xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ความเป็นจริงอีกด้านมาทำงานญี่ปุ่นที่ช่างไทยอยากบอก ไม่ง่าย! 20 ปีกว่าจะถึงวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“การรื้อบ้านเหมือนผมนี่มาวีลักษณะอย่างนี้มันไม่ค่อยจะมีครับ มีแต่พวกมีทักษะที่เขามาตามโรงงานฟาร์มเกษตรพวกนั่งร้านหรืออาชิบะมี คนเขมร เวียดนามที่มาทำงานในลักษณะทักษะวีซ่าเยอะเขารับเยอะนะช่างทำบ้านใหม่ แต่วีการรื้อบ้านมันทำไม่ได้ยังไม่มี”


หลังการอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมานานกว่าครึ่งชีวิตแล้วสำหรับ “พี่ชาคริต-นายชัยพร บูรณดี” จากพื้นเพเดิมเป็นชาว จ.สุรินทร์ แต่ด้วยโชคชะตาที่นำพามาให้ได้มาใช้ชีวิตและทำหากินอยู่ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เริ่มต้นวัยหนุ่มจวบกระทั่งถึงในปัจจุบันกับอาชีพ “ช่างไทย” ในธุรกิจการรับรื้อบ้านของบริษัทญี่ปุ่นที่เจ้าตัวทำงานอยู่ด้วยมาอย่างยาวนาน“ผมทำงานนี้มาประมาณ11 ปีแล้วครับ อยู่เขตไอกาวะจังหวัดคานางาวะ อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นประมาณ 20 ปีได้แล้วครับ” ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานอย่างอื่นมาบ้างสักที่สองที่อยู่เหมือนกัน ทำเกี่ยวกับรถยนต์ก็มี ทำเกี่ยวกับปั๊มล้อแม็กซ์รถยนต์แต่ว่าไม่ค่อยชอบ ชอบงาน “รื้อบ้าน” มากกว่ามันได้ไปหลาย ๆ ที่ เห็นหลายบรรยากาศที่มันไม่จำเจเหมือนงานในโรงงาน อันนี้มันไปเขตโน้นทีเขตนี้ทีมันก็แปลกตา ได้เห็นได้รู้จักที่รู้จักทางไปด้วยก็เลยทำงานนี้มายาวเลย


ความแตกต่างของ “บ้านญี่ปุ่น” เปรียบเทียบกันกับบ้านไทย
พี่ชาคริต เล่าให้ฟังด้วย ตอนที่มาญี่ปุ่นครั้งแรกตนเองได้ทุนเรียนฟรีของโยมิอุริ ชิมบุน(นสพ.โยมิอุริ ชิมบุน) เพื่อมาศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 3 ปีก่อน แต่ว่าพอเรียนไปแล้วได้สักระยะหนึ่งเริ่มรู้สึกตัวเองเรียนต่อไม่ไหวก็เลยออก หลังจากนั้นก็หางานทำมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้งานเกี่ยวกับการรื้อบ้านรู้สึกว่าถูกใจ ชอบอาชีพนี้ ก็เลยยาวเลย“การรื้อบ้านของคนญี่ปุ่นประมาณ 20 ปี 30 ปีเขาก็รื้อเพื่อสร้างใหม่ครับ บางบ้าน 50 ปี 60 ปีน้อยมากครับมันก็มีส่วนน้อย แต่ส่วนมากเขาจะรื้อบ้านหลังใหม่ ๆ 10 กว่าปีก็เคยรื้อมาครับ ข้างในยังเราเห็นเราโอ้! ยังเสียดายอยู่ สภาพยังโอเคอยู่ได้อีกประมาณ 40-50 ปีก็ยังอยู่ได้แต่ว่าเขาก็ยังรื้อทิ้ง เขาก็สร้างใหม่”ซึ่งเหตุผลในการรื้อบ้านจากที่พอทราบมาก็อย่างเช่นว่า กรณีพ่อแม่ของเขาที่เสียชีวิตไปแล้วอยากจะสร้างใหม่ก็เป็นอีกเคสหนึ่ง และบางทีบ้านเขาอยู่มาแล้วเขาเบื่อเขาก็อยากสร้างอยากทำใหม่ในลักษณะแบบนี้ก็มี“แต่เวลารื้อต้องใช้เครื่องจักรเข้าไปรื้อนะครับ นอกจากเขตที่ว่าอย่างโตเกียวที่รถเข้าไปไม่ได้ถึงใช้มือรื้อทั้งหลัง ถ้ามีพื้นที่กว้าง ๆ นี่คือใช้รถรื้ออย่างเดียวเลย ก็แล้วแต่ว่าบ้านหลังเล็ก หลังใหญ่ จะใช้เวลารื้อเป็นอาทิตย์ก็มี เป็น10 วันก็มี ครึ่งเดือนก็มี”


