป็นงวดเงินต้นกับดอกเบี้ยรวมกัน กับอีกอย่างเป็นวงเงินที่เอาไปใช้แล้วทยอยจ่าย ก้อนทื่ไปทยอยจ่ายจะจ่ายแต่ดอกเบี้ยกัน ต้นไม่เข้าเลยเป็นปัญหาหนี้เรื้อรัง ที่แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลจัดการเป็นก้อนนี้
ก้อนต่อมา คือ สินเชื่อรถยนต์การเติบโตต่ำ 2% วงเงิน 2.6 ล้านล้านบาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อช่วงโควิด เรามีการผ่อนสั้นผ่อนยาวผ่อนผันไป แต่รถยนต์ที่เป็นปัญหาคือ อายุของรถยนต์ 10 ปี อายุสินเชื่อ 3 ปี แล้วถ้าคุณปล่อยสินเชื่อยืดออกไป 4-5 ปี ก็พอได้ สมมติว่าเรากู้รถยนต์ 3 ปี ต่อมามีปัญหายืดไปเป็น 4-5 ปี พอไหว แต่อายุรถยนต์มันเสื่อมแล้ว ตัวมูลค่าหลักประกันมันลง ความเสี่ยงเจ้าหนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้รถยนต์ทำยาก ทำน้อย ส่วนใหญ่ค้าง 3 งวดจะยึดรถแล้วเอาไปขายทอดตลาด เพราะอย่างน้อยๆ เจ้าหนี้คิดว่าเป็นวิธีที่จะเจ็บตัวน้อยกว่า ถ้ายืดหนี้ออกไป 7 ปี อายุรถยนต์ 5 ปี มีความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะทิ้งรถอีก
นอกจากนี้ ในสินเชื่อรถยนต์จะมีที่เป็นผู้ผลิตเป็นคนมาทำไฟแนนซ์รถยนต์ ตรงนี้จะถูกคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งแบงก์ชาติกำลังจะเข้าไปดูแล แต่แนวทางจะทำยังไง ยังมองไม่ออก เพราะธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์วันนี้มีประมาณ 2,300 กว่ารายทั่วประเทศ มีทั้งที่อยู่ในระบบ คือแบงก์ทำเอง หรือเป็นลูกแบงก์ ตรงนี้แบงก์ชาติคุมได้บางส่วน แต่อีกส่วนคุมไม่ได้ รออยู่ว่าจะเอาพระราชกฤษฎีกาไปคุมกลุ่มเหล่านี้อย่างไร แล้วที่บอกว่าจะคุมเรื่องมาร์เกต คอนดักต์เป็นอันดับแรก แต่ปัญหาคือจะคุมยังไงกับจำนวนผุ้ประกอบการที่มีถึง 2,300 รายให้ได้มาตรฐานเท่ากัน
"ปัญหาคือ สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอล และหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 30 วันแต่ไม่ถึง 90 วัน (SM) นั้น เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 20% จาก 1.7 แสนล้าน มาเป็น 2 แสนล้านเมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของก่อน จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 8.6% จาก 6.4 แสนบัญชี มาเป็น 6.9 แสนบัญชี คือ กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหามาจากโควิด ทีนี้พอจะดีกว่าขึ้น กลับมาจ่ายได้ มาเจอน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูงก็ออกอาการเหมือนกัน"
ส่วนสินเชื่อบ้านยังเติบโตได้ 4.9-5% แต่พบว่าเราพบว่ากลุ่มเป็น SM เริ่มค้างชำระสูงขึ้น 37.2% จาก 9.9 หมื่นล้านบาท มาเป็น 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวน 105 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 22% ส่วนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นสัญญาเงินกู้ที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท คือกลุ่มคนชั้นกลาง รายได้ไม่สูง กู้ซื้อบ้านวงเงิน 1.5-3 ล้านบาทประมาณนี้เริ่มจะมีปัญหาผ่อนติดๆขัดๆ
โดยสรุปในจำนวนหนี้ทั้งหมด 13.5 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 1.05 ล้านล้านบาท หนี้ SM อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท โดยหนี้ที่เสียที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อรถยนต์อัตราสูงสุด รวมถึง SM จะมีทั้งส่วนของสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้านที่เพิ่มเข้ามา และอีกส่วนที่น่าห่วงคือ Commercial Loan หดตัวลง 6.7% ซึ่งตรงกับข้อมูลของแบงก์ชาติที่ยังลดลง ไซส์ที่น่าห่วงคือเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสัดส่วนเอ็นพีแอล และ SM จะขยับขึ้น แต่ว่าเราไม่น่าจะเจอกับหน้าผาเอ็นพีแอล หรือ NPL Cliff เพราะจาก Migration Rate หรืออัตราการไหลจาก SM ไปสู่ NPL ที่แบงก์ชาติเคยให้ข้อมูลไว้นั้น Migration rate Housing loan อยู่ที่ 22% Migration rate Auto loan อยู่ที่ 12% Migration rate Ploan อยู่ที่ 54% Migration rate Credit card อยู่ที่ 57%
"แม้ว่าตัว Migration rate จะไม่ได้สูง แต่ตัวเรตนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ มันมีทั้งไหลไป ไหลกลับ สมมติว่าขาไหลลง 22% ไหลกลับ 30% เราจะไม่เจอกับ NPL Cliff แต่ time to time ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันบอกไม่ได้ว่าเงินเฟ้อจะโผล่ขึ้นเดือนไหน เดี๋ยวช่วงที่ปรับอัตราการจ่ายขั้นต้นบัตรเครติดจาก 5% เป็น 8% Migration rate จะโดดขึ้นไปจะโดดขึ้นไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องติดตามคือ Migration rate ที่จะเป็นชี้บอกได้"
วิจัยกสิกรชี้หนี้ธุรกิจจิ๋วอีกตัวแปรดัน NPL
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุจากการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีลูกหนี้ธุรกิจของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบว่า การฟื้นตัวของธุรกิจขนาดจิ๋ว (กลุ่ม Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างระหว่าง 5-20 ล้านบาท และกลุ่ม Super Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 5 ล้านบาท) ยังคงไม่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบมายังความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ค้างชำระที่ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในมิติของกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และในมิติของกลุ่มที่ใกล้จะเป็นหนี้เสีย (ค้างชำระระหว่าง 61-90 วัน)
ทั้งนี้ หนี้ของธุรกิจขนาดจิ๋วส่วนใหญ่เป็นหนี้จากสินเชื่อระยะยาว ทั้งที่เป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจและสินเชื่อทั่วไป (Commercial loan/General loan) รวมถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ สะท้อนว่าธุรกิจขนาดจิ๋วไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะทยอยสิ้นสุดลง แต่การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องของสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท.
บริษัทขนาดจิ๋วที่อยู่ในธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า อุตสาหกรรมการผลิต และขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์
อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดจิ๋วในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างที่พักแรมและร้านอาหาร จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากกว่า เพราะได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นยังคงตอกย้ำว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ยังคงไม่เท่าทันกัน
หากกลับมามองทิศทางหนี้ด้อยคุณภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ธุรกิจด้อยคุณภาพในระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอลงมาปิดสิ้นปี 2566 ที่กรอบประมาณร้อยละ 2.62-2.65 ของสินเชื่อธุรกิจในภาพรวม ชะลอลงจากร้อยละ 2.77 ณ สิ้นปี 2565 อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดจิ๋วเหล่านี้ต่อไป