xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมจี้เอาผิด อปท.เพิ่ม หลังอุตฯ ชลบุรี ยึดเครื่องจักรโรงงานรีไซเคิลทุนจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมจี้เอาผิดเพิ่มกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เข้าจับกุมและยึดเครื่องจักรรีไซเคิลโรงงานทุนจีนที่อำเภอบ้านบึง


รายงานพิเศษ

จากข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ต่อ โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อสร้างอาคารกว่า 30 หลัง บนเนื้อที่ 88 ไร่ ใน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งทำให้ทั้งชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน อย่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี เข้าร่วมตรวจสอบเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ในอาคารที่เขียนว่า A6 และพบซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากกว่าร้อยตันที่จัดเป็นกากของเสียอันตรายพร้อมเครื่องจักรที่ใช้ในการรีไซเคิลอยู่ภายในอาคารทั้งที่ไม่ใบอนุญาตใดๆเลย รวมไปถึงการตรวจสอบพบว่า ในพื้นที่ทั้งหมด 88 ไร่ที่มีสภาพคล้ายโรงงาน มีเพียงโซน B ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆเท่านั้น ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับกับการบด ย่อย หลอมพลาสติก จำนวน 5 ใบ และมีอีก 1 ใบอนุญาต ที่แจ้งขอประกอบกิจการคัดแยกของเสียที่ไม่เป็นอันตราย แต่ก็ยังไม่เคยแจ้งขอประกอบการ ไม่เคยถูกตรวจสอบเครื่องจักร จนสรุปได้ว่า พื้นที่ทุกตารางเมตรของอาคารทั้งหมดกว่า 30 หลัง เป็นการกระทำความผิดฐาน “ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และครอบครองวัตถุอันตราย”

อ่านประกอบ : “รัฐอิสระคลองกิ่ว” บ้านบึง-ชลบุรี ซากอิเล็กทรอนิกส์ใต้เงาทุนจีน 

บังคับใช้กฎหมายไม่ได้?? … ปล่อยโรงงานทุนจีนบ้านบึง ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระ ทำผิดกฎหมายทุกตารางเมตร 

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ปล่อยให้โรงงานแห่งนี้ มีสภาพราวกับเป็น “รัฐอิสระ” ยังคงตั้งอยู่และยังคงมีคนงานดำเนินงานอยู่ในโรงงานราวกับไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ... ได้อย่างไร?






จนวันที่ 7 มีนาคม 2567 มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญ โดยในเพจ “สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี” รายงานว่า นางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส) ,สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 (ชลบุรี) , ปลัดอำเภอบ้านบึง ,เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกิ่ว และผู้ร้องเรียนลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัทประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งตั้งในพื้นหมู่ที่ 4 ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

จุดแรก ได้ทำการผูกมัดประทับตราเครื่องจักรเพื่อมิให้เครื่องจักรทำงานได้ในระหว่างการปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในจุดที่เรียกว่า อาคาร A6 ที่พบซากอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 6 เครื่อง และอีกจุดที่อาคาร D1 จำนวน 11 เครื่อง โดยอาศัยอำนาจตามตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และฉบับที่2 (พ.ศ.2562)

ส่วนในอาคารที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ยังไม่ได้แจ้งขอประกอบการ คือจุดที่เรียกว่า อาคาร B1และ B2 พบการฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง (สั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว) โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีจะออกคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคสาม คือ เพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

ส่วนอาคารที่เรียกว่า A7 พบการครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน จึงมีคำสั่งตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ให้ต้องจัดการของเสียดังกล่าวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป


ข้อความในเพจสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ยังระบุว่าได้ “ร่วมจับกุมผู้กระทำความผิด” ในระหว่างการลงตรวจสอบครั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 รวมถึงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป






นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม จี้เอาผิดเพิ่ม “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความที่ทำคดีการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายที่โรงงานแว็กซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จ.ราชบุรี และโรงงานวินโพรเสส จ.ระยอง จนทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบชนะคดีทั้ง 2 จุด ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีโรงงานทุนจีนลักลอบขนย้าย ครอบครอง และรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบุถึงประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากอำนาจของอุตสาหกรรมจังหวัดที่ลงพื้นที่ดำเนินการไปแล้ว ว่ายังต้องตั้งคำถามกลับไปยังหน่วยงานที่สำคัญที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพราะการที่โรงงานสามารถก่อสร้างอาคารถึงกว่า 30 หลัง ขุดบ่อน้ำ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญมากมายให้กับชุมชนมา 2-3 ปี ตั้งแต่เริ่มมีข้อร้องเรียนเมื่อเดือนเมษายน ปี 2565 เป็นสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องรู้เห็นและระงับยับยั้ง

“มีการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นมากมาย มีคนงาน มีการขุดบ่อขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่หลายจุด นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับอนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครับ หรือถ้าทางโรงงานไม่ได้ขออนุญาต ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นๆก็ต้องเข้าไปหยุดการก่อสร้างตั้งแต่ต้น จะอ้างว่าไม่รับรู้ไม่ได้ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