เวลาเข้าไปทำงานเขาก็จะมีแบบ หรือแปลนบ้านมาให้กับเรา ขณะที่บริษัทเองก็จะบอกมาว่าบ้านอยู่ตรงนี้ ๆ อยู่เขตนี้นะเพื่อที่เราเข้าไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย “อันไหนเขาให้เหลือไว้ อย่างบางทีจะมีต้นไม้เหลืออันนี้ห้ามรื้อห้ามอะไร เราก็รื้อดูตามแบบ แล้วก็พอไปถึงที่หน้างานเราก็ไปตั้งนั่งร้านที่ญี่ปุ่นเขาเรียก “อาชิบะ” ก่อนและก็กางเต็นท์ เพื่อไม่ให้มีฝุ่นไปรบกวนบ้านข้าง ๆ ด้วย จากนั้นจะเข้าไปดูภายในของบ้านทำการรื้อภายในให้มันโล่งไม่มีขยะไม่มีอะไรแล้ว เราก็ทำการรื้อ “รื้อไม้” ใช้รถรื้อครับ รื้อไม้ขยะเราก็แยก ขยะไม้ก็ทิ้งส่วนไม้ พอรื้อบ้านหมดปุ๊บเหลือพื้นปูน พื้นปูนนี่เราก็เอาปูนใส่รถเอาไปทิ้งมีบริษัทรับทิ้งปูนอยู่ครับ จนสุดท้ายเลยคือให้เหลือแต่พื้นดินเปล่า ๆ หรือไม่ก็ยังเหลือ “ต้นไม้ที่เขารัก” เขาปลูกสมมุติวันแต่งงานอย่างเงี้ยเขาปลูกไว้ เขาก็ไม่ให้รื้อเขาจะเก็บเอาไว้อย่างเงี้ยครับ เราก็ไม่รื้อคือแล้วแต่เขาจะกำหนดมา” อย่างพวกโครงสร้างต่าง ๆ ของตัวบ้านไม่ว่าจะเป็น เหล็ก บางทีไม้เป็นเสาสวย ๆ เขาก็ทิ้งหมดเลย ทีมเข้าไปรื้อบ้านจะจัดการให้เขาหมด แต่ว่าพวกเหล็กหรืออลูมิเนียมเราก็สามารถเอาไปขายได้เป็นเงินเข้าบริษัทไปก็มี เพราะว่าพวกนี้มันทำเงินได้แต่ส่วนพวกขยะต้องเสียเงินจ้างโรงขยะเพื่อเข้ามารับเอาไปทิ้ง เขาเอาไปรีไซเคิลใหม่อย่างไม้ เขาก็ไปรีไซเคิลทำพวกกระดาษทิชชู่ ทำกระดาษลัง ทำไม้อัดเพื่อนำมาทำบ้านต่อได้อีก พวกปูนเขาก็มีโรงโม่ทำรีไซเคิลเป็นหินเป็นปูนได้ขายต่อได้อีก พวกบริษัทรับทิ้งขยะเขาก็ขายได้สมมุติเราไปทิ้งปูนเขาก็ไปทำปูนมาขายรีไซเคิลได้ เขตที่ผมอยู่ก็มีหลายเจ้าที่ทำเกี่ยวกับรื้อบ้าน แล้วแต่เขาจะจ้างบริษัทไหนอย่างบริษัทของพวกผมนี่เขาไปเข้ากับบริษัทสร้างบ้านใหม่ ก็จะเข้าร่วมกันเพื่อการทำงานก็คือแยกกันทำมีทีมรื้อบ้าน และทีมสร้างบ้านใหม่ซึ่งเขาก็จะช่วยหางานให้กับเราด้วย” ซึ่งการทำงานรื้อบ้านมันก็จะเหนื่อยหน่อย อย่างบางบริษัทเขาก็จะมีทีมงาน 4-5 คนเพื่อเข้าไปทำ แต่บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ด้วยคนงานมีไม่พอก็ต้องไป 3 คนบ้างช่วยกันทำ“ผมไม่มีทีมครับส่วนมากผมจะ เขาให้ไปช่วยตรงโน้นทีตรงนี้ที เพราะผมทำงานมานานเนาะ”




การทำงานช่างในประเทศญี่ปุ่น ต้องมีใบประกอบอาชีพเฉพาะ
มันก็ได้เห็นว่าในบ้านญี่ปุ่นเขาทำยังไง บ้านเรามันใส่ลิ่มแต่ของญี่ปุ่นส่วนมากเขาจะยิงน็อตกันแผ่นดินไหวพอเราเข้าไปรื้อจะเห็นเลยโครงสร้างข้างในว่ามันเป็นยังไงบ้าง มันก็สนุกไปอีกแบบหนึ่งในการทำงานด้วย แล้วมันก็ท้าทายดีเวลาเราอยากพักก็รู้สึกเป็นส่วนตัวดีไม่ได้เหมือนงานโรงงาน ซึ่งมีการกำหนดเวลาให้เท่านั้นเท่านี้แต่อันนี้คือมันแล้วแต่ตัวเราเลย บางทีเราทำได้มากได้น้อยเราอยากจะพักตอนไหนก็สามารถที่จะทำได้ หรือมีธุระด่วนอะไรก็สามารถไปจัดการแล้วกลับมาทำงานต่อได้ “ในอนาคตก็ถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะทำงานในจุดนี้แหละรับเหมาเอง หรือเป็นเถ้าแก่เองแต่มันก็ต้องมีทุนมีอะไรหลาย ๆ อย่างด้วย ต้องรู้ภาษา(ภาษาญี่ปุ่น) มันก็พอจะงู ๆ ปลา ๆ ได้แต่มันต้องมีเขียนมีโน่นมีนี่ไปสอบเรียนตั้งบริษัทอย่างเงี้ยครับ มันจะยากหน่อย นอกจากมีคนญี่ปุ่นหุ้นด้วยมาทำด้วยลักษณะนี้มันถึงจะทำได้” การจะเปิดบริษัทเองทำงานทางด้านนี้มันก็ต้องไปเข้ากับคนญี่ปุ่นพวกบริษัทหางานต้องหุ้นกับเขา ต้องเข้าร่วมกับเขาเวลาหางานเขาจะหางานพวกนี้มาให้เราได้ พวกนายหน้าพวกสร้างบ้านใหม่เขาจะหางานป้อนให้เรา “แล้วเราก็ต้องไปเรียนเอาใบอิคคิว-นิคคิว ต้องมีใบประกอบอาชีพนี้มันต้องไปสอบมันต้องไปหลายอย่างครับ ฟัง ๆ มามันหลายอย่างอยู่ไม่ใช่เหมือนบ้านเรา มีเงินปึ๊บก็ทำอันนี้ได้เลยปุ๊บปั๊บมันไม่ได้ยากถ้าเป็นบ้านเรา แต่ญี่ปุ่นไม่ได้ต้องมีใบโน่นใบนี่ครับ สมมุติอย่างรื้อบ้านขับจุมโบ้(ขับรถแบ็คโฮล) ก็ต้องมีใบขับรถแบ็คโฮลด้วย แล้วเวลาขึ้นนั่งร้าน(นั่งร้านเขาเรียกอาชิบะ) ก็ต้องมีใบถ้าไม่มีใบก็ขึ้นไม่ได้ อย่างบริษัทรับสร้างบ้านที่เราไปเข้าร่วมกับเขาถ้าเขามาตรวจขอดูใบจากเรา ถ้าไม่มีก็ไม่ได้งานที่ทำอยู่ก็ต้องหยุดทันที มันจะเป็นลักษณะนี้ด้วยมันถึงต้องมีใบ ไม่ใช่ว่าอยากจะทำก็เข้าไปทำได้แล้วทีมงานก็ต้องมีใบประกอบอาชีพอีก เราเคยผ่านอันนี้มาทำงานอันนี้ได้มันต้องมีใบด้วย มีหลายใบอยู่”แล้วก็ต้องมีเป็น “เฉพาะบุคคล” ด้วยบางคนญี่ปุ่นมีเป็น 10-20 ใบในคนเดียวก็มี อย่างเช่นมีใบขับรถแบ็คโฮลแล้วก็จะต้องมีใบหนีบ/หรือคีบของด้วย หรือตัดเหล็กก็ต้องมีใบต่างหากอีก บางทีขับรถแบ็คโฮลมีใบอย่างเดียวก็ไม่ได้ต้องมีใบโน่นใบนี่ อย่างเช่นกรณีของซาโจ้(หัวหน้างาน) เองก็มีใบต่าง ๆ หนาเป็นตั้ง ๆ ที่ต้องพกเตรียมเอาไว้เพื่อให้ตรวจด้วย เพราะถ้าเวลามีอุบัติเหตุเขาเช็กดูคุณมีใบนี้ใบนั้นมั้ยซึ่งมันก็จะเกี่ยวกับ “การประกัน” ด้วยในลักษณะอย่างนี้มันก็มีส่วน