“นอกจากอำนาจในการอนุญาตหรือระงับการก่อสร้าง ในกรณีนี้เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังมีอำนาจระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญอันมาจากการปล่อยมลพิษไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองจากโรงงาน หรือการจัดการน้ำเสียที่เห็นภาพชัดเจนว่าร่องน้ำถูกขุดให้น้ำจากโรงงานไหลลงมาปะปนในสิ่งแวดล้อม และที่เห็นการละเลยอย่างชัดเจน คือ โรงงานแห่งนี้มีการเคลื่อนย้าย ครอบครอง และดำเนินการที่มีวัตถุอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็อยู่ในอำนาจของท้องถิ่นที่จะสั่งให้หยุดได้ทันทีเช่นกัน เพราะ ...การประกอบกิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะต้องผ่านการอนุญาตจากองค์กรปกครองท้องถิ่นก่อนด้วย”


“แต่เท่าที่ติดตามข้อมูลข่าวสารมาตลอด ซึ่งรวมไปถึงมาตรการต่างๆที่อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีดำเนินการไปแล้ว ยังไม่ปรากฎว่า มีการกล่าวโทษไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่นี้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การตรวจสอบและการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการที่โรงงานทำผิดกฎหมายทุกข้อ แต่ยังสามารถเปิดท้าทายอำนาจรัฐอยู่ได้เช่นนี้ จำเป็นจะต้องสืบสวนไปให้ถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง” ทนายชำนัญ นำเสนอแนวทางที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรทำต่อไป


ก่อนหน้านี้ บุคคลที่อ้างว่าเป็น “ล่าม” ของชาวจีนที่มีชื่อระบุเป็นกรรมการผู้จัดการโรงงานทั้ง 3 บริษัท คือ ชุนฟุงฮง ,ไทฟุง 2020 และ อิฟง เคยอ้างว่า ซื้อซากอิเล็กทรอนิกส์ต่อมาจากโรงงาน 2 แห่งที่ จ.ชลบุรี และระยอง พร้อมระบุชื่อโรงงานมาด้วย ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ทั้ง 2 ชื่อ เป็นโรงงานหลอมเหล็ก ไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับซากอิเล็กทรอนิกส์ หากนำของเสียมาจากโรงงานทั้ง 2 แห่งนี้ จะต้องเป็น “ฝุ่น” ที่เหลือจากการหลอมเหล็ก ไม่ใช่ซากอิเล็กทรอนิกส์

จากข้อเท็จจริงนี้ จึงมีหลายประเด็นที่ทนายชำนัญ เสนอให้ต้องสืบสวนขยายผล

ประเด็นแรก - หาช่องทางการนำเข้า คือ การสืบหาต้นทางของซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกขนย้ายมารีไซเคิลที่โรงงานนี้ ว่าเป็นวัสดุที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศหรือไม่ สำแดงที่ด่านศุลกากรว่าอะไร มีบริษัทใดเป็นผู้นำเข้า

ภาพ : สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี

ทองแดงที่ถูกอัดเป็นก้อน เครียมส่งออกกลับไป
ประเด็นที่สอง - หาช่องทางการส่งออกกลับไป ช่องทางสำคัญที่อาจทำให้สืบสวนหาตัวการใหญ่ได้ นั่นคือ การพบ “ทองแดง” ที่รีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ถูกหลอมเป็นก้อนๆจำนวนมาก เพื่อรอการส่งออกไปขายที่ประเทศจีน ซึ่งหมายความว่า ในกระบวนการส่งออกกลับไปเมื่อเป็นสินค้าที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ก็ต้องมีผู้รับฝาก มีสถานที่พักสินค้า มีบริษัทที่รับส่งออกกลับไปผ่านตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ประเด็นที่สาม - ใช้กฎหมายฟอกเงิน คือ การตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของการซื้อและขายสินค้าที่ไม่มีที่มาที่ไปอย่างซากอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบการฟอกเงิน

“ในเมื่อซากอิเล็กทรอนิกส์ ได้มาจากไหนไม่รู้ ไปไหนต่อก็ไม่รู้ แล้วโรงงานทุนจีนกลุ่มนี้ไปนำเงินจากที่ไหนมาจ่าย ผมมีข้อสังเกตว่า มันอาจจะไปเกี่ยวข้องกับเงินสีเทาหรือไม่ ดังนั้นหากกฎฆมายไทย ต้องการจะป้องกันหรือปราบปรามขบวนการนี้ให้ได้ ก็ต้องตรวจสอบการฟอกเงินด้วย เพราะในมูลฐานความผิดของกฎหมายฟอกเงินมีประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยถูกนำมาใช้กับขบวนการหาประโยชน์จากกากของเสียอันตรายเลย เคยถูกนำไปใช้แต่ในเรื่องของการล่าสัตว์”

“ผมเชื่อว่า รัฐน่าจะตรวจสอบขบวนการนี้ในฐานความผิดการฟอกเงินได้ เพราะนี่คือลักลอบเอาซากอิเล็กทรอนิกส์จากที่อื่นมารีไซเคิลในประเทศไทย นำของที่ยังใช้ได้ส่งกลับไปขายในประเทศของเขาเอง และทิ้งกากสุดท้ายที่เป็นมลพิษไว้ให้คนไทยรับเคราะห์กรรม แบบนี้ย่อมสามารถเป็นหนึ่งในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติแน่นอน”

ทนายชำนัญ เสนอโจทย์ใหญ่ ให้หน่วยงานราชการของไทยรับไปพิจารณา.
กำลังโหลดความคิดเห็น