ทำงานอยู่กับบริษัทมานาน รับค่าจ้างรายวันพร้อมสวัสดิการดูแล
“ผมรับเป็นรายวันสมมุติเราหยุดงานเราก็ไม่ได้เงิน ถ้าเป็นหัวหน้างานเขาเรียกว่าโอะยากะตะซึ่งพวกผมก็เป็นลูกมือเขาอีกทีหนึ่ง เป็นช่างเป็นอะไรนี่ครับพนักงานธรรมดาเนี่ยแหละครับ มันแล้วแต่สมมุติงานนี้ไม่มีคนหรือคนไม่พอ บางทีก็ให้เราไปเป็นหัวหน้าก็มีมันแล้วแต่ไซต์งาน บางงานก็เป็นลูกน้องลูกมือเขา บางงานก็ไปเป็นหัวหน้า เพราะบางทีเราเขียนอะไรไม่ได้ก็ต้องมีคนไปด้วยเราก็เป็นคนบอกว่าทำอย่างนี้ ๆ นะ ลักษณะอย่างนี้ในการรับผิดชอบงาน”สวัสดิการต่าง ๆ เขาก็มีให้เราด้วย เวลาเกิดอุบัติเหตุในการทำงานหรืออะไรเขาก็มีประกันให้ก็ได้เงินค่ารักษาค่าชดเชยในช่วงที่เราบาดเจ็บกี่เปอร์เซ็นต์ ๆ บริษัทเขาก็จะคำนวณมาให้พร้อม“แต่ผมมาอยู่กับที่นี่นานก็สนิทกับซาโจ้ (หัวหน้า) แกก็ช่วยเหลือหลายอย่างครับตั้งแต่สมัย พ่อผมยังทำงานอยู่กับแก แต่ซาโจ้แกก็เสียชีวิตแล้วตอนนี้ลูกชายมาเป็นซาโจ้แทนแกก็ดูแลหลายอย่างอยู่ ดีอยู่ครับมีอะไรเดือดร้อนก็ขอร้องแกก็ได้ครับ มันก็เหมือนญาติพี่น้องกันถ้าพูดไปครับ”




ปัจจุบันตั้งรกรากอยู่ญี่ปุ่นแล้ว ได้วีซ่าถาวรมีสิทธิเหมือนคนญี่ปุ่น
อนาคตก็คงจะไม่ได้กลับเพราะมีลูกมีเต้าอยู่นี่แล้ว ซื้อบ้านซื้ออะไรอยู่ที่นี่แล้วก็คงจะไม่ได้กลับบ้าน อนาคตข้างหน้าก็คงอยู่ที่ญี่ปุ่นเนี่ยแหละ“ผมได้วีซ่าเอจูถาวร (วีซ่าพำนักถาวร: เอจู) สามารถอยู่ที่นี่ได้ตลอดชีวิตครับ ซื้อบ้านซื้ออะไรเขาก็มีส่วนถ้าเราทำอยู่กับบริษัทนี้เขาก็ เวลาเราไปกู้ธนาคารอะไรลักษณะอย่างนี้เขาก็จะดูว่าทำงานที่นี่กี่ปี ๆ บริษัทเขาก็จะเป็นคนรับรองให้เราได้เวลาเขาโทรไปเช็กไปถามว่าทำงานที่นี่จริงมั้ย เขาก็จะบอกได้ว่าเราทำงานอยู่ที่นี่จริง ซึ่งมันก็ทำให้การขอกู้ซื้อบ้านผ่านการอนุมัติได้ง่าย” สมมุติถ้าเราอยู่ 4-5 ปีแล้ว ได้วีซ่า 2 ปี 3 ปี พอ 4-5 ปีเราก็สามารถทำเรื่องยื่นวีซ่าเอจูได้ (วีซ่าพำนักถาวร) อยู่ที่การกำหนดระยะเวลา เราจ่ายภาษีพร้อมเมื่อไหร่มันก็จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรแล้ว พอเราได้วีซ่าถาวรแล้วก็ไม่ต้องไปยื่นอะไรอีก “พอเราเสียภาษีแล้ว เราก็เหมือนกับคนญี่ปุ่นนี่แหละครับ เวลาญี่ปุ่นการเสียภาษีของเขาก็เขาจะหัก ทางบริษัทเขาก็จะหักให้เราเรียบร้อยเลยครับ รับเงินเดือนมาพร้อมใบค่าใช้จ่ายให้เรา เราไม่ต้องไปจ่ายเองมันยุ่งยาก ให้บริษัทเขาเคลียร์ให้เราเรียบร้อย”




ฝากถึงคนไทยที่อยากไปทำงานญี่ปุ่น ขอย้ำว่าต้องไปแบบถูกกฎหมายเท่านั้น!
พี่ชาคริต-นายชัยพร บูรณดี ช่างไทยที่ทำงานเกี่ยวกับการรื้อบ้านอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ยังบอกด้วย อายุเราก็เริ่มเยอะแล้วจะกลับไปบ้านเรา เราก็ห่างเหินมานานไม่รู้จะไปทำอะไร เรายังไม่มีทุนถ้ามีทุนก็อยากจะไปทำคือมันมีในหัวสมองอยู่ แต่มันก็ไม่แน่ดวงคนเรานะ อาจจะถูกล็อตเตอรี่ขึ้นมาหลายโอ๊คที่ญี่ปุ่นแล้วกลับไปอยู่ที่เมืองไทยเลยก็ได้“อยากคนไทยที่จะมาญี่ปุ่นนะครับ อย่าไปเชื่อ! ที่ว่าเขาส่งมาทำงานมีงานมีอะไรอย่าไปเชื่อเด็ดขาดนะครับ เพราะพวกนี้เขาก็มีทีมงานอยู่ที่นี่อยู่แล้วเวลาเขาไปส่งมันก็ได้งานจริงวันสองสามวัน หรือสิบวัน เขาเอาชุดใหม่มาแล้วเขาก็บอกว่าไม่มีงาน เขาโกหกไอ้พวกนี้ก็ถูกลอยแพ พวกชุดใหม่มาเขาก็รับเงิน กลายเป็น “ผีน้อย” ลำบากอยู่ เจ็บป่วยขึ้นมารักษาอะไรยากลำบาก เป็นภาระของสถานทูตไทยและคนไทยที่ญี่ปุ่นนี่อีกหลายอย่าง สงสารก็สงสารอยากพาทำงานด้วยมันก็บางครั้งมันทำไม่ได้ เขาไม่รับ เขาไม่เอาทุกวันนี้เขาเขี้ยว! เขี้ยวกว่าสมัยก่อนเยอะกฎหมายเขาแรง ถ้ารับทำงานเขาปรับเป็นหลายร้อยใบอย่างเงี้ยครับ เขาเอาจริง ก็เลยมีแต่ลักษณะงานเกษตรทั้งนั้นแหละอยู่แถวนอก ๆ ที่ว่าเขายังเอาอยู่แต่ว่า ยากมากไม่ค่อยมีหรอกครับปัจจุบันยาก อย่ามาเลยดีกว่า มาอย่างถูกกฎหมายถูกต้องดีกว่า”




โอกาสสำหรับการมี “ชีวิตใหม่” ที่เกิดขึ้นได้จากโลกของการทำงาน การไปแสวงโชคในต่างแดนเพื่อที่จะมีโอกาสใหม่ ๆ ให้กับชีวิต บางครั้งมันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีเสมอไปและถึงแม้ว่าในที่สุดก็โชคดีขึ้นมาได้ แต่ทว่าก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากและใช้ใจที่อุตสาหะพยายามอยู่ไม่น้อย เพื่อจะรอผลสำเร็จที่หอมหวานตามมา จากกรณีของพี่ชาคริตก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นถึงภาพจากนั้นกว่าจะถึงวันนี้ได้อย่างชัดเจน แรงงานไทยคนหนึ่งที่ฝ่าฟันมากับอาชีพช่างรับจ้างรื้อบ้านในญี่ปุ่นอยู่มา20 ปีกว่าจะถึงวันนี้ ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ชีวิตในต่างแดนจนสามารถพิชิต “ความเป็นอยู่” จากแรงงานต่างถิ่นสู่พลเมืองที่มีสิทธิเท่าเทียมกันกับคนญี่ปุ่นในที่สุดได้

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น